บทที่ 4
ความเป็นมาของมาตรฐาน ISO 26000 และความรับผิดชอบต่อสังคม (Background: ISO 26000 and Social Responsibility)
ตอนที่ 2: ความเป็นมาในภาคสอง ปี 2005-ปัจจุบัน
4. ภาคสอง (ปี 2005 - ปัจจุบัน): การจัดประชุมคณะทำงาน WG/SR เพื่อทำการยกร่างมาตรฐาน ISO 26000 (International work meeting for ISO 26000 - Guidance)
4.1 วันที่ 7 - 11 มีนาคม 2005 – การประชุมคณะทำงาน WG/SR ครั้งแรก ที่ ซาลวาดอร์ บาเฮีย ประเทศบราซิล (First Plenary Meeting at Salvador , Bahia , Brazil )
การประชุม WG/SR ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดจำนวน 300 ราย โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญจำนวน 225 ท่าน ซึ่งเป็นตัวแทนมาจาก 43 ประเทศที่มีสถานภาพเป็นสมาชิกประเภท ISO member bodies (และยังครอบคลุมถึงจำนวน 21 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา) ร่วมกับผู้เข้าประชุมที่มาจากองค์การประเภทต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็น “ผู้ติดต่อประสานงาน (Liaison)” เช่น องค์การระดับนานาชาติ คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และคณะกรรมการอื่นๆ ของ ISO เป็นต้น สำหรับรายละเอียดองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับจำนวนผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด ซึ่งจำแนกออกไปตามแต่ละประเภทของกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ นั้น ได้แสดงไว้ให้เห็นผลอย่างชัดเจนแล้วในตารางข้างล่างนี้ ประกอบร่วมด้วย
ลำดับที่ | ประเภทของกลุ่ม Stakeholders | จำนวนผู้เข้าร่วมประชุม และ (%) | หมายเหตุ |
1. | ภาคอุตสาหกรรม · ธุรกิจ · สมาคมธุรกิจ · อื่นๆ | 52 (25%) 16 28 8 | · ไม่มีการระบุว่า มาจากพื้นที่หรือภูมิภาคใดของโลก |
2. | ภาครัฐบาล · ระดับภูมิภาค · ระดับประเทศ · ระดับท้องถิ่น/ ชุมชน | 31 (15%) 4 24 3 | |
3. | ผู้บริโภค | 22 (10%) | |
4. | แรงงาน | 14 (7%) | |
5. | NGO | 32 (15%) | |
6. | กลุ่ม Stakeholders อื่นๆ · นักวิชาการ · ภาคการเงิน · อื่นๆ | 45 (21%) 16 5 24 | |
7. | หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำมาตรฐาน | 14 (7%) | |
รวมทั้งหมด | 210 (100%) |
1). เพื่อต้องการรับทราบถึงระดับความคิดเห็น หรือความเห็นพ้องต้องกันร่วมด้วยต่อการกำหนดโครงสร้างการทำงาน รวมถึงเนื้อหา และบริบทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน SR
2). ต้องการกำหนด และลงความเห็นที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของ WG และ SG
3). มีการพัฒนาขั้นตอนของกระบวนการปฏิบัติงาน (Working procrdure) ที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างเป็นมาตรฐาน SR ต่อไปตามลำดับ
4). มีการกำหนด และมอบหมายสภาวะผู้นำให้กับผู้ปฏิบัติงานในระดับ SG ต่อไป
· สำหรับผลลัพธ์ที่ได้รับขึ้นมาเมื่อภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมครั้งนี้แล้วนั้น มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้ 12/
1). การจัดตั้งจำนวน 3 “กลุ่มผู้ปฏิบัติภารกิจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Task Groups; TG)” ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่รองรับสำหรับการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ต่อไป โดยประกอบไปด้วยรายละเอียด ดังนี้
- TG 1: การหาเงินทุน และการผูกมัดเข้ากับกลุ่ม Stakeholders (Funding and stakeholders engagement)
สำหรับวัตถุประสงค์ก็เพื่อต้องการค้นหากลุ่ม Stakeholders หลักทั้งหลาย ให้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมแต่ละครั้ง พร้อมกับมีการระดมเงินทุนเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมให้มากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะต้องมาจากกลุ่มที่ค่อนข้างขาดแคลนกำลังเงินต่อการเข้ามามีส่วนร่วมดังกล่าว ซึ่งปรากฏเป็นประเทศกำลังพัฒนา และภาคผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่
- TG 2: การสื่อสาร (Communication)
สำหรับวัตถุประสงค์ก็เพื่อต้องการสื่อสารรายละเอียดของข้อมูล และสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน WG ต่างๆ โดยมุ่งเน้นในเรื่องของความโปร่งใส และวิธีการเปิดเผยข้อมูลออกมาต่อสาธารณชนภายนอกให้ได้รับทราบผลอย่างถูกต้อง ครบถ้วน/ สมบูรณ์อีกด้วย
- TG 3: วิธีการปฏิบัติงาน (Operational procedures)
สำหรับวัตถุประสงค์ก็เพื่อปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือพัฒนาแนวทางวิธีการปฏิบัติงานขึ้นมาใหม่สำหรับกระบวนการปฏิบัติงานของ WG อยู่โดยตรง
2). การจัดตั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติภารกิจ (เป็นการชั่วคราว) สำหรับการกำหนดรายละเอียดของมาตรฐาน (Standard-setting interim task groups) เพื่อทำหน้าที่ช่วยค้นหา และรวบรวมประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของกลุ่ม TG โดยตรง และทำการแนะนำให้รายละเอียดของประเด็นที่สำคัญต่างๆ เหล่านี้ ต้องแสดงความเกี่ยวพัน หรือสามารถสะท้อนลงไปเป็นส่วนหนึ่งของรายละเอียดอยู่ภายในมาตรฐานฉบับร่าง (Design specification) ได้อย่างไรในขั้นตอนต่อไป โดยประกอบไปด้วยกลุ่มภารกิจที่ควรสนใจ คือ
- Interim TG 4 (ITG 4) ทำการศึกษารายละเอียดของเรื่องการระบุ/ ชี้บ่ง Stakeholders/ การแสดงผลของความผูกมัด/ การสื่อสาร
- Interim TG 5 (ITG 5) ทำการศึกษารายละเอียดของเนื้อหาและบริบทหลักของ SR ประเด็น คำจำกัดความ และหลักการต่างๆ ที่แสดงความเกี่ยวข้องอยู่โดยตรงกับองค์การและสังคม
- Interim TG 6 (ITG 6) ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ทราบถึงรายละเอียดของการเป็น “ข้อแนะนำ (Guidance)” ที่เหมาะสมสำหรับทุกองค์การที่จะต้องเข้าใจ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเนื้อหาหลักของ SR เหล่านี้ ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมต่อไป รวมถึงการเป็นข้อแนะนำที่เหมาะสมสำหรับองค์การบางแห่งที่มีคุณลักษณะที่จำเพาะเจาะจงบางประการได้อีกด้วย
3). การจัดตั้งประธานที่ปรึกษาสำหรับกลุ่ม AG ต่างๆ ที่เรียกว่า Chairman Advisory Group (CAG) ขึ้นมารองรับ เพื่อการปฏิบัติงานในขั้นตอนต่อไป โดยที่ CAG ประกอบไปด้วยประธานที่มาจากกลุ่ม WG แต่ละกลุ่ม เลขาธิการ ผู้เข้าประชุมร่วมของ TG (Task Group Convener) ตัวแทนจำนวน 2 รายที่มาจากกลุ่ม Stakeholders แต่ละประเภทในลักษณะที่เป็น Twin arrangement ซึ่งถูกคัดเลือกขึ้นมาจากกลุ่ม Stakeholders แต่ละประเภทของตนเอง (โดยที่ตัวแทนรายหนึ่งต้องถูกคัดเลือกมาจากประเทศพัฒนา และอีกรายหนึ่งของตัวแทนที่เหลือจะถูกคัดเลือกมาจากประเทศกำลังพัฒนา) และตัวแทนของ ILO เป็นต้น สำหรับบทบาท และหน้าที่ของ CAG ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการรักษาสภาพสมดุลร่วมกันในเรื่องความแตกต่างทางเพศ และลักษณะการกระจายตัวที่แสดงความแตกต่างออกไปตามขอบเขตลักษณะทางภูมิศาสตร์ของสมาชิก WG ต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการยกร่างมาตรฐานขึ้นมาในแต่ละกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น นอกจากนี้บทบาทอื่นๆ ที่กระทำร่วมด้วยของ CAG ก็คือ การทำหน้าที่ช่วยเหลือต่อการแสดงความเป็นผู้นำของ WG ต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินงานเป็นไปได้อย่างสอดคล้องตรงตามรายละเอียดประเด็น และขอบเขตด้านยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ และยังเป็นการช่วยเหลือ เพื่อก่อให้เกิดความั่นใจขึ้นมาสำหรับสภาพที่สมดุลของการปรากฏเป็นตัวแทนในระหว่างกลุ่มต่างๆ ของ WG อีกด้วย
· เมื่อสรุปถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในภาพรวมทั้งหมด และรายละเอียดของข้อขัดแย้งบางประการที่ยังคงพบเห็นอยู่ภายหลังเมื่อสิ้นสุดการประชุมครั้งนี้แล้ว ก็คือ
- สืบเนื่องจากเป็นการประชุมครั้งแรก ประกอบกับขั้นตอนในการประชุมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก และมีความสลับซับซ้อนเกิดขึ้นมาก ทั้งในรายละเอียดเนื้อหา และประเด็นต่างๆ ที่ต้องมีการถกเถียง/ อภิปรายผลร่วมกันเป็นขอบเขตที่กว้างขวางมาก ประกอบกับความเป็นจริงที่ว่า ผู้เข้าร่วมประชุมหลายราย ส่วนใหญ่เป็นผู้มาใหม่สำหรับการสร้างความคุ้นเคยตามแนวทางของการประชุม ISO ที่ผ่านมาเช่นในอดีต จึงก่อให้เกิดผลความยุ่งยาก และการไม่เข้าใจในรายละเอียดขั้นตอนของการปฏิบัติอยู่มากพอสมควร และพบเห็นออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม
- นอกจากนี้ยังมีการอภิปราย/ ถกเถียงรายละเอียดบางประเด็นของ SR ที่ต้องถูกบรรจุเข้าไปอยู่ภายในเนื้อหาของมาตรฐาน ในบางหัวข้อที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่องสิทธิด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่ก็ยังคงไม่มีการทำฉันทามติ เพื่อแสดงความเห็นด้วยต่อการกำหนดรายละเอียดสำหรับคุณลักษณะของมาตรฐานออกมาเป็นฉบับร่างที่เรียกว่า Draft Design Specification ภายหลังเมื่อสิ้นสุดผลการประชุมครั้งนี้ แต่ถือว่า ก็เป็นรากฐานประการหนึ่งแล้วสำหรับการปฏิบัติงานของ ISO/WG/SR ที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมเพิ่มมากยิ่งขึ้นสำหรับการประชุมในครั้งต่อไป
4.2 วันที่ 26-30 กันยายน 2005 – การประชุมคณะทำงาน WG/SR ครั้งที่สอง ที่ กรุงเทพฯ ประเทศไทย (Second Plenary Meeting at Bangkok , Thailand )
การประชุมคณะทำงาน WG/SR ครั้งนี้ มีเจ้าภาพร่วม 2 ฝ่าย คือ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TISI) และคณะกรรมการมาตรฐานอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japanese Industrial Standards Committee; JITC) โดยวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อต้องการก้าวเข้าไปสู่ความเป็นมาตรฐานอีกขั้นตอนหนึ่งสำหรับการยกร่างรายละเอียด และนื้อหาของมาตรฐาน ISO 26000 ออกมาให้เห็นอย่างเป็นทางการได้ต่อไป
ในการประชุมมีจำนวนผู้เข้าร่วมที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ รวมกันประมาณ 350 ราย โดยเป็นตัวแทนมาจากสมาชิกของ ISO ประเทศต่างๆ จำนวน 54 ประเทศ (45 ประเทศมีสภาพเป็นตัวแทนของ ISO member bodies โดยตรง และอีก 9 ประเทศทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น) นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมยังครอบคลุม รวมไปถึงตัวแทนที่มาจากหน่วยงาน/ องค์การระดับนานาชาติอีก 24 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็น Liaison โดยตรง และผลที่เป็นน่าสนใจก็คือ มีผู้เข้าร่วมบางรายมาจากหน่วยงาน/ องค์การที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หรือแสดงความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้าน SR อยู่โดยตรง เช่น United Nation Global Compact; ILO; United Nations Environmental Program (UNEP); United Nation for Industrial Development Organization (UNIDO); WHO; Organization for Economic Cooperation and Development (OECD); Global Reporting Initiatives; Social Accountability (SA 8000); ISO 14000 (Technical Committee 207); Accountability (AA 10000); International Social and Environmental Accreditation and Labeling Alliance (ISEAL); International Chamber of Commerce และ International Organization of Employee เป็นต้น
จากรายละเอียดในเบื้องต้น จะพบว่า จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะบุคคลเหล่านี้ จะปรากฏฐานะในการเป็น “ผู้เล่น (Players)” ที่สำคัญ ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือทำให้กระบวนการยกร่างมาตรฐาน สามารถดำเนินงานเป็นไปได้อย่างเป็นประโยชน์ที่ดี หรือนำไปสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติงานในระดับนานาชาติได้ต่อไปตามลำดับ นอกจากนี้เท่าที่เห็นผลคุณค่าออกมาได้อย่างชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือ จากรายงานของ ISO ได้ระบุว่า นัยสำคัญของจำนวนผู้เข้าร่วมที่มาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มีอยู่ในระดับที่สูงใกล้เคียงกับจำนวนผู้เข้าร่วมที่มาจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งสามารถชี้บ่ง หรือยืนยันผลความสำเร็จที่ได้รับ มีสภาพที่ดีเพิ่มขึ้นมากกว่าการประชุมครั้งแรกที่ผ่านมา โดยปรากฏมีจำนวนประเทศที่มาจากกลุ่มกำลังพัฒนาเพียง 33 ประเทศเท่านั้น
· สำหรับรายละเอียดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระยะภายหลังเมื่อสิ้นสุดการประชุมครั้งนี้แล้ว มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ดังนี้ 13/
1). การอนุมัติ และเห็นชอบด้วยในรายละเอียดของการกำหนด “โครงร่างของมาตรฐาน ISO 26000 (Structure of Design Specification)” โดยที่คณะทำงาน WG/SR ได้กำหนดเนื้อหาที่สมควรจะต้องบรรจุไว้อยู่ภายในมาตรฐาน ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างที่สำคัญ ดังนี้
หัวข้อกำหนด (Clause No.) | เนื้อหา/ รายละเอียดที่เกี่ยวข้อง** (Contents) |
0 | บทนำ (Introduction) |
1 | ขอบเขต (Scope) |
2 | แหล่งอ้างอิงที่เป็นบรรทัดฐาน (Normative) |
3 | คำศัพท์ และคำจำกัดความ (Terms and definitions) |
4 | บริบทของ SR ที่องค์การทุกแห่งควรปฏิบัติ (The SR context in which all organizations operate) |
5 | หลักการ SR ที่เกี่ยวข้องกับองค์การ (SR principles to organizations) |
6 | ข้อแนะนำที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลัก/ ประเด็นต่างๆ ของ SR (Guidance on core SR subjects/ issues) |
7 | ข้อแนะนำสำหรับองค์การในการจัดตั้ง SR ขึ้นมา (Guidance for organization on SR implementation) |
ภาคผนวก (Annex) | |
บรรณานุกรม (Bibliography) |
2). การอนุมัติ และเห็นชอบด้วยสำหรับการกำหนดโครงสร้างของกลุ่ม TG ออกมาอย่างชัดเจน รวมถึงผู้ปฏิบัติงานที่ต้องรับผิดชอบภายใต้สภาวะผู้นำ (Leadership arrangement) เพื่อต้องการก่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า การสร้างสภาวะผู้นำเช่นนั้นขึ้นมาในแต่ละกลุ่มของ TG จะช่วยรักษาระดับความสมดุลร่วมกันจาก Stakeholders ต่างๆ ที่เข้าร่วมในการประชุม ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือยังมีความเท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งปรากฏเป็นตัวกำหนดที่ชัดเจน นอกจากนี้การปฏิบัติงานยกร่างมาตรฐานภายใต้หัวข้อกำหนดต่างๆ จะอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกลุ่ม TG ที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรง ดังนี้
· TG 4: ทำการพิจารณารายละเอียดของ
- “หัวข้อกำหนดที่ 1 (Clause 1)” (อธิบายถึงขอบเขตและคำจำกัดความ ซึ่งครอบคลุมรายละเอียดเนื้อหาของมาตรฐาน และข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์จากมาตรฐาน)
- “หัวข้อกำหนดที่ 4 (Clause 4)” (อธิบายถึงบริบทของ SR ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และแนวความคิดพื้นฐานที่สำคัญบางประการ) และ
- “หัวข้อกำหนดที่ 5 (Clause 5)” (ข้อแนะนำสำหรับหลักการ SR ที่เกี่ยวข้องกับองค์การ)
· TG 5: ทำการพิจารณารายละเอียดของ “หัวข้อกำหนดที่ 6 (Clause 6)” (ข้อแนะนำสำหรับเนื้อหาหลัก และประเด็นต่างๆ ของ SR) และ
· TG 6: ทำการพิจารณารายละเอียดของ “หัวข้อกำหนดที่ 7 (Clause 7)” (ข้อแนะนำในทางปฏิบัติสำหรับการจัดตั้งหลักการและประเด็นต่างๆ ของ SR เหล่านี้ขึ้นมาภายในองค์การ รวมถึงการรายงาน และสื่อสารผลจากการปฏิบัติงาน SR)
3). เลขาธิการ และผู้นำของ TG ทั้ง 3 กลุ่ม (TG 4, 5, 6) ได้ตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการต่อการกำหนดกรอบระยะเวลาสำหรับการวาง “แผนงานของการยกร่างมาตรฐาน (Draft Project Plan)” ออกมา โดยมีรายละเอียดที่ชัดเจน ดังนี้
- จัดพิมพ์และเผยแพร่ “ร่างมาตรฐานฉบับแรก (Working Draft; WD1)” ออกมาภายในมีนาคม 2006 และต้องจัดส่งไปให้สมาชิกภายในกลุ่ม TG ต่างๆ ทำการแนะนำหรือแก้ไขรายละเอียดต่อไป และพร้อมที่จะให้มีการอภิปราย/ ถกเถียงเพิ่มเติมในเนื้อหาข้อแนะนำเหล่านี้ ในการประชุม ISO/WG/SR ครั้งต่อไปที่ ลิสบอน ประเทศโปรตุเกศ ในวันที่ 15 - 19 พฤษภาคม 2006
- จัดพิมพ์และเผยแพร่ “ร่างมาตรฐานฉบับสุดท้าย (Final Draft)” ออกมาในเดือนกันยายน 2008
- รวมถึงมีความคาดหวังต่อการจัดพิมพ์ และเผยแพร่มาตรฐานฉบับสมบูรณ์ที่เรียกว่า “มาตรฐานระดับนานาชาติ (International Standard; IS)” ออกมาได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2009 เป็นอย่างช้า
4). นอกเหนือจากการกำหนดขั้นตอนพื้นฐานของการปฏิบัติงานสำหรับการยกร่างมาตรฐาน ISO 26000 ขึ้นมาอย่างชัดเจนแล้วนั้น คณะทำงาน WG/SR ยังได้กำหนดช่องทางของการสื่อสารสำหรับผลที่เกิดขึ้นมาจากการประชุมครั้งนี้ เพื่อต้องการให้สาธารณชนภายนอก ผู้สนใจ และกลุ่ม Stakeholders ที่เกี่ยวข้องโดยตรงทั้งหลาย ได้รับทราบถึงข้อมูล และสารสนเทศได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะรายละเอียดเท่าที่พบเห็นเป็นหลักฐานได้เป็นอย่างดีก็คือ การเปิดช่องทางของการสื่อสารผ่านสื่อ Internet ของ ISO/SR Web site ที่ http: www.iso.org/SR
5). สำหรับรายละเอียดความคิดเห็น และข้อโต้แย้งบางประการที่ได้รับขึ้นมาภายหลังเมื่อสิ้นสุดการประชุมครั้งนี้แล้ว อาจกล่าวได้ว่า โดยทั่วไปถึงแม้ว่า จะประสบความสำเร็จต่อการอนุมัติรายละเอียดของการยกร่างมาตรฐานที่เรีกว่า Design specification ออกมาได้อย่างครบถ้วน/ สมบูรณ์ โดยเฉพาะสามารถระบุถึงหัวข้อกำหนดหลักต่างๆ (Main clause) ที่สำคัญสำหรับ “ผู้ยกร่าง หรือผู้เชี่ยวชาญ (Drafter)” ทั้งหลาย จะได้พิจารณารายละเอียดเหล่านี้ให้ลึกซึ้งลงไป จนปรากฏไปเป็นเนื้อหาหลักอยู่ภายในมาตรฐานฉบับสมบูรณ์ขึ้นมาได้ในระยะเวลาต่อไปก็ตาม แต่ยังคงมีข้อขัดข้องบางประการ ซึ่งถือว่า เป็นภารกิจของ TG กลุ่มต่างๆ ที่จะต้องพิจารณาต่อไปร่วมด้วย ได้แก่ 14/
· จะต้องมีการปรับปรุงหรือยกระดับ “ความสมดุลของการเข้ามามีส่วนร่วมสำหรับกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ (Balanced-stakeholders participation)” ให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไรสำหรับการประชุม WG/SR ในครั้งหน้า เพราะเหตุผลของเรื่องเช่นนี้ จะแสดงความเกี่ยวพันอยู่กับความสามารถในการค้นหาแหล่งเงินทุนเข้ามาสนับสนุนต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ได้เข้ามาแสดงบทบาท หรือมีส่วนร่วมต่อการประชุมเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในภาคของ NGO ผู้บริโภค และภาคแรงาน เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดของการสนับสนุนเช่นนี้ คงต้องผ่านช่องทางการปฏิบัติงานของกลุ่ม TG 1 ที่จะต้องเข้ามาดูแล และนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เห็นผลออกมาได้อย่างชัดเจนต่อไป
· ในเรื่องของ “หลักการ SR” ตามหัวข้อกำหนดหลักที่ 5 นั้น ควรมีการกำหนดขอบเขต และรายละเอียดที่เหมาะสมเป็นเช่นใด ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจสำหรับการประชุมครั้งนี้เพียงครั้งเดียว ที่จะสามารถกำหนดคำจำกัดความ/ ความหมายพื้นฐานของ SR ออกมาได้เป็นสากลที่เกิดการยอมรับกันโดยทั่วไปตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามขอบเขตและรายละเอียดที่ได้รับออกมาจากการประชุมครั้งนี้ ระบุอย่างเด่นชัดว่า SR นั้น ควรเป็นเรื่อง/ ประเด็นต่างๆ ที่สามารถทำความเข้าใจได้โดยง่ายสำหรับองค์การที่ต้องการจะบูรณาการทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจให้เข้าไปสู่การสร้างคุณค่าเพิ่ม การยกระดับวัฒนธรรม กระบวนการตัดสินใจ การกำหนดกลยุทธ์ และวิธีการปฏิบัติ โดยมีการมุ่งเน้นผลต่อการจัดตั้งวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดขึ้นมาภายในองค์การแห่งนั้น ทั้งนี้เพื่อต้องการสร้างความมั่งคั่ง และปรับปรุงความกินดีอยู่ดีให้เกิดขึ้นภายในสังคมเป็นสำคัญ
นอกจากนี้การปฏิบัติงานเพื่อให้แสดงผลของความสอดคล้องทางกฎหมาย ก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นอีกด้วยสำหรับการปฏิบัติงานของ SR เพราะฉะนั้นรายละเอียดขอบเขต/ บริบทของ SR จึงถือว่า เป็นเรื่องของความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ขององค์การในลักษณะที่อยู่ “นอกเหนือออกไปหรือปรากฏอยู่ในระดับที่สูงมากกว่าการปฏิบัติงานตามกฎหมายแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น (Beyond law)” ซึ่งรายละเอียดสำคัญที่ควรสนใจ ได้แก่
- บรรษัทภิบาล และจริยธรรม (Corporate governance and ethics)
- สุขภาพ และความปลอดภัย (Health and safety)
- การปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (Environmental protection)
- สิทธิมนุษยชน และสิทธิทางแรงงาน (Human and labor rights)
- การจัดการทรัพยากรมนุษย์ (Human resource management)
- การเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชน การพัฒนา และการลงทุนทางสังคม (Community involvement, development and social investment)
- การบริจาค/ ทำบุญขององค์การ และการเป็นอาสาสมัครของลูกจ้าง (Corporate philanthropy and employee volunteering)
- ความพึงพอใจของลูกค้า และการผูกมัดเข้ากับหลักการของการแข่งขันอย่างเป็นธรรม (Customer satisfaction and adherence to principle of fair competition)
- การต่อต้านการให้สินบน และการกำหนดมาตรการป้องกันคอร์รัปชั่น (Anti-bribery and corruption measures)
- การรายงานผลของความรับผิด และน่าเชื่อถือ/ถูกต้อง ความโปร่งใส และผลการปฏิบัติงาน (Accountability, transparency and performance reporting)
- การแสดงความสัมพันธ์ร่วมกับผู้ส่งมอบ/ คู่ค้าที่อยู่ภายในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับนานาชาติ (Supplier relations for both domestic and international supply chain)
· ควรมีการนำรายละเอียดของแหล่งอ้างอิงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรง เช่น การปรากฏเป็นเครื่องมือ SR ในระดับนานาชาติ (International SR instruments) บรรทัดฐาน (Norms) และผลที่ได้รับมาจากการประชุมระดับนานาชาติ (Convention) ต่างๆ เข้าไปเป็นรายละเอียดส่วนหนึ่งอยู่ภายในร่างมาตรฐาน ISO/SR ร่วมด้วยได้หรือไม่ เป็นต้น
4.3 วันที่ 15 - 19 พฤษภาคม 2006 – การประชุมคณะทำงาน WG/SR ครั้งที่สาม ที่ ลิสบอน ประเทศ โปรตุเกศ (Third Plenary Meeting at Lisbon , Portugal )
การประชุมถูกดำเนินการ โดยอาศัยเจ้าภาพจาก 2 หน่วยงานหลักของประเทศโปรตุเกศ คือ Portuguese Institute for Quality (IPQ) และ Portuguese Association for Business Ethics (PABS) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม/ ผู้เชี่ยวชาญตามกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ รวมกันจำนวน 320 ราย ซึ่งเป็นตัวแทนมาจาก 55 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ ISO และยังมาจากหน่วยงาน/ องค์การประเภท Liaisons อื่นๆ อีกในจำนวน 26 แห่ง รวมถึงผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากตัวแทนของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย
การประชุมครั้งนี้ มีความสืบเนื่องมาจากกลุ่ม TG 4-6 ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดยกร่างรายละเอียด/ เนื้อหาหลัก SR ในด้านต่างๆ ที่ถูกบรรจุอยู่ไว้ภายใน WD1 มาตั้งแต่การประชุมครั้งที่แล้ว ตามรายละเอียดของ Design specification ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนนั้น ได้มีผู้จัดส่ง หรือให้คำแนะนำผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ เข้ามา เพื่อต้องการให้นำไปสู่การแก้ไขในรายละเอียดต่อไป เป็นจำนวนสูงถึง 3,000 รายการ โดยมาจากสมาชิกของ ISO หรือองค์การต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้าน SR อยู่โดยตรง สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการประชุมครั้งนี้ก็คือ
1). ต้องการรับฟัง และทำการแก้ไขรายละเอียดในเนื้อหาต่างๆ ที่ได้รับขึ้นมาจากร่างมาตรฐานฉบับ WD1 และจะต้องมีการปรับปรุง เพื่อเข้าสู่สถานะของการเป็นร่างมาตรฐานฉบับที่ 2 (WD2) ต่อไปสำหรับการประชุมในครั้งหน้า
2). เพื่อติดตามผลความก้าวหน้าของการปฏิบัติงานตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ของกลุ่ม WG แต่ละกลุ่มว่า มีความถูกต้อง/ สมบูรณ์เกิดขึ้นมากหรือน้อยเพียงใด และสามารถสร้างความน่าเชื่อถือสำหรับกระบวนการยกร่างออกมาเป็นมาตรฐาน ISO/SR 26000 ได้ต่อไปหรือไม่
· สำหรับรายละเอียดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระยะภายหลังเมื่อสิ้นสุดการประชุมครั้งนี้แล้ว 15/ มีดังนี้
1). เนื้อหาและข้อกำหนดต่างๆ ที่อยู่ภายในร่างมาตรฐานฉบับ WD1 เช่น ขอบเขต (หัวข้อกำหนดที่ 1) บริบทของ SR (หัวข้อกำหนดที่ 4) และหลักการ SR (หัวข้อกำหนดที่ 5) ซึ่งเกิดเป็นผลขึ้นมาจากการผ่านยกร่างโดยอาศับกลุ่ม TG 4 เป็นผู้ปฏิบัตินั้น ที่ประชุมมีฉันทามติยอมรับในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องภายใต้ขอบเขตของเรื่องที่สำคัญ คือ
- หลักการ วิธีการปฏิบัติ และประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SR
- การบูรณาการ และการจัดตั้ง SR ขึ้นมาอย่างทั่วถึงทั้งองค์การ ภายใต้บรรยากาศของปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลสำหรับองค์การในขณะนั้นๆ ซึ่งครอบคลุมไปถึงความเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานอีกด้วย
- การระบุ/ ชี้บ่ง และแสดงการผูกมัดขององค์การเข้ากับกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ
- ความมุ่งมั่นต่อการสื่อสารสำหรับผลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับ SR อยู่โดยตรง และ
- การแบ่งปัน ช่วยเหลือหรือการสนับสนุนขององค์การต่อบทบาทในเรื่องของการพัฒนาแบบยั่งยืน
นอกจากนี้กลุ่มผู้ยกร่างของ TG 4 ยังได้ระบุ/ กำหนดความหมายของ SR ไว้อย่างชัดเจน คือ “แนวทางวิธีการปฏิบัติที่องค์การ ต้องแสดงความรับผิดชอบขึ้นมา ต่อผลกระทบทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์การต่อสภาพสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยที่วิธีการปฏิบัติเหล่านั้น ต้อง
- แสดงผลของความสอดคล้องต่อผลประโยชน์ที่ได้รับของสังคม และการพัฒนาแบบยั่งยืนตามลำดับ
- จะต้องยึดถืออยูบนพื้นฐานของพฤติกรรมเชิงจริยธรรม มีความสอดคล้องเข้ากับรายละเอียดของกฎหมาย และเครื่องมือประเภทต่างๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นมาจากภาครัฐบาล หรือระดับนานาชาติอีกด้วย และ
- จะต้องเป็นเรื่องที่สามารถบูรณาการเข้ากับรายละเอียดของกิจกรรมปฏิบัติต่างๆ ที่ดำเนินการขึ้นมาในขณะนั้นๆ ขององค์การได้เป็นอย่างดี”
2). รายละเอียดของหัวข้อกำหนดที่ 6 – Guidance on core SR subjects/issues ซึ่งเกิดเป็นผลขึ้นมาจากการผ่านยกร่างโดยอาศับกลุ่ม TG 5 เป็นผู้ปฏิบัตินั้น ที่ประชุมมีฉันทามติยอมรับในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องภายใต้ขอบเขตของเรื่องที่สำคัญ (Subject areas) ไว้ดังนี้
- สิ่งแวดล้อม (Environment)
- สิทธิมนุษยชน (Human rights)
- วิธีปฏิบัติด้านแรงงาน (Labor practices)
- ธรรมาภิบาลองค์การ (Organizational governance)
- วิธีการปฏิบัติทางธุรกิจที่เป็นธรรม (Fair business practices)
- การเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชน/การพัฒนาสังคม (Community involvement/ society development)
นอกจากนี้กลุ่ม TG 5 ยังระบุเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งว่า ในแต่ละเรื่องของเนื้อหาหลักเหล่านี้ ผู้ยกร่างมาตรฐานจำเป็นต้องระบุ/ ชี้บ่งประเด็นอื่นๆ ขึ้นมาเสริมอีก 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ มุมมองหรือแนวความคิดที่สะท้อนถึงเรื่องเศรษฐกิจ (Economic aspects) สุขภาพและความปลอดภัย (Health and safety) และห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เป็นต้น
3). รายละเอียดของหัวข้อกำหนดที่ 7 – Guidance for organization on implementing SR ซึ่งเกิดเป็นผลขึ้นมาจากการผ่านยกร่างโดยอาศับกลุ่ม TG 6 เป็นผู้ปฏิบัติ ที่ประชุมได้ดำเนินการพิจารณารายละเอียดภายใต้ประเด็นที่สนใจประมาณ 20 ประเด็นหลัก (Key issues) และในที่สุดมีการแต่งตั้ง “กลุ่มทำงานเฉพาะกิจ (ad hoc groups)” ขึ้นมาเสริม เพื่อรับผิดชอบต่อการยกร่างเนื้อหาภายในหัวข้อกำหนดที่ 7 ดังกล่าวอีก 2 กลุ่มย่อย โดยรายละเอียดที่พิจารณาร่วมกันจะครอบคลุมขอบเขตของเรื่องที่สำคัญ ดังนี้
- หัวข้อย่อยที่ 7.1 การวิเคราะห์บริบทของ SR ภายใต้องค์การที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนั้นๆ
- หัวข้อย่อยที่ 7.2 การบูรณาการ SR เข้าไปสำหรับการปรากฏเป็นวิสัยทัศน์ นโยบาย และกลยุทธ์ขององค์การตามลำดับ
- - หัวข้อย่อยที่ 7.3 การทำงานร่วมกับกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ
- หัวข้อย่อยที่ 7.4 การบูรณาการ SR เข้าไปสำหรับการปฏิบัติงานประจำวันขององค์การ
- หัวข้อย่อยที่ 7.5 การทบทวนเพื่อการปรับปรุงผลการปฏิบัติงานด้าน SR ขององค์การ
- หัวข้อย่อยที่ 7.6 การสื่อสารที่แสดงถึงผลการปฏิบัติกิจกรรม SR
4). ที่ประชุมให้คำแนะนำเพิ่มเติมอีกด้วยว่า สมควรกระตุ้นให้ทุกองค์การดำเนินงานในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับ SR ทุกประเด็น ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ก็ต้องรายงานเหตุผลในประเด็นเช่นนั้นประกอบให้รับทราบอยู่ร่วมด้วย นอกจากนี้ยังเป็นที่ยอมรับกันสำหรับความพยายามที่จะใช้ภาษาอยู่ภายในร่างมาตรฐานฉบับดังกล่าว ให้เป็นที่เข้าใจอย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกองค์การ โดยเฉพาะเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อการใช้ถ้อยคำ หรือภาษาที่ค่อนข้างจำเพาะเจาะจง ซึ่งสมควรหลีกเลี่ยง และอาจใช้ประโยชน์ได้สำหรับองค์การบางประเภทเท่านั้น
5). การกำหนดกรอบระยะเวลาของการปฏิบัติงานในการยกร่างมาตรฐานต่อไป โดยเฉพาะกลุ่ม TG4, 5 และ 6 จะต้องทำงานร่วมกับ “คณะกรรมการยกร่าง (Editing Committees)” ซึ่งจำเป็นต้องจัดเตรียมยกร่างมาตรฐานฉบับ WD2 ขึ้นมาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2006 ภายหลังจากนั้น WD2 จะต้องถูกแจกจ่ายออกไปให้สมาชิก WG ได้รับทราบ ให้คำแนะนำ หรือร้องของให้มีการแก้ไขปรับปรุง และจำเป็นต้องรวบรวมรายละเอียดที่ได้รับทั้งหมด เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนของการประชุม WG ครั้งที่ 4 ต่อไปที่ ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ในเดือนมกราคม/ กุมภาพันธ์ 2007
4.4 กันยายน 2006 – การจัดตั้งกองทุน ISO Trust Fund
ด้วยเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมที่ลิสบอนที่ผ่านมา ประสบกับปัญหาบางประการในเรื่องการยินยอมให้เข้ามามีส่วนร่วมสำหรับบุคคล/ องค์การ/ หน่วยงาน หรือกลุ่ม Stakeholders ทั้งหลายที่อยู่ในส่วนของประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยได้รับโอกาสมากนักสำหรับการเข้าร่วมประชุมดังกล่าว คณะทำงาน ISO/WG/SR จึงได้กำหนดให้มีการการจัดตั้งกองทุน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุน และช่วยเหลือด้านการเงินที่เรียกว่า ISO SR Trust Fund 16/ ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ โดยกองทุนจะเข้าไปช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายให้กับผู้เชี่ยวชาญประมาณ 2-3 ราย สามารถเข้าร่วมการประชุม ซึ่งจะถูกจัดขึ้นต่อไปที่ ซิดนีย์ ในช่วงต้นปี 2007 และถ้าสามารถทำการระดมทุนได้เป็นจำนวนมาก ก็จะเป็นผู้สนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ สามารถเข้าร่วมประชุมได้เป็นจำนวนที่เกิดขึ้นอย่างสูงสุดอีกด้วย
4.5 ตุลาคม 2006 – ISO ลงนาม MOU กับ UN Global Compact สำหรับการพัฒนามาตรฐาน SR ต่อไป
Global Compact เป็นหน่วยงานในระดับนานาชาติของ UN ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา โดยมุ่งเน้นการแสดงความรับผิดชอบในการกำหนด “เครื่องมือ” ที่เหมาะสมบางประการขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ในการสนับสนุน “หลักการของการปฏิบัติธุรกิจที่ดี 10 ประการ (10 Business Principles)” ภายใต้ขอบเขตของเรื่องต่างๆ ที่ควรสนใจ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านคอร์รัปชั่น ฯลฯ
รายละเอียดของการลงนาม MOU ดังกล่าว 17/ องค์การ ISO จึงมีวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการจะเห็นผล หรือก่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า รายละเอียดของมาตรฐาน SR ที่ต้องการพัฒนาขึ้นมาในอนาคตข้างหน้านั้น จะแสดงผลของความสอดคล้อง หรือมีส่วนเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับรายละเอียดทั้งหมดที่ระบุไว้เป็นหลักการของ Global Compact 10 Principles หรือการปรากฏเป็นเครือข่าย (Network) ที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือของการปฏิบัติงานกับหน่วยงานอื่นๆ ของ UN ที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน (Office of the High Commission for Human Rights) สำนักโครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program; UNEP) และสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญกรรม (UN Office on Drugs and Crime) เป็นต้น เพราะฉะนั้นการได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจาก UN Global Compact และหน่วยงาน UN ที่สำคัญอื่นๆ ก็มุ่งหมายได้ว่า จะประสบความสำเร็จสำหรับการยกร่างมาตรฐาน SR ให้เป็นที่ยอมรับได้ในรายละเอียดของฉบับสมบูรณ์ในครั้งสุดท้ายต่อไป นอกจากนี้ผลของการลงนามภายใน MOU เช่นนี้ ยังช่วยส่งผลทำให้ Global Compact เข้ามาดำรงสถานะพิเศษในระหว่าง 34 องค์การ ซึ่งล้วนทำหน้าที่เป็น “องค์การผู้ประสานงานและติดต่อ (Liaison organization)” ด้วยกันทั้งหมด กล่าวคือ การยินยอมให้ปรากฏเข้ามาเป็นตัวแทนส่วนหนึ่งอยู่ภายใน Chair Advisory Group (CAG) ซึ่งกลุ่มทำงานดังกล่าว จะทำหน้าที่เป็นผู้นำในการปฏิบัติงานหลักสำหรับการดำเนินงานของ SR/WR อีกต่อหนึ่งอีกด้วย สำหรับกลุ่ม/ หน่วยงานของ Liaison อื่นๆ ซึ่งมีบทบาทต่อการเข้ามาเป็นตัวแทนในระดับองค์การของ CAG อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นต้น
การลงนาม MOU ครั้งนี้ จัดเป็นข้อตกลงฉบับที่ 2 ที่ ISO ได้ดำเนินการขึ้นมากับองค์การ/ หน่วยงานของ UN โดยตรง เพื่อรักษาระดับความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับ “สิ่งริเริ่ม SR (SR Initiatives)” เป็นส่วนใหญ่ สำหรับการลงนาม MOU ฉบับแรก ได้กระทำร่วมกับองค์การ ILO เมื่อมีนาคม 2005 เพราะฉะนั้นการได้รับความร่วมมือภายหลังการลงนาม MOU ดังกล่าว จึงส่งผลดีต่อการยกร่างมาตรฐาน SR ซึ่งจะแสดงรายละเอียดที่สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการปรากฏเป็น “เครื่องมือ/ ข้อกำหนด” อื่นๆ ที่ระบุไว้ภายในหน่วยงาน/ องค์การระดับนานาชาติที่สำคัญเหล่านั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นติดตามมาอีกประการหนึ่งก็คือ จะเกิดความร่วมมือในลักษณะของการรักษาระดับความสัมพันธ์ที่ดี และสามารถช่วยผลักดันโครงการยกร่างมาตรฐาน SR Initiatives เหล่านี้ ให้นำพาไปสู่ความสำเร็จได้ในขั้นตอนสุดท้ายเป็นสำคัญ
4.6 วันที่ 29 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2007 – การประชุมคณะทำงาน WG/SR ครั้งที่สี่ ที่ ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย (Fourth Plenary Meeting at Sydney , Australia )
การประชุมครั้งนี้มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม/ ผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 300 รายขึ้นไป โดยมาจากทุกภาคส่วนของ Stakeholders ที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรง เช่น อุตสาหกรรม แรงงาน กลุ่มผู้บริโภค ภาครัฐบาล NGO หน่วยงานบริการ สนับสนุนงานวิจัยและอื่นๆ ซึ่งปรากฏสภาพของการเป็นตัวแทนมาจาก 54 ประเทศที่เป็นสมาชิกของ ISO และยังมาจากหน่วยงาน/ องค์การอื่นๆ อีกในจำนวน 28 แห่ง ที่ทำหน้าที่เป็นประเภท Liaisons สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการประชุม ก็เพื่อต้องการพิจารณารายละเอียด ข้อแนะนำในบางประเด็นที่ได้รับขึ้นมาจากร่างมาตรฐานฉบับ WD2 ในจำนวนรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 5,000 รายการที่ถูกยื่นส่งเข้ามา และเมื่อเปรียบเทียบแล้วเป็นจำนวนที่เกิดขึ้นสูงมากกว่าสำหรับการเป็นข้อแนะนำของร่างมาตรฐานฉบับ WD1 ที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นรายละเอียดของข้อแนะนำเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องนำมาพิจารณา หรือทำการแก้ไขเพิ่มเติม โดยอาศัยผลจากการประชุมครั้งนี้เป็นหลัก และนำไปสู่การจัดเตรียมออกมาเป็นร่างมาตรฐานฉบับ WD3 ได้ต่อไป (ต้องจัดทำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2007) โดยเฉพาะเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการประชุมครั้งหน้าที่ เวียนนา ประเทศออสเตรีย ในเดือนพฤศจิกายน 2007
· สำหรับรายละเอียดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระยะภายหลังเมื่อสิ้นสุดการประชุมครั้งนี้แล้ว มีดังนี้ 18/
1). ที่ประชุม WG/SR ได้ยอมรับ และแสดงความเห็นพ้องเป็นฉันทามติร่วมกันสำหรับ “ประเด็นหลักด้าน SR 7 ประการ (7 SR core issues)” ที่ควรบรรจุอยู่ภายในมาตรฐาน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน ธรรมาภิบาลองค์การ การปฏิบัติงานที่เป็นธรรม ประเด็นด้านผู้บริโภค และการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชน/ การพัฒนาของสังคม เป็นต้น
นอกจากนี้ยังกำหนดรายละเอียดคำจำกัดความของ SR อย่างเด่นชัด และต้องบรรจุอยู่ไว้ภายในร่างมาตรฐานฉบับ WD3 คือ “SR เป็นการแสดงความรับผิดชอบขององค์การ ต่อผลกระทบในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจ และการปฏิบัติกิจกรรม รวมถึงผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้องค์การจะอาศัยผ่านวิธีการปฏิบัติงานที่โปร่งใส การมีพฤติกรรมที่ดีเชิงจริยธรรม และยังจำเป็นต้องแสดงรายละเอียดของความสอดคล้องเข้ากับการพัฒนาแบบยั่งยืน และความอยู่ดีมีสุขของสังคมอีกด้วย นอกจากนี้ต้องมีการนำรายละเอียดในเรื่องระดับความคาดหวังของกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ รวมถึงการแสดงความสอดคล้องเข้ากับการปฏิบัติงานตามกฎหมาย/ ข้อกำหนดต่างๆ รวมถึงการแสดงพฤติกรรมที่เป็นบรรทัดฐานในระดับนานาชาติ โดยต้องมีการบูรณาการรายละเอียดของเรื่องเหล่านี้เข้าไปอย่างทั่วถึงกันทั้งองค์การเป็นเรื่องสำคัญ”
2). การกำหนดรายละเอียดของ “เนื้อหาและประเด็นหลัก (Key topics and issues)” อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดตั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน (เฉพาะภารกิจ) ที่เรียกว่า “SR/WG Liaison Task Force (LTF)” ขึ้นมารองรับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง และตัดรายละเอียดบางประเด็นที่ไม่สำคัญออกไปก่อนส่งไปให้กับกลุ่ม TG ต่างๆ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ยกร่างมาตรฐานต่อไป ดังนั้นการกระทำลักษณะนี้จะช่วยจำกัดขอบเขตของประเด็นหลักต่างๆ ที่ต้องการบบรจุไว้ให้คงอยู่ภายในร่างมาตรฐานฉบับ WD3 ย่อมมีความเหมาะสมเป็นไปได้อย่างดี ส่วนรายละเอียดอื่นๆ บางประการที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วยภายในร่างมาตรฐานฉบับต่อไป จะครอบคลุมถึง
- การแสดงความจำเป็นต่อการแสดงผลที่มีความสอดคล้องต่อเนื่องกันไปตลอดในส่วนต่างๆ ของมาตรฐาน โดยเฉพาะรายละเอียดของบริบทที่เกี่ยวข้อง ความยาวของการนำเสนอ ระดับของรายละเอียด และเนื้อหาที่ต้องการมุ่งเน้นเป็นพิเศษ
- ระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดที่มีการระบุไว้ภายในหัวข้อกำหนดที่ 6 (ข้อแนะนำที่เป็นประเด็นหลักของ SR) และการจัดตั้ง SR ขึ้นมาภายในองค์การ (หัวข้อกำหนดที่ 7)
- การแสดงผลต่อความเข้าใจ และการใช้ประโยชน์จากคำจำกัดความในลักษณะที่ยังไม่คงที่มากนักตามรายละเอียดของเนื้อหา SR และ Stakeholders ที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรง
- การกำหนดขึ้นมาได้อย่างไรสำหรับรายละเอียดของ “หัวข้อกำหนดขั้นต่ำ (Minimum requirements)” ที่ต้องบรรจุไว้เป็นเนื้อหาหลักที่อยู่ในมาตรฐานต่อไป
- การกำหนดขึ้นมาได้อย่างไร และขอบเขตอ้างอิงควรเป็นเช่นใดต่อการรับรองผลของความสอดคล้องของมาตรฐาน SR โดยอาศัยกลุ่ม/ หน่วยงานประเมินที่ 3 (Third-party audit) ซึ่งมาจากภายนอกเข้ามาปฏิบัติงานร่วมด้วย
รายละเอียดของประเด็นหลักเหล่านี้ ล้วนเป็นหน้าที่ของกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน LTF ที่จะต้องนำไปพิจารณา รวมถึงการค้นหาผลลัพธ์ออกมาอย่างเด่นชัด เพื่อก่อให้เกิดความคงที่ของเนื้อหาที่ต้องบรรจุอยู่ภายในร่างมาตรฐานอยู่ในระดับที่ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ ก่อนถูกนำเสนอรายละเอียดไปสู่การพิจารณาของที่ประชุมในครั้งต่อไปตามลำดับ
3). การกำหนดกลุ่มผู้ปฏิบัติงานย่อย (ad hoc task group) เพื่อทำหน้าที่ด้านการแปลภาษา ซึ่งเป็นความพยายามอย่างยิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับกระบวนการพัฒนามาตรฐาน SR ขึ้นมา โดยเฉพาะต้องการเผยแพร่ รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงรายละเอียดต่างๆ ได้สำหรับกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มีการใช้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ ดังนั้น SR/WG จึงกำหนดกลุ่มผู้ปฏิบัติภารกิจในการแปลภาษาที่เรียกว่า Translation Task Force ออกมาอีก 4 ภาษาด้วยกัน คือ ภาษาเสปน ภาษาอาราบิค ภาษารัสเซีย และภาษาฝรั่งเศส โดยทำหน้าที่กระตุ้นให้ประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น สามารถทำการแปลรายละเอียดองค์ประกอบ และเนื้อหาของมาตรฐานไปอยู่ในลักษณะที่เป็นภาษาของตนเองได้ นอกจากนี้ยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา ความเป็นอุปสรรคด้านภาษาจะปรากฏเป็นเรื่องที่พบเห็นกันเป็นอย่างมากสำหรับผู้เข้าร่วมที่มาจากกลุ่มประเทศต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ จึงเป็นข้อจำกัดต่อการเข้าร่วมงาน การอภิปราย การเสนอแนะรายละเอียดข้อกำหนดออกมาได้อย่างถูกต้องหรือสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาเช่นนี้ให้ลุล่วงไป จึงมีการเสนอให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน (ย่อย) เช่นนี้ ทำหน้าที่ในด้านการแปลออกมาทั้ง 4 ภาษาสำหรับการประชุมในครั้งหน้า รวมถึงอาจมีการค้นหาแหล่งเงินทุนเข้ามาสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานจากการอาศัยกองทุน SR Trust Fund ประกอบร่วมด้วย
4). การจัดตั้ง SR/WG ที่เกี่ยวข้องกับ “นโยบายด้านสื่อ (Media Policy)” ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากมีการอภิปรายเกิดขึ้นร่วมกันอย่างกว้างขวางมากว่า สมควรจะมีการกำหนด “ตัวแทนสื่อ (Media representative)” เข้ามาเป็นองค์ประกอบหรือสมาชิกของ WG ได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อรักษาสภาพสมดุลของกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างมาตรฐานอยู่โดยตรง รวมถึงยังเป็นการกระตุ้น เพื่อก่อให้เกิดผลความเชื่อมั่นขึ้นมาในเรื่องความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลออกไปสู่สาธารณชนภายนอกได้รับทราบอย่างทั่วถึงสำหรับรายละเอียดของการปฏิบัติงานแต่ละ WG ในที่สุดที่ประชุมต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรมีการกำหนดรายละเอียดของ “นโยบายด้านการมีส่วนร่วมของสื่อ (Media participation policy)” ไว้เป็นปัจจัยที่สำคัญส่วนหนึ่งสำหรับการปฏิบัติงานของกลุ่ม Strategic Communication Task Group (TG 2) ที่จะต้องปฏิบัติต่อไปในการกำหนดเครื่องมือ หรือวิธีการปฏิบัติต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูลและสารสนเทศ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน SR เช่นนั้น ออกไปสู่แหล่งภายนอกให้ได้รับทราบ หรือมีประสิทธิภาพที่ดีเกิดขึ้นมาตามลำดับ
5). ถึงแม้ว่า ผลลัพธ์ในภาพรวมจากการประชุมครั้งนี้ จะปรากฏออกมาอยู่ในระดับที่ดีในด้านการแสดงผลความก้าวหน้าของการจัดทำร่างมาตรฐาน SR ขึ้นมาตามลำดับ พร้อมทั้งมีองค์ประกอบของเนื้อหาอยู่ภายในมาตรฐานที่ถูกระบุ และผ่านการยอมรับกันเบื้องต้นว่า เป็นวิธีการปฏิบัติด้าน SR ที่เหมาะสมประการหนึ่ง แต่ก็ยังคงมีข้อโต้แย้งบางประการที่น่าสนใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานเพื่อยกร่างมาตรฐานดังกล่าว ก็คือ 19/
- ในประเด็นที่ว่า รายละเอียดและเนื้อหาของ ISO/SR 26000 นั้น มีจุดมุ่งหมาย เพื่อนำไปสู่ผลของการยอมรับตามรูปแบบของ “มาตรฐานที่เป็นระบบการจัดการ (Management System Standard; MSS)” หรือไม่ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญบางรายที่เข้าร่วมประชุม (มาจากภาคธุรกิจ) ได้ตั้งข้อควรพิจารณาประการหนึ่งว่า รายละเอียดหัวข้อกำหนดที่ 7 การจัดตั้ง SR (SR Implementation) ค่อนข้างมีเนื้อหาที่มีลักษณะใกล้เคียงกับแนวความคิดของระบบการจัดการโดยทั่วไป ซึ่งสามารถนำพาไปสู่การยื่นขอรับรองประกาศนียบัตรจากหน่วยงาน/ องค์การภายนอกที่ทำหน้าที่เป็นบุคคลที่ 3 ต่อไป และในที่สุดจะเป็นภาระให้กับองค์การต่างๆ เช่นเดียวกับรายละเอียดของการรับรองมาตรฐาน ISO 9000 และ ISO 14000 ที่ผ่านมาเช่นในอดีต ดังนั้นการปฏิบัติเพื่อตอบสนองต่อข้อแนะนำเช่นนี้ จึงส่งผลทำให้ผู้บริหารระดับสูงของ ISO/TMB ได้กล่าวย้ำไว้ภายในรายละเอียดของ “มติที่ประชุมสำหรับ WG/SR (Resolution)” ว่า จะไม่ดำเนินการพัฒนามาตรฐาน SR ให้มีความเกี่ยวข้องกับระบบการจัดการทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องการให้เป็น “ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ (Useful guidance)” สำหรับการเป็นเครื่องชี้บ่ง และนำพาองค์การไปสู่สภาพของการปฏิบัติงานด้าน SR ให้มีความหมาะสมเกิดขึ้นมามากกว่าเดิม โดยที่ร่างรายละเอียดของมาตรฐาน SR ฉบับนี้ จะต้องส่งเสริมหรือช่วยสนับสนุนทำให้องค์การแต่ละแห่ง สามารถทำการระบุ/ ชี้บ่งในเชิงระบบสำหรับประเด็น SR ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ออกมาได้ด้วยตนเอง และนำไปสู่การปฏิบัติที่ก่อให้เกิดผลดีขึ้นมามากกว่าการปฏิบัติงาน เพื่อเข้าสู่ระบบ MSS หรือการยื่นขอรับรองประกาศนียบัตรตามความต้องการขององค์การแห่งนั้นแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น
4.7 วันที่ 5 - 9 พฤศจิกายน 2007 – การประชุมคณะทำงาน WG/SR ครั้งที่ห้า ที่ เวียนนา ประเทศออสเตรีย (Fifth Plenary Meeting at Vienna , Austria )
การประชุมครั้งนี้ ถูกจัดขึ้นมาโดยเจ้าภาพ คือ สถาบันมาตรฐานแห่งชาติออสเตรีย (Austrian Standards Institute; ON) พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรีย และหน่วยงานพัฒนาออสเตรีย (Austrian Development Agency; ADA ) ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของ UN เช่น UN Global Compact และองค์การการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization (UNIDO) เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุม ยังประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนเป็นจำนวนมากกว่า 400 ราย ที่มาจากกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรง เช่น ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล แรงงาน ผู้บริโภค ภาคงานบริการ/ สนับสนุน/ งานวิจัย และอื่นๆ เป็นต้น ส่วนตัวแทนที่มาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงแรกของการยกร่างมาตรฐาน และยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนที่สูงมากกว่าตัวแทนที่ได้มาจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอีกด้วย
สำหรับวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ ประกอบไปด้วยสาระสำคัญ ที่ควรสนใจอยู่ 2 ประการ คือ
1). เพื่อให้ที่ประชุมทำการพิจารณารายละเอียด “เนื้อหาหลัก (Key topics)” ต่างๆ ซึ่งได้รับขึ้นมาจากการเป็น “คำแนะนำ/ ข้อที่ควรแก้ไข (Comment)” ต่างๆ ที่ถูกจัดส่งเข้ามาประมาณ 7,225 รายการ สำหรับการพิจารณาในรายละเอียดที่อยู่ภายในร่างมาตรฐานฉบับ WD3 ซึ่งต้องนำไปสู่การแก้ไข เพื่อปรากฏไปเป็นร่างมาตรฐานฉบับ WD อื่นๆ ต่อไปตามลำดับ โดยเฉพาะรายละเอียดของ WD4 ที่จะถูกพัฒนายกร่างขึ้นมาต่อไปนั้น จะถือเป็นหน้าที่ของกลุ่มผู้ปฏิบัติภารกิจกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า “Integrated Drafting Task Force; IDTF” เป็นสำคัญ
2). เพื่อทำการพิจารณาถึงความก้าวหน้าสำหรับแนวทางการปฏิบัติงานต่างๆ ของกลุ่ม WG ที่ได้รับการมอบหมายไปให้ปฏิบัติว่า มีผลเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการเข้ามามีส่วนร่วมจากหลายส่วนของกลุ่ม Stakeholders ต่อการพิจารณายกร่างรายละเอียดมาตรฐาน การระบุ/ ชี้บ่งถึงความถูกต้อง/ ครบถ้วนสมบูรณ์ และความมีประสิทธิภาพของกระบวนการยกร่างมาตรฐานขึ้นมาเป็นสำคัญ
· สำหรับรายละเอียดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระยะภายหลังเมื่อสิ้นสุดการประชุมครั้งนี้แล้ว มีดังนี้ 20/
1). การเลื่อนกรอบระยะเวลาออกไปสำหรับการยกร่างมาตรฐานฉบับ Working Draft (WD Phase) เพื่อนำไปสู่ร่างมาตรฐานฉบับคณะกรรมการ (Committee Draft; CD Phase) โดยทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้เสนอแนะว่า สมควรทำการยกร่าง และพัฒนามาตรฐานไปสู่ WD4 ดูจะเป็นเรื่องที่มีความเหมาะสมมากกว่าในทางปฏิบัติต่อไป
แต่อย่างไรก็ตามการเลื่อนระยะเวลาเช่นนี้ ก่อนนำไปสู่ขั้น CD นั้น จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการยกร่างมาตรฐานให้เกิดความล่าช้าออกไปอีกมากกว่า 1 ปี แต่มีข้อดีบางประการเกิดขึ้นก็คือ จะช่วยส่งเสริมทำให้ WG ต่างๆ มีโอกาสในการยกร่างมาตรฐานขึ้นมาอย่างได้ผลที่ครบถ้วนสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม และยังเป็นการรักษาระดับความสัมพันธ์เช่นนี้ไว้ร่วมกับกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน/ หน่วยงาน/ องค์การมาตรฐานในระดับชาติได้ ก่อนที่จะนำไปสู่การตัดสินใจลงมติ เพื่อรับร่างมาตรฐานในขั้น CD ต่อไป นอกจากนี้อิทธิพลของการยอมรับ/ การมีฉันทามติต่อการรับร่างมาตรฐานฉบับ CD จะมีผลเป็นไปได้สำหรับการยอมรับที่เกิดขึ้นจากผลการออกเสียงในระดับนานาชาติเหล่านี้แทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงถือว่า เป็นเรื่องสำคัญที่การทำงานของ WG เหล่านี้ จำเป็นจะต้องยกร่างมาตรฐานฉบับ WD ต่อไปอีกเป็นจำนวน 2 ฉบับย่อย กล่าวคือ WD4.1 (ต้องจัดทำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 11 มีนาคม 2008) และ WD4.2 (ต้องจัดทำให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2008) ตามลำดับ ซึ่งในที่สุดจะก่อให้เกิดผลที่ดีต่อการพิจารณาเป็นมาตรฐานฉบับ CD ได้สำหรับการประชุมครั้งหน้าที่ ซานติเอโก้ ประเทศชิลี ในวันที่ 1 - 5 กันยายน 2008
2). การกำหนดรายละเอียดของ “เนื้อหาและประเด็นหลัก (Key topics and issues)” ที่สมควรพิจารณาถูกบรรจุไว้อยู่ภายในร่างมาตรฐาน ทั้งนี้บทบาทที่สำคัญยังคงเป็นภารกิจและความรับผิดชอบของกลุ่มทำงาน TG 4, 5 และ 6 รวมถึง Liaison Task Force (LTF) ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เหล่านี้โดยตรง สำหรับการพิจารณา คัดเลือก และกลั่นกรองเนื้อหาและประเด็นหลักต่างๆ ที่มีการพิจารณาในการประชุมครั้งนี้ จะประกอบไปด้วยรายละเอียดที่ควรสนใจร่วมด้วย ดังนี้
- ประเด็นที่ 1: เป็นการสมควรหรือไม่ สำหรับการเพิ่มเติมขั้นตอนขึ้นมาใหม่บางประการใน "วิธีการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยกร่างมาตรฐาน (A new drafting process)” ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เกิดการพิจารณารายละเอียดของประเด็น/ เนื้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถปรับปรุงระดับความสม่ำเสมอในรายละเอียดของส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายในมาตรฐาน SR ให้มีลักษณะที่ครบถ้วน/ สมบูรณ์ขึ้นมาได้มากที่สุดเป็นสำคัญ ทั้งนี้รายละเอียดของการปฏิบัติงานดังกล่าวกลุ่มผู้ปฏิบัติงานของ LTF ได้นำเสนอว่า สมควรจัดตั้งกลุ่มปฏิบัติงานขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่อย่างจำเพาะเจาะจงที่เรียกว่า Integrated Drafting Task Force (IDTF) ให้เข้ามาทำหน้าที่ทดแทนกลุ่มทำงาน LTF ซึ่งหมดอายุครบตามวาระที่ปฏิบัติงานลงแล้ว และเพื่อยึดถืออยู่บนพื้นฐานของ ”หลักการของการเข้ามามีส่วนร่วมในระดับที่สมดุล (Principle of balance participation)” จากกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ ร่วมด้วยอีกนั้น ลักษณะและองค์ประกอบของ IDTF จึงควรประกอบไปด้วยตัวแทนจำนวน 2 รายต่อประเภทของ Stakeholders ทั้ง 6 กลุ่มที่กำหนดรายละเอียดไว้แล้วล่วงหน้า และตัวแทนดังกล่าว จำเป็นต้องมีการกระจายตัวออกไปตามแต่ละรายละเอียดในเรื่องความสมดุลของเพศ ลักษณะของการเป็นตัวแทนที่ถูกคัดเลือกขึ้นมาจากผลความสอดคล้องทางสภาพภูมิศาสตร์อีกด้วย (กล่าวคือ ต้องประกอบไปด้วยตัวแทนที่มาจากกลุ่มประเทศพัฒนาและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา) นอกจากนี้ยังต้องมีตัวแทนที่ได้มาจากความเป็น Conveners และ/หรือ co-Conveners ของแต่ละกลุ่ม TG และอีก 1 รายควรเป็นตัวแทนมาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรง เช่น คณะกรรมการ WG editing committee องค์การ ILO และ UN Global Compact เป็นต้น
- ประเด็นที่ 2: เป็นการสมควรหรือไม่ ต่อการกำหนดหรือระบุรายละเอียดที่เรียกว่า “สิ่งริเริ่ม SR (SR Initiative)” อื่นๆ เข้าไปอยู่ภายในร่างมาตรฐานฉบับดังกล่าว โดยที่ผู้เชี่ยวชาญหลายรายที่มาจากภาคแรงงาน และกลุ่มผู้บริโภค ได้เสนอรายละเอียดไว้ตั้งแต่ผลการประชุมที่ ลิสบอน ในครั้งที่ผ่านมาว่า ควรตัดสินใจทำการรวบรวมรายละเอียดเรื่อง SR Initiatives ที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปปรากฏอยู่ภายในตัวเนื้อหาของมาตรฐาน SR แต่คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงติดตามมาก็คือ แล้วจะเพิ่มเติมรายละเอียดของสิ่งอ้างอิงเหล่านี้ลงไปได้อย่างไร จึงจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อกระบวนการยกร่างมาตรฐานขึ้นมาได้มากที่สุด
ในทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ISO/WG/SR จึงได้ดำเนินการจัดตั้ง “กลุ่มทำงานย่อย” ที่เรียกว่า ad hoc group ขึ้นมาทำหน้าที่เป็นการเฉพาะเจาะจงในเรื่อง SR Initiatives โดยมีการกำหนดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเช่นนี้ ลงไปภายในร่างมาตรฐานฉบับ WD4 ซึ่งอาจครอบคลุมลงไปในส่วนของเนื้อหาหลัก (Main text) ภาคผนวก (Appendix) หรืออาจปรากฏเป็นรายละเอียดอยู่ภายในกล่องที่เป็นคำแนะนำ (Help box) รวมถึงอาจมีการพิจารรณา Initiatives เหล่านี้ ออกมาในลักษณะที่เป็นเครื่องมือด้าน SR บางประเภทที่นิยมใช้ประโยชน์กันอยู่ในระดับนานาชาติ หรือสามารถชี้บ่ง เพื่อสะท้อนถึงระดับความเป็นพฤติกรรม/ บรรทัดฐานที่เกิดขึ้นในระดับนานาชาติ (International norms) ก็ได้โดยตรง สำหรับองค์ประกอบในรายละเอียดความเป็นสมาชิกของกลุ่มทำงานย่อย ad hoc group ดังกล่าว จะอาศัยยึดถืออยู่บนพื้นฐานของหลักการความสมดุลกันของกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ เป็นสำคัญ โดยจะต้องประกอบไปด้วยจำนวนสมาชิก 3 ราย/กลุ่ม Stakeholders แต่ละประเภท และจำนวนอีก 1 ราย ต้องเป็นตัวแทนมาจากองค์การ ILO และอีก 1 รายมาจากตัวแทนของ UN Global Compact และ DDTR Convener เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึง SR initiatives ต่างๆ ที่พบอยู่ในปัจจุบัน และสามารถกำหนดนำรายละเอียดบางส่วนเข้ามาบรรจุเป็นเนื้อหาอยู่ภายในร่างมาตรฐาน SR จะแสดงความเกี่ยวข้องกับรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
- หลักการและกฎหมายที่ต้องแสดงความผูกมัดหรือปฏิบัติตามอย่างสอดคล้อง เช่น กฎหมายด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม และด้านการเงิน ฯลฯ
- ผลที่ได้รับขึ้นมาจากการประชุมใหญ่ในระดับนานาชาติหรือคำประกาศ (International conventions and declarations) ได้แก่ OECD Guideline และ ILO Declaration ฯลฯ
- จรรยาบรรณและหลักการ SR ที่เกี่ยวข้อง (Code of conduct and principles) ได้แก่ CERES Principles; Sustainable Forestry Program และ SA 8000 ฯลฯ
- มาตรฐานระบบการจัดการที่เกี่ยวข้องกับ CSR (CSR management system standard) ได้แก่ มาตรฐาน ISO และ SIGMA Project ของประเทศสหราชอาณาจักร ฯลฯ
4.8 พฤษภาคม 2008 – การลงนาม “บันทึกเพื่อความเข้าใจ (MOU)” ร่วมกันระหว่าง ISO และ OECD สำหรับการพัฒนามาตรฐาน SR ต่อไป
รายละเอียดของ MOU ประกอบไปด้วยข้อบัญญัติ (Article) ที่สำคัญ 7 ส่วน คือ ข้อบัญญัติที่ 1 วัตถุประสงค์และขอบเขต (Purpose and scope) ข้อบัญญัติที่ 2 เนื้อหาและความเข้าใจ (Understandings) ข้อบัญญัติที่ 3 การปรึกษาร่วมกัน (Mutual consultation) ข้อบัญญัติที่ 4 การเข้ามามีส่วนร่วม (Participation) ข้อบัญญัติที่ 5 การแลกเปลี่ยนสารสนเทศ (Exchange of information) ข้อบัญญัติที่ 6 การเตรียมสภาพการทำงาน (Working arrangement) และข้อบัญญัติที่ 7 รายละเอียดข้อกำหนดอื่นๆ (Other provisions) เป็นต้น 21/
ส่วนรายละเอียดที่ควรให้ความสนใจ ได้แก่ ข้อบัญญัติที่ 1 ซึ่งได้ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการลงนาม MOU ครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้เกิดผลของความร่วมมือขึ้นมาอย่างเป็นทางการสำหรับการพัฒนา และยกร่างมาตรฐาน ISO ฉบับนานาชาติ โดยเฉพาะรายละเอียดของเนื้อหามาตรฐานดังกล่าว ต้องแสดงความสอดคล้องเข้ากับหัวข้อกำหนดต่างๆ ที่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วภายใน OECD for Multinational Enterprises เป็นสำคัญ
นอกจากนี้รายละเอียของข้อบัญญัติอื่นๆ เช่น ข้อบัญญัติที่ 2 และที่ 3 เป็นต้น ยังกำหนดให้ OECD และ ISO ต่างต้องทำหน้าที่ในการเป็นที่ปรึกษาร่วมกัน (Mutual consultation) เพื่อเปิดโอกาสให้ OECD สามารถดำรงสิทธิในเรื่องของการให้คำแนะนำ การปรึกษาหารือในทุกขั้นตอนของการพัฒนายกร่างมาตรฐานขึ้นมาตามลำดับ รวมถึงองค์การ ISO ต้องมุ่งมั่นที่จะนำรายละเอียดที่เป็นคำแนะนำ/ แก้ไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละครั้ง ออกไปเวียน หรือเผยแพร่ เพื่อให้ทุกส่วนของสมาชิด ISO เช่น NSB องค์การประเภท D-Liaison และ ISO/WG/SR รวมถึง TMB ได้รับทราบรายละเอียดเหล่านี้อย่างทั่วถึงกันอีกด้วย
สาระที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่พบเห็นได้ภายในข้อบัญญัติที่ 5 ก็คือ การกำหนดให้ OECD และ ISO ต้องมีวิธีการในการแลกเปลี่ยนข้อมูล/ สารสนเทศ การจัดทำเอกสาร และการตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ทั้งสององค์การ ได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันต่อการพัฒนามาตรฐาน ISO/SR ให้ดำเนินไปจนเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ในทุกกระบวนการของการยกร่างมาตรฐาน
4.9 วันที่ 1 – 5 กันยายน 2008 – การประชุมคณะทำงาน WG/SR ครั้งที่หก ที่ ซานติเอโก้ ประเทศชิลี (Sixth Plenary Meeting at Santiago , Chile )
การประชุมครั้งนี้ถูกจัดขึ้นมาโดยเจ้าภาพ คือ สถาบันมาตรฐานแห่งชาติชิลี (Chilean National Institute for Standardization; INN ) โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนต่างๆ เข้าร่วมประชุมจำนวน 397 ราย (มาจากกลุ่มประเทศพัฒนา 28 ประเทศ และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 48 ประเทศ) และอีกจำนวน 33 แห่งที่ทำหน้าที่เป็นองค์การประเภท Liaison
วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ ประกอบไปด้วยรายละเอียดที่ควรสนใจ คือ
1). เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาถึงรายละเอียดของ “คำแนะนำ/ ข้อที่ควรแก้ไข” บางประการที่ได้รับเข้ามาประมาณ 5,200 รายการ จากรายละเอียดต่างๆ ที่ถูกบรรจุอยู่ไว้ภายในร่างมาตรฐานฉบับ 4.2 ซึ่งจะต้องนำไปสู่การแก้ไข ปรับปรุงเพื่อให้เป็นร่างมาตรฐานฉบับ CD ได้ต่อไป
2). เพื่อพิจารณาถึงผลความก้าวหน้าสำหรับการปฏิบัติงานต่างๆ ของกลุ่ม TG รวมถึงการพิจารณา “เนื้อหาหลัก (Key topics)” ที่สำคัญบางส่วน ตามที่ได้ถูกระบุอยู่ไว้ภายในรายงานของ IDTF ที่เรียกว่า Working Groups Key Topics/ Discussion Topics เช่น
- บรรทัดฐานระดับนานาชาติของพฤติกรรม (International norms of behavior)
- ธรรมชาติของแหล่งอ้างอิงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งริเริ่ม และเครื่องมือ SR (Nature of reference to SR initiatives, SR Tools)
- ธรรมชาติของแหล่งอ้างอิงที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล (Nature of reference to government)
- ขอบเขตบรรยากาศของปัจจัยที่มีอิทธิพลภายในองค์การ ซึ่งครอบคลุมถึงคุณค่าสายโซ่ และห่วงโซ่อุปทาน (Sphere of influence, including value chain and supply chain) ฯลฯ
โดยรายละเอียดเหล่านี้สมควรได้รับการถกถียง/ อภิปราย/ หรือเสนอแนะให้อยู่ไว้ภายในร่างมาตรฐานฉบับ CD ที่จะประกาศ เพื่อใช้ประโยชน์ในขั้นตอนต่อไป
· สำหรับรายละเอียดผลลัพธ์บางประการ ที่เกิดขึ้นในระยะภายหลังเมื่อสิ้นสุดการประชุมครั้งนี้แล้ว มีดังนี้ 22/
1). ที่ประชุมมีมติว่า สืบเนื่องมาจากการได้รับ “คำแนะนำ/ ข้อที่ควรแก้ไข” ไว้เป็นจำนวนมาก และเพียงพอต่อการตัดสินใจได้ประการหนึ่ง ประกอบกับมีการระบุ/ ชี้บ่งถึงรายละอียดที่เป็น “Key topics” ออกมาจากการทำงานของ IDTF ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วนั้น ต่างได้รับการอภิปราย แสดงความคิดเห็นร่วมกันอย่างกว้างขวางมากจากที่ประชุม และเป็นการเพียงพอในรายละเอียด จึงสมควรเคลื่อนย้ายกระบวนการยกร่างมาตรฐานจากขั้นตอนของ WD4.2 ไปสู่การเป็นร่างมาตรฐานฉบับ CD ได้ต่อไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่มาจากกลุ่ม Stakeholdes ต่างๆ ได้แสดงความเห็นชอบร่วมด้วยในเรื่องดังกล่าว (ส่วนการกำหนดกรอบระยะเวลาของร่างมาตรฐานฉบับ CD คาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ได้ภายในธันวาคม 2008)
2). ที่ประชุมยืนยันถึงบทบาท หน้าที่ และภารกิจที่สำคัญของ IDTF ที่ต้องดำเนินการต่อไป คือ
- พิจารณาทบทวนรายละเอียดของร่างมาตรฐานฉบับ WD4.2 ทั้งหมด รวมถึงต้องทำการแก้ไข ปรับปรุงเนื้อหาของร่างมาตรฐานฉบับดังกล่าว ให้เป็นไปในเชิงบูรณาการ และยึดถือรายละเอียดจาก “คำแนะนำ/ ข้อแก้ไข” ที่ได้รับเข้ามาเป็นส่วนสำคัญอีกด้วย
- สมาชิก และองค์ประกอบชอง IDTF ต้องมาจากทุกภาค/ ส่วนที่สำคัญ ได้แก่
1. Conveors และ Co-Convenors ที่มาจาก TG 4, 5 และ 6
2. จำนวน 2 รายของผู้เชี่ยวชาญมาจากแต่ละประเภทของกลุ่ม Stakeholders ที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรง (ทั้งนี้จำนวนหนึ่งรายต้องมาจากกลุ่มประเทศพัฒนา และอีกจำนวนหนึ่งรายต้องมาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา)
3. จำนวน 1 รายของผู้เชี่ยวชาญมาจาก Editing Committee
4. จำนวน 1 รายของผู้เชี่ยวชาญมาจาก ILO (ต้องแสดงความสอดคล้องเป็นไปตามรายละเอียดที่ระบุไว้ภายใน MOU ร่วมด้วย)
5. จำนวน 1 รายของผู้เชี่ยวชาญมาจาก UN Global Compact (ต้องแสดงความสอดคล้องเป็นไปตามรายละเอียดที่ระบุไว้ภายใน MOU ร่วมด้วย)
6. จำนวน 1 รายของผู้เชี่ยวชาญมาจาก ISO Central Scretariat
7. จำนวน 2 รายของผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่เป็นเลขนุการ (Secretary) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งขึ้นมาจากการเสนอชื่อของประธาน ISO/WG/SR อีกต่อหนึ่ง
- นอกจากนี้ IDTF จะต้องทำหน้าที่ควบคุมสภาพความเป็นสมดุลของกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่มาจากทั้งกลุ่มปรเทศพัฒนา และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการแสดงความเท่าเทียวกันทางเพศ เพื่อให้เกิดผลขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
3). ISO/WG/SR ต่างยอมรับถึงความสำคัญของ “สถาบัน/ หน่วยงานมาตรฐานประจำชาติ (NSBs)” และ “คณะกรรมการเงาประจำชาติ (National Mirror Committees)” ที่จะต้องเข้ามาทำหน้าที่ช่วยส่งเสริม และพัฒนาให้เป็นร่างมาตรฐานฉบับสมบูรณ์ต่อไปตามลำดับ โดยอาศัยการทำหน้าที่ของ NSB ในดับชาติของตนเองอย่างเข้มแข็งเช่นนั้น จะมีส่วนช่วยกระตุ้นทำให้ Stakeholdrs ต่างๆ ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมประชุมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการกำหนดค้นหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนตามแนวทางของ SR Trust Fund ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติเพิ่มเติมขึ้นมาอีกประการหนึ่งร่วมด้วย
นอกจากนี้ ISO/WG/SR ยังแสดงความขอบคุณเป็นอย่างสูงสำหรับหน่วยงาน/ องค์การ/ บริษัท ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริจาคเงินทุน เพื่อสนับสนุนต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของกลุ่ม Stakeholdrs ต่างๆ อยู่โดยตรง เช่น
- การบริจาคให้กับ ISO CS/DEVCO ได้แก่ รัฐบาลประเทศฟินแลนด์ องค์การ/ หน่วยงานของประเทศสวีเดน คือ Swedish International Development Cooperation Agency และมาจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ คือ Swiss State Secretariat for Economic Affairs (SECO) เป็นต้น
- การบริจาคให้กับกองทุน ISO Trust Fund ได้แก่ บริษัท Sony Corporation; Standard Council of Canada และ Dutch Ministry of Foreign Affair เป็นต้น
4). ที่ประชุมมีการร้องขอให้ IDTF ทำหน้าที่หลักในกระบวนการยกร่างมาตรฐานฉบับ WD4.2 เพื่อนำไปสู่การจัดพิมพ์ร่างมาตรฐานฉบับ CD ให้แล้วเสร็จสิ้นลงได้อย่างสมบูรณ์ภายในธันวาคม 2008 และมีการเวียนแจกจ่ายให้ NSB ประเทศต่างๆ ทำการพิจารณา เพื่อลงมติให้เป็นร่างมาตรฐานฉบับ CD ได้ต่อไปภายในมกราคม 2009 เป็นอย่างช้า นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้ความเห็นชอบที่จะกำหนดให้มีการประชุม ISO/WG/SR ครั้งที่ 7 ต่อไปที่ เมืองควิเบค (Quebec City) ประเทศคานาดา ในวันที่ 18 - 22 พฤษภาคม 2009
XXXXXXXXX
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น