บทที่ 2
บทบาทขององค์การ ISO และการจัดทำมาตรฐานนานาชาติ (Role of ISO for International Standards)
ตอนที่ 2: โครงสร้าง ภารกิจหลัก และบทบาทขององค์การ ISO ต่อการจัดทำมาตรฐานนานาชาติ
4.1 ประเทศสมาชิกขององค์การ ISO และสถาบันมาตรฐานประจำชาติ (Members and national standard bodies of ISO)
จากรายละเอียดที่กล่าวมาในเบื้องต้นแล้วว่า องค์การ ISO ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานอิสระ โดยที่สมาชิกขององค์การ ไม่ใช่รัฐบาลของแต่ละประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะมาจากสถาบันมาตรฐานแห่งชาติประจำประเทศต่างๆ ทั่วโลก เช่น ประเทศไทย “สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)” กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีฐานะเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกขององค์การ ISO โดยตรง เพราะฉะนั้นสมาชิกขององค์การ ISO จึงสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1). สมาชิกสามัญหรือภาคีสมาชิก (Member body) โดยทั่วไปจะเป็นตัวแทนของสถาบันมาตรฐานประจำชาติ (National body) ของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นประการสำคัญ เพราะฉะนั้นในแต่ละประเทศทั่วโลก จึงมีลักษณะของการดำรงสภาพเป็นสมาชิกประเภทนี้ได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น ในปัจจุบันมีสมาชิกประเภทนี้อยู่รวมกันจำนวน 106 ประเทศ และมากกว่า 80% เป็นหน่วยงานของรัฐบาล หรือองค์การที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาอย่างสอดคล้องตรงตามรายละเอียดที่กฏหมายกำหนดไว้ร่วมด้วย (พิจารณาตารางที่ 1) สมาชิกประเภทนี้ จึงมีสิทธิออกเสียงในเรื่องวิชาการ และสามารถสมัครเข้ามา เพื่อรับการเลือกตั้งเป็นคณะมนตรี หรือเข้าร่วมประชุมในสมัชชาใหญ่ขององค์การ ISO ได้โดยตรง
ประเทศสมาชิกขององค์การ ISO ทั้ง 3 ประเภทที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก คือ ภาคีสมาชิก (Member body) สมาชิกสมทบ (Correspondent member) และสมาชิกบอกรับ (Subscriber members)
นอกจากนี้หน้าที่ในการปฏิบัติภารกิจหลัก และระดับความรับผิดชอบของภาคีสมาชิกประเภทนี้ ยังครอบคลุมไปถึงรายละเอียดที่สำคัญอื่นๆ อีกด้วย ดังนี้
- แจ้งข่าวความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดของมาตรฐานปฏิบัติต่างๆ ที่ประกาศออกมาใช้ประโยชน์โดยองค์การ ISO ให้บุคคลอิสระภายนอก หรือหน่วยงานรับรองมาตรฐานแห่งต่างๆ ที่สังกัดอยู่ภายในประเทศของตนได้รับทราบ เพื่อสามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานในลักษณะที่ตอบสนองตรงตามมาตรฐานเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี
- ประเทศภาคีสมาชิกทั้งหลาย สามารถแสดงบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการเสนอแนะ หรือให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินงานในช่วงของการจัดเตรียม หรือกระบวนการยกร่างมาตรฐานปฏิบัติฉบับต่างๆ ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดผลของการยอมรับร่วมกันในรายละเอียดของตัวมาตรฐานนานาชาติฉบับนั้นๆ ขึ้นมาโดยตรง
- ประเทศภาคีสมาชิกมีส่วนรับผิดชอบในการให้บริจาคแหล่งเงินสนับสนุนบางส่วนสำหรับการดำเนินงานตามภารกิจหลักขององค์การ ISO โดยผ่านขั้นตอนของการจ่ายเงิน เพื่อชำระค่าสมาชิกเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้นสิทธิ์ที่แท้จริงของประเทศภาคีสมาชิกเหล่านี้ก็คือ การได้รับความยินยอมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมหรือปฏิบัติงานร่วมกัน รวมถึงสามารถเสนอผลการออกเสียงลงมติ (Voting) ในการประชุมสำหรับคณะกรรมการด้านเทคนิคต่างๆ ขององค์การ ISO ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการกำหนดรายละเอียดของมาตรฐานปฏิบัติบางประเภท หรืออาจเข้าร่วมในการประชุมสมัชชาใหญ่ (General assembly) ประจำปี เพื่อการกำหนดนโยบายหลักสำหรับการดำเนินงานขององค์การ ISO ในแต่ละปีได้โดยตรง
ตารางที่ 1 ตัวอย่างของประเทศภาคีสมาชิก (Member bodies) และสถาบันมาตรฐานประจำชาติ รวมถึงการเข้าร่วมเป็นคณะทำงานของ ISO 5/
ประเทศ | สถาบันมาตรฐานประจำชาติ และอักษรย่อ | จำนวนที่เข้าร่วม TC | จำนวนที่เข้าร่วม PDC |
·Instituto Argentino de Normalizacion y Certificacion (IRAM) | 314 | 3 | |
·Standards | 529 | 3 | |
·Austrian Standards Institute (ON) | 508 | 3 | |
·The Belgian Institution for Standardization (NBN) | 618 | 3 | |
Brazil | ·Associacao Brasileira de Normas Tecnicas (ABNT) | 440 | 3 |
Canada | ·Standards Council of | 383 | 3 |
Chile | ·Instituto Nacional de Normalizacion (INN) | 103 | 2 |
·Standardization Administration of | 696 | 3 | |
·Dansk Standard (DS) | 335 | 3 | |
·Finnish Standards Association (SFS) | 529 | 3 | |
·Association francaise de normalisation (AFNOR) | 727 | 3 | |
·Deutsches Institut fur Normung (DIN) | 722 | 3 | |
Greece | ·Hellenic Organization for Standardization (ELOT) | 194 | 3 |
Hungary | ·Magyar Szabvanyugyi Testulet (MSZT) | 496 | 3 |
Iceland | ·Icelandic Standards (IST) | 147 | 3 |
·Bureau of Indian Standards (BIS) | 590 | 3 | |
·Badan Standardisasi Nasional (BSN) | 218 | 3 | |
·National Standards Authority of | 392 | 3 | |
·Standards Institution of | 184 | 3 | |
·Ente Nazionale Italiano di Unificazione (UNI) | 658 | 3 | |
· | 670 | 3 | |
·Korean Agency for Technology and Standards (KATS) | 698 | 3 | |
·Institut luxembourgeois de la normalisation, de l’accreditation, de la securite et qualite des produits et services (ILNAS) | 31 | - | |
·Department of Standards | 230 | 3 | |
·Direccion General de Normas (DGN) | 322 | 3 | |
·Nederlands Normalisatie-Instituut (NEN) | 573 | 3 | |
·Standards | 144 | 3 | |
·Standards | 375 | 3 | |
·Bureau of Product Standards (BPS) | 117 | 3 | |
·Polish Committee for Standardization (PKN) | 633 | 3 | |
·Instituto Portugues da Qualidade (IPQ) | 337 | 3 | |
·Federal Agency on Technical Regulating and Metrology (GOST-R) | 603 | 3 | |
·Saudi Arabian Standards Organization (SASO) | 132 | 3 | |
·Standards, Productivity and Innovation Board (SPRING SG) | 130 | 3 | |
·Asociacion Espanola de Normalizacion y Certificacion (AENOR) | 626 | 3 | |
Sweden | ·Swedish Standards Institute (SIS) | 533 | 3 |
·Swiss Association for Standardization (SNV) | 514 | 3 | |
·Thai Industrial Standards Institute (TISI) | 241 | 3 | |
·American National Standards Institute (ANSI) | 618 | 3 | |
·State Committee of Ukraine on Technical regulation and Consumer Policy (DSSU) | 278 | 3 | |
·British Standards Institution (BSI) | 720 | 3 | |
·Fondo para la Normalizacion y Certificacion de la Calidad (FONDONORMA) | 101 | 3 | |
·Directorate for Standards and Quality (TCVN) | 71 | 3 |
2). สมาชิกสมทบ (Correspondent member) ตามปรกติเป็นตัวแทนสำหรับองค์การมาตรฐานของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีบทบาท หรือเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการกำหนด หรือประกาศใช้มาตรฐานนานาชาติขององค์การ ISO ในสภาพปัจจุบันมีสมาชิกอยู่รวมกันทั้งหมดจำนวน 40 ประเทศ และเกือบทั้งหมดมีสถานภาพเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่
สำหรับบทบาทนั้นจะไม่มีสิทธิเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทั้งทางด้านเทคนิคหรือการปฏิบัติภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายขององค์การ ISO เป็นเพียงแต่ทำหน้าที่ในการติดต่อ แจ้งข่าวความเคลื่อนไหว หรือรายละเอียดความสนใจทั้งหลายให้สมาชิกภายในประเทศของตนได้รับทราบ เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันภายในกลุ่มประเทศสมาชิกสมทบเท่านั้น หรือสามารถเข้าร่วมประชุมใหญ่ได้ในฐานะเป็นผู้สังเกตการณ์ (Observer) เท่านั้น (ตารางที่ 2)
ตารางที่ 2 ตัวอย่างประเทศสมาชิกสมทบ (Correspondent members) และสถาบันมาตรฐานประจำชาติ 5/
ประเทศ | สถาบันมาตรฐานประจำชาติ และอักษรย่อ | จำนวนที่เข้าร่วม TC | จำนวนที่เข้าร่วม PDC |
· | - | 1 | |
·Standards and Quality Control Authority (SQCA) | 6 | 1 | |
Bolivia | ·Instituto Boliviano de Normalizacion y Calidad (IBNORCA) | 9 | 3 |
Brunei Darussalam | ·Construction Planning and Research Unit, Ministry of Development (CPRU) | 4 | 3 |
·Agence de Normalisation et de Transfert de Technologies (ANTT) | - | - | |
·Comision Guatemalteca de Normas (COGUANOR) | - | 1 | |
·Latvian Standard (LVS) ·Latvian National Committee of the IEC | 3 | 3 | |
·Macau Productivity and technology Transfer Center (CPTTM) | - | - | |
·Direction de la Normalisation et de la Qualit (BNM) | - | - | |
·Instituto Nacional de Normalizaio e Qualidade (INNOQ) | - | 3 | |
·Myanma Scientific and Technological Research Department (MSTRD) | - | - | |
· | - | - | |
Paraguay | ·Instituto Nacional de Tecnologia, Normalizacion y Metrologia (INTN) | - | 1 |
· | - | 2 | |
·Agency of Standardization, Metrology, Certification and Trade Inspection (TJKSTN) | - | - | |
· | 2 | 2 | |
Yemen | · | 2 | 1 |
3). สมาชิกเสริมหรือสมาชิกบอกรับ (Subscriber membership) จัดเป็นประเทศที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจขนาดเล็ก หรือส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องเสียค่าบอกรับการเป็นสมาชิกขององค์การ ISO ในระดับราคาที่ต่ำลดลงมามากกว่าประเทศสมาชิกประเภทอื่นๆ รวมถึงยังไม่มีสิทธิอย่างแท้จริงในการกำหนด หรือเข้าร่วมกิจกรรมประเภทใดๆ เช่น การยกร่างหรือประกาศใช้ในตัวมาตรฐานปฏิบัติฉบับนานาชาติขององค์การ ISO โดยตรง ในปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกอยู่ด้วยกันทั้งหมด 11 ประเทศ (พิจารณาตารางที่ 3 ประกอบด้วย)
ตารางที่ 3 ตัวอย่างประเทศสมาชิกบอกรับ (Subscriber members) และสถาบันมาตรฐานประจำชาติ 5/
ประเทศ | สถาบันมาตรฐานประจำชาติ และอักษรย่อ | จำนวนที่เข้าร่วม TC | จำนวนที่เข้าร่วม PDC |
· | - | - | |
·Bureau burundais de Normalisation et de Contrôle de la Qualité (BBN) | - | - | |
·Department of Industrial Standards of | - | - | |
· | - | - | |
·Eritrean Standards Institution (ESI) | - | - | |
· | - | - | |
·Consejo Hondureno de Ciencia y Tecnologia (COHCIT) | - | - | |
Lao People’s Democratic Rep. | ·Department of Intellectual Property, Standardization and Metrology (DISM) | - | - |
· | - | - |
4.2 โครงสร้างและหน่วยงานหลักขององค์การ ISO (Organizational structure of ISO)
สำหรับโครงสร้างหลักขององค์การ ISO ประกอบด้วยหน่วยงานที่สำคัญ ได้แก่ 6/
โครงสร้างหลัก และหน่วยงานผู้ปฏิบัติสำหรับองค์การ ISO
1). สมัชชาใหญ่ (General Assembly) ประกอบด้วยคณะกรรมการต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการกำหนดและพัฒนานโยบายหลักขึ้นมา เพื่อการดำเนินงานขององค์การ ISO โดยตรง เช่น
·คณะกรรมการด้านการประเมินลักษณะความสอดคล้องของมาตรฐาน (Committee on Conformity Assessment; CASCO)
ขอบเขต และภารกิจด้านต่างๆ ของ CASCO ที่ปฏิบัติในฐานะที่เป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การ ISO
· คณะกรรมการด้านนโยบายผู้บริโภค (Committee on Consumer Policy; COPOLCO)
· คณะกรรมการด้านกิจกรรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา (Committee on Developing Countries Matters; DEVCO)
· คณะกรรมการด้านระบบสารสนเทศและการบริการ (Committee on Information Systems and Services; INFCO)
2). คณะมนตรี (Council) ประกอบด้วยคณะกรรมการที่สำคัญ ดังนี้
· คณะกรรมการบริหารด้านเทคนิค (Technical Management Board; TMB) ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ คือ
- คณะกรรมการด้านวัสดุอ้างอิง(Committee on Reference Materials; REMCO)
- กลุ่มที่ปรึกษาด้านเทคนิค (Technical Advisory Groups; TAG)
- คณะกรรมการด้านเทคนิค (Technical Committees; TC)
3). สำนักเลขาธิการกลาง (Central secretariat)
ในทางปฏิบัติผู้บริหารงานขององค์การ ISO ส่วนใหญ่ จะเป็นคณะมนตรี ซึ่งประกอบด้วยประธานองค์การ (ISO President) และผู้แทนประเทศต่างๆ ที่ได้ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดโครงสร้างหลัก และการบริหารงานขององค์การ การอนุมัติหรือประกาศใช้มาตรฐานฉบับนานาชาติ รวมถึงการแต่งตั้งสมาชิกคณะกรรมการบริหารด้านเทคนิค เลขาธิการ และประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคขององค์การ ISO โดยตรง
4.3 ผู้ที่ทำงาน และรับผิดชอบเกี่ยวกับมาตรฐานนานาชาติ (Who does the work)
ลักษณะการปฏิบัติงานด้านเทคนิคทั้งหลายขององค์การ ISO มีรูปแบบของ “การมอบหมายและกระจายงาน (Decentralization)” ออกไปในแต่ละส่วนอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากในสภาพปัจจุบัน มีคณะทำงานที่เกี่ยวข้องอยู่รวมกันเป็นจำนวนที่มากกว่า 3,041 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย “คณะกรรมการด้านเทคนิค (Technical Committee; TC) จำนวน 193 กลุ่ม” “กลุ่มคณะกรรมการย่อย (Sub-Committee; SC)” และ “กลุ่มผู้ปฏิบัติงานย่อย (Working Groups; WG)” เป็นต้น ภายในกลุ่มคณะกรรมการต่างๆ เหล่านี้ ส่วนใหญ่ยังประกอบไปด้วยตัวแทนที่มาจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ สถาบันการศึกษาและการวิจัย หน่วยงานของรัฐบาล องค์การคุ้มครองผู้บริโภค และสถาบันรับรองมาตรฐานนานาชาติจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ล้วนถูกคัดเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกร่วมกัน เพื่อทำหน้าที่กำหนดหรือแก้ไขปัญหาด้านมาตรฐานปฏิบัติในระดับโลก เพราะฉะนั้นจึงมีรายงานว่า มีจำนวนสมาชิกหรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องอยู่รวมกันถึง 30,000 คน สำหรับการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบปีขององค์การ ISO
โดยทั่วไปภารกิจหลัก หรือระดับความรับผิดชอบในการบริหารงาน เพื่อกำหนดมาตรฐานนานาชาติฉบับใหม่ขึ้นมาแต่ละฉบับสำหรับองค์การ ISO ส่วนใหญ่จะตกเป็นหน้าที่ประการสำคัญของ “สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ (National Standard Bodies)” ที่แสดงความเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และในขณะเดียวกันก็ดำรงสภาพความเป็นสมาชิกสามัญส่วนหนึ่งขององค์การ ISO อยู่ร่วมด้วยเช่น AFNOR (ฝรั่งเศส) ANSI (สหรัฐอเมริกา) BSI (อังกฤษ) CSBTS (จีน) DIN (เยอรมันนี) SIS (สวีเดน) ฯลฯ ซึ่งจะได้รับการมอบหมายจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การ ISO ให้เข้ามาทำหน้าที่ และรับผิดชอบร่วมกันในการเป็น “คณะกรรมการมาตรฐาน (Standard Committee)” นอกจากนี้ประธานของคณะกรรมการมาตรฐานดังกล่าว จะทำการคัดเลือกบุคคลจำนวนหนึ่งหรือสองคนจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น ให้เข้ามาทำหน้าที่เป็น “เลขาธิการ (Secretariat)” สำหรับการติดต่อประสานงานร่วมกัน หรือการบริหารงานด้านเทคนิคในการยกร่างตัวมาตรฐานฉบับใหม่ขึ้นมาทั้งหมด โดยเฉพาะการมีวัตถุประสงค์หลักที่กำหนดไว้อย่างเด่นชัดอีกประการหนึ่งก็คือ เพื่อต้องการให้เกิดสภาพของการดำเนินงานในการยกร่างมาตรฐาน เป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นตอนของการขอรับรอง “ฉันทามติ” หรือเกิดผลของการยอมรับจากประเทศภาคีสมาชิกต่างๆ ทั่วโลกในการนำตัวมาตรฐานฉบับนั้น ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมต่อไป
สำหรับหน้าที่และภารกิจหลักของ “สำนักเลขาธิการกลาง (Central Secretariat)” ขององค์การใหญ่ ISO ซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ก็จะปฏิบัติงานเสริมในลักษณะอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ระบบเอกสาร หรือข้อมูลทุกประเภทที่ถูกสร้างขึ้นมาจากผลการปฏิบัติงานของการประชุมร่วมกันสำหรับคณะกรรมการมาตรฐานต่างๆ ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาในเบื้องต้นนั้น ได้มีการเวียนแจกจ่ายออกไปอย่างทั่วถึง และรับทราบโดยทั่วกันในทุกจุดของการปฏิบัติงานยกร่างตัวมาตรฐาน และสิ่งประการสำคัญที่สุดก็คือ ต้องการกระทำเพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ผลงานการยกร่างมาตรฐานที่ผ่านออกมาจากการดำเนินงานของคณะกรรมการด้านเทคนิคต่างๆ จะต้องถูกแก้ไขปรับปรุงให้มีรายละเอียดที่เหมาะสม หรือสามารถถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นเพียง “ร่างของมาตรฐานฉบับนานาชาติ (Draft International Standard; DIS)” เท่านั้น ซึ่งในที่สุดจะต้องผ่านการออกเสียงประชามติอีกขั้นตอนหนึ่ง เพื่อก่อให้กิดการยอมรับมาตรฐานดังกล่าวจากประเทศภาคีสมาชิกต่างๆ ขององค์การ ISO ต่อไป เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติการกำหนดและนัดหมายการประชุมสำหรับคณะกรรมการด้านเทคนิค หรือกลุ่มคณะกรรมการย่อยต่างๆ เหล่านี้ จึงถือเป็นภาระหน้าที่หลักของสำนักเลขาธิการกลางแห่งนี้โดยตรง ซึ่งจะมีการกำหนดทั้งระยะเวลาและสถานที่ของการประชุมอย่างแน่ชัดในทุกครั้งของรอบปีหนึ่งๆ จากรายละเอียดเท่าที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความอย่างสมบูรณ์ว่า ผลการดำเนินงานในการยกร่างมาตรฐานฉบับนานาชาติ จะเป็นเพียงผลงานที่แท้จริงสำหรับประเทศภาคีสมาชิกขององค์การ ISO เท่านั้น รายละเอียดของตัวมาตรฐานฉบับนานาชาติที่ใช้ประโยชน์กันอยู่ทั่วไปในขณะนี้บางฉบับ ยังเกิดขึ้นมาจากผลการดำเนินงานของประเภทสมาชิกอื่นๆ เช่น ประเทศที่เป็นสมาชิกสมทบขององค์การ ISO ได้เข้ามาร่วมในการกำหนด หรือมีส่วนเสริมในกระบวนการยกร่างอีกด้วย เป็นต้น
ในส่วนของประเทศภาคีสมาชิกแต่ละประเทศ ถ้ามีความสนใจในเรื่องของการปฏิบัติงานมาตรฐานในด้านใดๆ ก็มีสิทธิอย่างถูกต้องอีกเช่นกันในการขอร่วมเข้าเป็นคณะกรรมการกำหนดรายละเอียดของมาตรฐานปฏิบัติได้อย่างเปิดเผย รวมถึงประเภทขององค์การนานาชาติอื่นๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน หรือผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานเกี่ยวข้องกับองค์การ ISO โดยตรงนั้น ก็สามารถเข้ามาร่วมปฏิบัติภารกิจหลักสำหรับการยกร่างมาตรฐานได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้องค์การ ISO ยังมีการปฏิบัติงานร่วมกันในลักษณะที่ใกล้ชิดกับองค์การนานาชาติอื่นๆ อีกด้วย เช่น International Electrotechnical Commission (IEC) ซึ่งทำหน้าที่โดยตรงในการกำหนดมาตรฐานปฏิบัติสำหรับวิศวกรรมไฟฟ้า หรือเครื่องมืออุปกรณ์ประเภท Electrotechnical เป็นต้น
องค์การ ISO ยังทำหน้าที่ในการจัดพิมพ์บันทึกขึ้นมาอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ISO Memento โดยกล่าวถึงรายละเอียดที่ชัดเจนสำหรับการระบุถึงขอบเขตความรับผิดชอบ ลักษณะโครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการสำหรับการดำเนินงานในคณะกรรมการด้านเทคนิคที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อการยกร่างมาตรฐานนานาชาติฉบับต่างๆ โดยตรง สำหรับขั้นตอนและรายละเอียดเสริมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องการพัฒนามาตรฐานฉบับนานาชาตินั้น มีการกล่าวถึงไว้อย่างชัดเจนอีกเช่นกันในส่วนที่เรียกว่า “กฏเกณฑ์สำหรับการปฏิบัติงานมาตรฐาน ส่วนที่ 1 (ISO/IEC Directives Part 1)” (ผู้ที่สนใจรายละเอียดสามารถค้นคว้าได้เพิ่มเติมจาก http://www.iso.ch/infoe/tcinfo.html) นอกจากนี้บัญชีรายชื่อขององค์การนานาชาติต่างๆ อีกจำนวนไม่น้อยกว่า 500 แห่งทั่วโลก ซึ่งมีสถานะเทียบเท่าและจัดเป็นผู้ติดต่อประสานงาน (Liaison) โดยตรงกับคณะกรรมการด้านเทคนิค หรือกลุ่มคณะกรรมการย่อยขององค์การ ISO ต่างๆ ยังถูกตีพิมพ์รายละเอียดไว้อย่างชัดเจนอยู่ภายในรายงานที่เรียกว่า “ISO Liaisons”
4.4 ของเขต และสาขาของการปฏิบัติงานสำหรับองค์การ ISO (What fields are covered)
ขอบเขตการปฏิบัติงานขององค์การ ISO ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ในสาขาวิชาทางด้านใดด้านหนึ่งเพียงประการเดียวเท่านั้น แต่ครอบคลุมรายละเอียดของผลการปฏิบัติงานมาตรฐานด้านเทคนิคทั้งหมดในทุกสาขาวิชา ยกเว้นแต่เฉพาะในเรื่องของวิศวกรรมไฟฟ้าหรืออิเล็กทรอนิคส์เท่านั้น ซึ่งถือว่า เป็นภาะระหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงขององค์การ IEC นอกจากนี้ผลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของมาตรฐานปฏิบัติ สำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศทุกรูปแบบ องค์การ ISO ยังมีการปฏิบัติงานร่วมกันกับองค์การ IEC ในลักษณะของการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภายใต้โครงการที่เรียกว่า “Joint ISO/IEC Technical Committee (JTC 1)” ขึ้นมาทำหน้าที่เพื่อปฏิบัติงานยกร่างมาตรฐานดังกล่าวโดยตรง (สำหรับผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Internet ที่ http://www.iso/ch/meme/JTC1.html)
ผลการทำงานร่วมกันในลักษณะของ JTC1 ระหว่างองค์การ ISO และองค์การ IEC ต่อการยกร่างมาตรฐานขึ้นมา
4.5 หลักการและขั้นตอนของการพัฒนามาตรฐาน ISO (How are ISO standards developed)
การพัฒนามาตรฐาน ISO ฉบับต่างๆ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ ล้วนเกี่ยวข้องกับหลักการที่สำคัญ ดังนี้
·ผลต้องเป็น “ฉันทามติ หรือเป็นที่ยอมรับร่วมกัน”
กล่าวคือ ข้อเรียกร้องจากบุคคลหรือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้รับจ้างการผลิตหรือผู้ใช้ประโยชน์ กลุ่มผู้บริโภค ห้องทดสอบและปฏิบัติการ รัฐบาล สมาคมทางวิชาชีพวิศวกรรม และสถาบันการศึกษาหรือการวิจัย เป็นต้น จำเป็นจะต้องนำสิ่งที่กล่าวถึงเหล่านี้ เข้ามาพิจารณา หรือตระหนักร่วมด้วยสำหรับการกำหนดเป็นรายละเอียดต่างๆ ที่บรรจุอยู่ภายในตัวมาตรฐานเหล่านั้นโดยตรง
·สามารถใช้ประโยชน์ได้กับทุกลักษณะของการประกอบการทางธุรกิจ
ทั้งนี้รายละเอียดของมาตรฐานปฏิบัติจะต้องตอบสนอง และสามารถสร้างระดับความพึงพอใจให้กับผู้ประกอบการ หรือลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง และครอบคลุมการใช้ประโยชน์ไปทั่วโลก
·เป็นไปด้วย “ความสมัครใจ (Voluntary)” ในการนำไปใช้ประโยชน์
มาตรฐานปฏิบัติที่เป็นรูปแบบสากลนิยม ต้องเกี่ยวเนื่องกับการเป็นส่วนหนึ่งของ “กลไกหรือแรงขับเคลื่อนด้านการตลาด (Market-driven)” และต้องยึดถืออยู่บนพื้นฐานของการยินยอมหรือความสมัครใจ (โดยไม่มีการบังคับ) ของผู้นำไปใช้ประโยชน์ในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลไกของการตลาดดังกล่าว
สืบเนื่องมาจากมาตรฐานนานาชาติทุกฉบับที่ถูกสร้างหรือกำหนดขึ้นมาโดยองค์การ ISO ยังเป็นผลส่วนหนึ่งของการเห็นพ้องต้องกันในหมู่ประเทศภาคีสมาชิกที่ยินยอมพร้อมใจในการรับรองมาตรฐานดังกล่าว เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ หรือถูกจัดตั้งขึ้นมาสำหรับการยึดถือเป็นมาตรฐานประจำชาติส่วนหนึ่งสำหรับภายในประเทศของตน เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติขั้นตอนที่สำคัญสำหรับการสร้าง หรือพัฒนามาตรฐานฉบับนานาชาติขึ้นมา โดยผ่านการดำเนินงานจากคณะกรรมการด้านเทคนิค (ISO/TC) หรือกลุ่มคณะกรรมการย่อย (ISO/SC) ต่างๆ ขององค์การ ISO จึงมีรายละเอียดของกระบวนการปฏิบัติงานอยู่ 6 ขั้นตอน ดังนี้ 7/
ขั้นตอนที่ 1:การเสนอหรือยื่นคำขอโครงการ (Proposal stage)
ขั้นตอนที่ 2:การตระเตรียมการปฏิบัติงานเพื่อการยกร่างเป็นมาตรฐานขึ้นมา (Preparatory stage)
ขั้นตอนที่ 3:การพิจารณารายละเอียดของคณะกรรมการด้านเทคนิค (Committee stage)
ขั้นตอนที่ 4:การสอบถามความคิดเห็นจากบุคลทุกฝ่าย (Enquiry stage)
ขั้นตอนที่ 5: การอนุมัติและรับรองผลเป็นมาตรฐานนานาชาติ (Approval stage)
ขั้นตอนที่ 6:การจัดพิมพ์และเผยแพร่มาตรฐานนานาชาติ (Publication stage)
กระบวนการและขั้นตอน ในการพัฒนาหรือยกร่างมาตรฐานนานาชาติขึ้นมา (International Standards Development Process) โดยผ่านการดำเนินงานด้วยคณะกรรมการด้านเทคนิคต่างๆ ขององค์การ ISO
สำหรับรายละเอียดเสริมหรือเพิ่มเติมประการอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้ถ้าบุคคลท่านใดสนใจต้องการจะศึกษาเพิ่มเติม ก็สามารถสืบค้นได้จาก Internet ภายใต้ชื่อเรื่องที่ว่า ISO/IEC Directives, Part 1: Procedure for the technical work ที่ http://www.iso.ch/infoe/proc.html
นอกจากนี้ถ้ารายละเอียดของมาตรฐานฉบับใดๆ ได้ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมาอย่างเสร็จสมบูรณ์เป็นการก่อนล่วงหน้าที่จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณาสำหรับการยกร่างมาตรฐานในขั้นตอนแรกนั้น ก็อาจไม่จำเป็นต้องปฏิบัติงานตามรายละเอียดทั้ง 6 ขั้นตอนดังกล่าวเรียงกันไปเป็นตามลำดับ ขอยกตัวอย่างเช่น ต้นร่างของมาตรฐานฉบับหนึ่งได้ผ่านการพิจารณาอย่างสมบูรณ์มาแล้วจากหน่วยงาน หรือองค์การภาครัฐบาลแห่งหนึ่งที่เป็นสมาชิกขององค์การ ISO โดยตรง ก็ย่อมสามารถข้ามขั้นตอนบางส่วนของการปฏิบัติงานเหล่านี้ไปได้ โดยเฉพาะลักษณะของการยินยอมให้มีการปฏิบัติด้วยวิธีการเช่นนี้ จะเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติที่ถูกกำหนดหรือสร้างขึ้นมาโดยองค์การ ISO ซึ่งเรียกว่า “Fast-track procedure” เพราะฉะนั้นต้นร่างของมาตรฐานฉบับดังกล่าว จึงสามารถยื่นเสนอเข้าสู่โดยตรงเพื่อหวังผลในการพิจารณาสำหรับการปรากฏสภาพที่เป็น “Draft International Standard; DIS” ได้ แต่ต้องอนุญาตให้ประเทศภาคีสมาชิกต่างๆ ขององค์การ ISO ทั่วโลก ได้อ่านหรือปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดอย่างทั่วถึงก่อน (โดยสามารถเริ่มต้นเข้าสู่ขั้นตอนที่ 4 ได้) หรือในอีกกรณีหนึ่ง ถ้าตัวร่างเอกสารที่เป็นมาตรฐานฉบับนั้น ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาจากผลการปฏิบัติงานขององค์การมาตรฐานประจำประเทศใดๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งในที่สุดก็ถูกยอมรับมติของผลการพิจารณาดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้วจาก “สภาที่ประชุมใหญ่หรือคณะมนตรี (ISO Council)” ขององค์การ ISO ก็ย่อมมีผลเท่ากับว่า ต้นร่างของมาตรฐานฉบับนั้น มีสถานะที่แท้จริงเป็น “Final Draft International Standard; FDIS” (ในขั้นตอนที่ 5) ซึ่งทั้งนี้ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านการเสนอเป็นลำดับขั้นตอนตามที่กล่าวถึงไว้ทั้งหมดใน 6 ขั้นตอนในเบื้องต้นแต่ประการใด
เมื่อกล่าวถึงขั้นตอนหรือกระบวนการทั้ง 6 ขั้นตอน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาหรือการสร้างมาตรฐานปฏิบัติขึ้นมาแต่ละฉบับนั้น มีรายละเอียดที่ควรสนใจเพิ่มเติม ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1: การเสนอหรือยื่นคำขอโครงการ (Proposal stage)
ขั้นตอนแรกในการปฏิบัติงานสำหรับการสร้าง หรือพัฒนามาตรฐานนานาชาติฉบับใหม่ขึ้นมา ล้วนจำเป็นจะต้องมีการระบุเหตุผลออกมาอย่างชัดเจน หรือก่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า เป็นเพราะด้วยสาเหตุใด และทำไมจึงต้องมีความจำเป็นในการพัฒนามาตรฐานนานาชาติฉบับดังกล่าวขึ้นมาโดยตรง เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการ “ยื่นคำขอโครงการสำหรับการยกร่างมาตรฐานฉบับใหม่ (New work item proposal; NP)” ต่อคณะกรรมการ หรือสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับ TC/SC คณะนั้นๆ เพื่อให้มีประชามติออกเสียงรับรองผลก่อนเป็นเบื้องต้น รวมถึงมีการกำหนดจัดภารกิจหลักดังกล่าว บรรจุไว้อยู่ภายในแผนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการต่อไปอีกด้วย
ส่วนโครงการที่ผ่านการยื่นคำขอแล้วนั้น จะต้องได้รับผลการออกเสียงประชามติยอมรับและเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่จาก “สมาชิกสมทบ (Participation members)” ที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ TC/SC และจำเป็นอย่างน้อยที่จะต้องมีสมาชิกสมทบเหล่านี้ อย่างน้อยในจำนวน 5 ท่าน ที่ประกาศเจตนารมย์ออกมาอย่างเด่นชัดในการแสดงความรับผิดชอบ หรือผูกมัดตนเองเข้ากับการร่วมมือปฏิบัติงานในการยกร่างตัวมาตรฐานฉบับนั้นอย่างแข็งขัน หรือสามารถอุทิศเวลาให้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะเวลาของการปฏิบัติงานภายใต้โครงการดังกล่าว ในขั้นตอนเช่นนี้ ยังต้องมีการประกาศแต่งตั้ง “หัวหน้าโครงการ (Project leader)” ขึ้นมา 1 ท่าน เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างรายละเอียดสำหรับมาตรฐานต่อไป
ขั้นตอนที่ 2: การตระเตรียมการปฏิบัติงานเพื่อการยกร่างเป็นมาตรฐานขึ้นมา (Preparatory stage)
โดยทั่วไปกลุ่มผู้ปฏิบัติงานต่างๆ (Working groups) ที่ปรากฏรายชื่ออยู่ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการ TC/SC นั้นๆ ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกือบทั้งหมด และมีประธานอยู่หนึ่งคนที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งมีภารกิจหลักในการจัดเตรียมหรือควบคุม “การปฏิบัติงานยกร่างตัวมาตรฐาน (Working draft; WD)” ฉบับใหม่ขึ้นมาทั้งหมด เพราะฉะนั้นการสร้างรายละเอียดของ Working drafts เหล่านี้ จึงมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามขอบเขต และภารกิจหลักของงานที่ต้องปฏิบัติสำหรับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานแต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ แต่ในประการสุดท้าย จะมีการนำรายละเอียดทั้งหมดจากกลุ่มทุกกลุ่มเข้ามารวมกันอีกครั้งหนึ่งในระยะภายหลัง โดยเฉพาะจำเป็นจะต้องได้รับการพิจารณาเห็นชอบในรายละเอียดร่วมด้วย จากคณะกรรมการ TC/SC ซึ่งถ้ามีมติเห็นว่า ต้นร่างของมาตรฐานฉบับนั้น สามารถครอบคลุมรายละเอียดที่สนใจร่วมกัน หรือแสดงความเป็นมาตรฐานได้ในระดับที่สูงแล้ว และเหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาด้านเทคนิคอย่างได้ผลเป็นอย่างดี เมื่อผ่านขั้นตอนการยอมรับในฉันทามติครั้งนี้แล้ว ก็อาจเชื่อถือได้ว่า ร่างของมาตรฐานฉบับดังกล่าว จะมีลักษณะที่เป็น “Committee Draft; CD” ได้อย่างแท้จริงประการหนึ่ง
รายละเอียดของร่างมาตรฐาน ISO 9000:2000 ฉบับ Revision ในขั้นตอนของ CD2 ซึ่งผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการด้านเทคนิค (TC 176) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มาจากผลการประชุมร่วมกันที่เมือง Colima ประเทศ Mexico เมื่อธันวาคม ปี 1999
ขั้นตอนที่ 3: การพิจารณารายละเอียดของคณะกรรมการด้านเทคนิค (Committee stage)
ภายหลังที่ร่างของมาตรฐาน CD ฉบับแรก ได้ผ่านพ้นการพิจารณาออกมาจากคณะกรรมการด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำมาตรฐานฉบับดังกล่าวแล้ว ตัวมาตรฐานจะถูกส่งต่อไปยังสำนักงานเลขาธิการกลางขององค์การ ISO เพื่อจดทะเบียนรับรองผลต่อไป รวมถึงตัวต้นฉบับนั้นๆ ของมาตรฐาน จะถูกเวียนแจกจ่าย หรือพิมพ์เผยแพร่ส่งออกไปให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทั่วๆ ไปได้รับทราบ เพื่อทำการเสนอแนะความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงส่งผลการแก้ไขในรายละเอียดต่างๆ กลับคืนมาให้สมาชิกสมทบภายใต้คณะกรรมการ TC/SC ได้ปรับปรุงตามที่เสนอไว้ ในที่สุดเมื่อมีการออกเสียงประชามติเป็นไปอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง จนได้รับผลลัพธ์ออกมาเป็น “ฉันทามติ” ที่เห็นพ้องต้องกัน หรือยอมรับในรายละเอียดของการปฏิบัติงานในมาตรฐานเป็นส่วนใหญ่แล้ว ต้นฉบับของมาตรฐานที่ผ่านความเห็นชอบ และกระบวนการดำเนินงานมาทั้งหมดนี้ จะมีลักษณะที่เรียกว่าเป็น “ร่างของมาตรฐานฉบับนานาชาติ (Draft International Standard; DIS)” ได้ทันที
ขั้นตอนที่ 4: การสอบถามความคิดเห็นจากบุคลทุกฝ่าย (Enquiry stage)
ร่างของมาตรฐานฉบับ DIS จำเป็นจะต้องถูกเวียนแจกจ่าย เพื่อส่งออกไปอย่างทั่วถึงให้กับภาคีสมาชิกขององค์การ ISO ทุกประเทศ ได้พิจารณาเป็นเบื้องต้นสำหรับการปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดบางประการ รวมถึงเพื่อการขอประชามติออกเสียงรับรองมาตรฐานในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ประมาณ 5 เดือนเป็นอย่างต่ำ ภายหลังเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ถ้าผลที่ได้รับปรากฏออกมากล่าวคือ จำนวน 2/3 ของสมาชิกสมทบในคณะกรรมการ TC/SC ลงมติเห็นชอบด้วย (Approval) หรือมีจำนวนประเทศภาคีสมาชิกทั้งหมดไม่เกิน 1/4 ของจำนวนประเทศทั้งหมดออกเสียงในกรณีที่ไม่ยอมรับ (Negative votes) รายละเอียดของมาตรฐานฉบับนี้แล้ว ก็สามารถสรุปผลได้ว่า ร่างของมาตรฐานฉบับนี้ มีระดับความสมบูรณ์เพียงพอที่จะปรากฏสภาพออกมาเป็น “ร่างฉบับสุดท้ายของมาตรฐานนานาชาติ (Final Draft International Standard; FDIS)” ได้ ส่วนในกรณีถ้าเกิดเหตุการณ์ในทางตรงกันข้าม เช่น ผลการออกเสียงครั้งนั้น เป็นไปในลักษณะที่ไม่ยอมรับร่างของมาตรฐานฉบับดังกล่าวทั้งหมด ก็จำเป็นจะต้องถูกส่งกลับคืนไปให้คณะกรรมการ TC/SC นำไปศึกษาเพิ่มเติม หรือทำการแก้ไขปรับปรุงในรายละเอียดบางส่วนของเนื้อหาที่ถูกบรรจุอยู่ในมาตรฐานต่อไป และในที่สุดก็จะถูกส่งกลับคืนเวียนมาให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง สำหรับการออกเสียงรับรองเป็นครั้งสุดท้ายจากประเทศภาคีสมาชิกทั้งหมด ถ้าผลการออกเสียงผ่านตามกฏเกณฑ์ที่กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น ก็ถือได้ว่า มาตรฐานฉบับนั้น จะมีสิทธิของการเป็น FDIS ได้
รายละเอียดของร่างมาตรฐาน ISO 9000:2000 ฉบับ FDIS ซึ่งผ่านการพิจาณารับรองมติจากผลการออกเสียงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ขั้นตอนที่ 5: การอนุมัติและรับรองผลเป็นมาตรฐานนานาชาติ (Approval stage)
ร่างของมาตรฐานฉบับที่คงสถานภาพเป็น FDIS จะถูกจัดส่ง และเวียนเผยแพร่ให้ทราบต่อไปยังภาคีสมาชิกขององค์การ ISO ทุกประเทศ โดยผ่านการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการกลางองค์การ ISO จะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อต้องการขอมติในการออกเสียงขั้นสุดท้าย (Final vote) สำหรับ “การยอมรับ (Yes)” หรือ “ไม่ยอมรับ (No)” มาตรฐานฉบับดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ประมาณ 2 เดือน ถ้ามีการส่งคำแนะนำอื่นๆ หรือต้องการให้เกิดการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดด้านเทคนิคบางประการ สำหรับร่างของมาตรฐานฉบับนี้ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดแล้วนั้น ในทางปฏิบัติจะไม่มีการพิจารณารายละเอียดใดๆ นำเข้ามาเพิ่มเติมในตัวร่างทั้งสิ้น แต่จะนำความคิดเห็นเช่นนั้นเก็บรวบรวมไว้ใช้ประโยชน์ เพื่อประกอบการพิจารณา หรือแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดต่อไปสำหรับการยกร่างมาตรฐานฉบับนานาชาติดังกล่าวในอนาคต เพราะฉะนั้นถ้าเสียงส่วนใหญ่ในจำนวน 2/3 ของสมาชิกสมทบสำหรับคณะกรรมการ TC/SC เห็นชอบด้วยในตัวร่าง และในขณะเดียวกันมีจำนวนที่ไม่เกิน ¼ ของประเทศภาคีสมาชิกทั้งหมดขององค์การ ISO ในขณะนั้น ออกเสียงไม่ปฏิเสธรายละเอียดของมาตรฐานที่ถูกนำเสนอในครั้งนี้แล้ว ก็ถือได้ว่า มาตรฐานฉบับนั้น จะมีสภาพเป็น “มาตรฐานฉบับนานาชาติ (International Standard; IS)” ได้อย่างสมบูรณ์ที่แท้จริง
นอกจากนี้ในกรณีที่ตัวร่างของมาตรฐานที่ถูกจัดส่งขึ้นมาพิจารณาครั้งนั้น มีผลที่ไม่ผ่านการออกเสียงรับรองจากประเทศภาคีสมาชิก ก็จำเป็นจะต้องส่งกลับคืนไปให้คณะกรรมการ TC/SC พิจารณาปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดใหม่อีกครั้งหนึ่ง และจะต้องนำมาเข้ากระบวนการออกเสียงรับรองมาตรฐานเช่นนี้ร่วมด้วยเป็นประการสุดท้ายตามลำดับ
ขั้นตอนที่ 6: การจัดพิมพ์และเผยแพร่มาตรฐานนานาชาติ (Publication stage)
เมื่อใดก็ตามที่ต้นร่างของมาตรฐานนานาชาติฉบับดังกล่าว ซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติรับรองผลแล้วนั้น รายละเอียดที่สมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการจะดำรงคงไว้ และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวบรรณาธิการ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมรายละเอียดทั้งหมด หรืออาจพิจารณาแก้ไขตามความจำเป็นในสภาพบางครั้งก็ได้ ภายหลังจากนั้นตัวร่างสุดท้ายของมาตรฐานฉบับนี้ จะถูกจัดส่งไปให้เลขาธิการกลางขององค์การ ISO ได้รับทราบ และพิมพ์เผยแพร่ออกมาเป็น “มาตรฐานนานาชาติฉบับสมบูรณ์ (International Standard; IS)” ต่อไป
รายละเอียดของ ISO 9000:2000 ฉบับ IS ซึ่งได้รับการจัดทำและตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาเมื่อ 15 ธันวาคม 2000 โดยหน่วยงานมาตรฐานของ ANSI และ ASQ ของประเทศสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ในทางปฏิบัติ องค์การ ISO ได้กำหนดไว้เป็นหลักเกณฑ์อย่างชัดเจนประการหนึ่งว่า สืบเนื่องมาจากมีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมให้มาตรฐานนานาชาติแต่ละฉบับ อาจพ้นสภาพ หรือมีความเก่าแก่ล้าสมัยขึ้นมาได้ในแต่ละช่วงระยะเวลา โดยเฉพาะอาจเกิดขึ้นมาจากอิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ข่าวสาร และวิธีการปฏิบัติงานอย่างรวดเร็ว รวมถึงลักษณะความต้องการด้านคุณภาพหรือความปลอดภัยแบบใหม่ เป็นต้น เมื่อนำปัจจัยเหล่านี้ทุกประการมาพิจารณาร่วมด้วยนั้น สาระและเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ภายในทุกๆ ฉบับของมาตรฐานนานาชาติ จึงอาจจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกๆ รอบของระยะเวลา 5 ปี โดยถือว่า เป็นภารกิจและความรับผิดชอบของคณะกรรมการด้านเทคนิคชุดต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องในการยกร่างตัวมาตรฐานฉบับนั้นขึ้นมาโดยตรง รวมถึงยังเป็นสิทธิ์ของสมาชิกสมทบ หรือเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการ TC/SC จะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า มาตรฐานนานาชาติฉบับนั้น สมควรจะใช้งานอยู่ต่อไป (Confirmation) หรือจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดครั้งใหม่ (New Revision) หรืออาจต้องพิจารณาเพิกถอน (Withdrawal) การใช้ประโยชน์ออกไปจากสภาพของการเป็นมาตรฐานปฏิบัติก็ได้อีกเช่นกัน เป็นต้น
ในสภาพปัจจุบันผลงานประการสำคัญที่ผ่านการดำเนินงานขององค์การ ISO สามารถสะท้อนออกมาให้เห็นได้ในลักษณะของการปรากฏเป็นจำนวนมาตรฐานนานาชาติเกิดขึ้นมา ไม่น้อยกว่า 16,500 ฉบับ ซึ่งถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ออกมาเป็นต้นฉบับ ทั้งเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสไม่น้อยกว่า 620,000 หน้ากระดาษ (ไม่รวมถึงรายละเอียดของคำศัพท์ หรือคำจำกัดความอื่นๆ ที่ถูกพิมพ์ออกไปในภาษาอื่นๆ เกือบทั่วโลก) สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นบัญชีที่แสดงรายชื่อของมาตรฐานนานาชาติฉบับต่างๆ ได้ทั้งหมดจากหัวข้อเรื่อง ISO Catalogue ที่บรรจุอยู่ภายใน Internet ที่ http.//www.iso.ch/infoe/catinfo.html
4.6 แหล่งสนับสนุนด้านการเงินสำหรับองค์การ ISO (How is ISO’s work financed)
สถานภาพและแหล่งทางการเงิน เพื่อสนับสนุนผลการปฏิบัติงานขององค์การ ISO จะแสดงความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการกระจายตัวอย่างเป็นอิสระของลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ เหล่านี้ได้กล่าวถึงมาบ้างแล้วในเบื้องต้น กล่าวคือ ในด้านหนึ่งจะเกี่ยวข้องกับการใช้เงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมหลักของสำนักเลขาธิการกลางองค์การ ISO และอีกด้านหนึ่งจะเป็นการใช้เงินสำหรับการยกร่างตัวมาตรฐานฉบับต่างๆ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจำเป็นต้องผ่านการดำเนินงานโดยอาศัยคณะกรรมการ ISO/TC หรือ ISO/SC เป็นประการสำคัญ
แหล่งเงินทุนในส่วนแรกที่ได้รับมา เพื่อการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการกลางองค์การ ISO นั้น ในจำนวน 80% ของรายได้ทั้งหมด มาจากค่าสมัครสำหรับสมาชิกประเภทต่างๆ (Member fee) ของแต่ละประเทศทั่วโลกที่ต้องจ่ายเงินสนับสนุนให้แก่องค์การโดยตรง และรายได้อีกจำนวน 20% ของแหล่งเงินทุน จะมาจากการขายรายละเอียดของสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการเป็นมาตรฐานนานาชาติขององค์การ ISO และสื่อประเภทอื่นๆ เป็นต้น ตามปรกติค่าบอกรับการเป็นสมาชิกที่แต่ละประเทศ ที่จะต้องจ่ายให้กับการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการกลางแห่งนี้ จะถูกพิจารณาและคิดคำนวณออกมาในรูปแบบของ “หน่วยการจ่าย (Unit of payment)” ด้วยอัตราเงิน Swiss francs (CHF) ซึ่งมีค่าที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละประเทศที่สมัครเป็นสมาชิกเป็นหลัก สำหรับวิธีการคำนวณจากจำนวนหน่วยของการจ่ายเงินดังกล่าวของสมาชิกแต่ละประเภท จะยึดถือและอาศัยรายละเอียดของข้อมูลพื้นฐานปัจจัย หรือดัชนีชี้บ่งทางเศรษฐกิจเข้ามาพิจารณาเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ เช่น จำนวนมูลค่าผลิตภัณฑ์รวมภายในประเทศ (Gross National Product; GNP) จำนวนมูลค่าเพื่อการส่งออกและนำเข้า ฯลฯ นอกจากนี้ลักษณะของการจ่ายเงินสนับสนุนดังกล่าว ยังมีการคิดคำนวณ และกำหนดอัตราขึ้นมาใหม่ในทุกปีตามวาระการประชุมใหญ่ของสมัชชาองค์การ ISO อีกด้วย
สำหรับการสนับสนุนทางแหล่งการเงินในส่วนที่สองนั้น ยังมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับรายละเอียดในเรื่องของแต่ละประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกขององค์การ ISO โดยตรง จำเป็นจะต้องปฏิบัติและจ่ายเงินบางส่วน เพื่อใช้สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินงานยกร่างมาตรฐานขึ้นมาใหม่ในแต่ละฉบับ ซึ่งถือว่า เป็นภารกิจหลักและการปฏิบัติงานในหน้าที่ของคณะกรรมการด้านเทคนิคแต่ละกลุ่มเป็นประการสำคัญ โดยทั่วไปมีการประเมินเพิ่มเติมออกมาอย่างชัดเจนว่า ลักษณะของค่าใช้จ่ายซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการกลางนั้น ส่วนใหญ่จะมีค่าตกอยู่ประมาณ 1/5 ของจำนวนค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ใช้ประโยชน์สำหรับการบริหารงานกลางหรือการจัดการขององค์การ ISO ทั้งหมดในแต่ละรอบปี
4.7 ความเป็นหุ้นส่วน หรือการแสดงความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับองค์การอื่นๆ (Partners with other organizations)
·หุ้นส่วนในระดับนานาชาติ (International partners)
องค์การ ISO ยึดถือปณิธานและความมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อแสดงความเป็นหุ้นส่วนร่วมกันที่ดีกับองค์การมาตรฐานนานาชาติอื่นๆ เช่น IEC เป็นต้น ในทางปฏิบัติองค์การ ISO และ IEC ยังได้ปฏิบัติงานร่วมกันภายใต้โครงการอื่นๆ บางประเภทกับองค์การ ITU (International Telecommunication Union) อีกด้วย ประกอบกับองค์การ ISO และ องค์การ IEC ต่างดำรงสถานะภาพเป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐบาล (Non-governmental body) ด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งผิดกับ ITU ที่ถือว่า เป็นหน่วยงานส่วนหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับสังกัดขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Organization; UN) และแสดงบทบาทในการเป็นหน่วยงานของรัฐบาลอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามวิธีการทำงานทั้ง 3 องค์การนี้ ค่อนข้างมีความสัมพันธ์ร่วมกันในระดับที่สูงต่อการแสดงความรับผิดชอบในเรื่องของการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารทางโทรคมนาคม เป็นต้น
องค์การ ISO ยังได้สร้างความเป็นหุ้นส่วนในลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ต่อการกำหนดนโยบายและวิธีปฏิบัติต่างๆ ร่วมกับ “องค์การค้าโลก (WTO)” ขึ้นมาอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งหมายให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ร่วมกันในการสนับสนุนระบบการแลกเปลี่ยนการค้าเสรีที่อิสระ และเต็มเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรมในการค้าขายระหว่างประเทศ โดยทั้งนี้องค์การ ISO จะนำเสนอรายละเอียดของมาตรฐานด้านเทคนิคประการสำคัญต่างๆ เข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อการสนับสนุนการเจรจาทางการค้าของโครงการต่างๆ ที่ WTO กำลังดำเนินการอยู่ในสภาพปัจจุบัน และก่อให้เกิดการขยายตัวต่อการปฏิบัติงานภายใต้ข้อตกลงร่วมกันหรือการทำสนธิสัญญาเป็นไปได้อย่างกว้างขวาง และมีประสิทธิภาพขึ้นมามากที่สุด
·หุ้นส่วนในระดับภูมิภาค (Regional partners)
ภาคีสมาชิกจำนวนมากขององค์การ ISO ส่วนใหญ่จะปรากฏเป็นสถาบัน หรือหน่วยงานมาตรฐานที่สังกัดอยู่ภายในภูมิภาคแต่ละแห่งทั่วโลกอยู่แล้วในขณะนั้นๆ สิ่งนี้จึงเป็นคุณประโยชน์ที่ดี ซึ่งช่วยให้การปฏิบัติงานขององค์การ ISO มีการสร้างสานความสัมพันธ์ได้อย่างใกล้ชิดกับตัวแทนของหน่วยงานมาตรฐานประจำชาติเหล่านี้ และเกิดการแพร่ขยายตัวของระบบมาตรฐานประเภทเดียวกันขึ้นมาอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั่วโลก ประกอบกับองค์การ ISO ได้ตระหนัก และต้องการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อกลายสภาพมาเป็นหุ้นส่วนในระดับภูมิภาคอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเขตอาฟริกา ประเทศที่อยู่ภายในกลุ่มอาหรับ พื้นที่ครอบคลุมส่วนใหญ่ของกลุ่มสหราชอาณาจักร ยุโรป ลาตินอเมริกา บริเวณเขตแปซิฟิคและกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามลักษณะพื้นฐานประการสำคัญที่ต้องยอมรับร่วมกันก็คือ กลุ่มระดับภูมิภาคเหล่านี้ จำเป็นจะต้องนำระบบมาตรฐานขององค์การ ISO เข้าไปใช้ประโยชน์ภายในกลุ่มของตนเป็นประการสำคัญ นอกจากนี้องค์การ ISO ยังมีการประสานงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานอื่นๆ ในระดับนานาชาติหรือระดับภูมิภาคอีกไม่ต่ำกว่า 1,500 แห่งทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มีความสนใจและต้องการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการนำมาตรฐานปฏิบัติขององค์การ ISO ไปใช้ประโยชน์อยู่โดยตรง
4.8 แหล่งของการค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับมาตรฐาน (Enquiries about standards)
ในปัจจุบันการพิมพ์เผยแพร่มาตรฐาน รายละเอียดข้อกำหนด เงื่อนไขทางเทคนิค การทดสอบแบบต่างๆ หรือระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรองมาตรฐาน ซึ่งดำเนินการขึ้นมาโดยอาศัยองค์การ ISO และหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในการกำหนดรายละเอียดของมาตรฐานเหล่านี้ ล้วนปรากฏอยู่ในรูปของระบบเอกสาร (Documentation System) เป็นจำนวนที่ไม่ต่ำกว่า 100,000 ฉบับขึ้นไป ซึ่งถือว่า การสืบค้นหาข้อมูลเหล่านี้ เป็นงานที่ปฏิบัติได้ยากลำบาก และต้องอาศัยเวลาที่นานมากพอสมควร เพราะฉะนั้นเพื่อให้การค้นหาข้อมูลเป็นไปได้โดยสะดวกและรวดเร็ว และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้การใช้มาตรฐานเป็นไปอย่างแพร่หลาย องค์การ ISO จึงกำหนดเครือข่ายทางการสื่อสารแบบใช้สื่ออิเล็กทรอนิคส์ (Electronic Media) ขึ้นมาประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ISONET หรือ ISO Information Network
ISONET มีวัตถุประสงค์หลักในการช่วยให้บุคคล หรือผู้ที่มีความสนใจต่างๆ เกี่ยวกับมาตรฐาน สามารถเข้าไปสืบค้นหาหรือนำข้อมูลที่ต้องการมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง ISONET จึงมีลักษณะเป็นศูนย์กลางของการสื่อสารระบบเครือข่าย ที่ประกอบไปด้วยข่าวความเคลื่อนไหว และข้อมูลจากแหล่งของสถาบันมาตรฐานประจำชาติต่างๆ ทั่วโลก ต่างเข้ามาทำหน้าที่และกิจกรรมร่วมกัน เพื่อกลายเป็นแหล่งของการติดต่ออย่างสะดวกสำหรับรายละเอียดของตัวมาตรฐานฉบับต่างๆ การอธิบายถึงข้อกำหนดทางเทคนิคบางประการ ระบบของการทดสอบหรือการยื่นเพื่อต้องการขอรับรองมาตรฐาน เป็นต้น ตามปรกติสมาชิกของระบบเครือข่าย ISONET (ก็คือ ประเทศภาคีสมาชิกขององค์การ ISO) จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติภารกิจ เพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนข่าวสารซึ่งกันและกันใน 2 ลักษณะด้วยกัน คือ ประการแรกแต่ละประเทศจำเป็นจะต้องเข้ามาร่วมในกิจกรรมของ ISONET เพื่อกลายเป็นจุดรวมระดับชาติของตนในการทำหน้าที่ เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน ให้กระจายตัวออกไปให้สาธารณชนได้รับทราบ และมีความเข้าใจอย่างกว้างขวางตามลำดับ ส่วนประการที่สองก็คือ ต้องการให้สถาบันรับรองมาตรฐานประจำชาติเหล่านั้น ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในการให้บริการข้อมูลของมาตรฐานที่เป็นประโยชน์ เพื่อหวังผลในเรื่องของการแลกเปลี่ยนอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับชาติ กับระดับต่างประเทศ หรือระดับภูมิภาค หรือระดับโลกร่วมกับองค์การทางมาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
สำหรับผู้ที่มีความสนใจ และต้องการศึกษารายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ISONET สามารถสืบค้นได้จาก Internet ภายใต้หัวข้อเรื่อง ISONET Directory ที่ http://www.iso.ch/infoe/intro.htm#Who does the work ซี่งบรรจุรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่อยู่ของประเทศที่เป็นสมาชิกระบบเครือข่าย ISONET รวมถึงการให้บริการข้อมูลในลักษณะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินงานขององค์การเป็นอย่างยิ่ง ในขณะเดียวกันรายละเอียดที่บรรจุอยู่ใน Directory เหล่านี้ ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมอย่างชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือ สำหรับการปฏิบัติงานร่วมกันภายใต้ข้อตกลงระหว่างองค์การ ISO และองค์การ WTO เช่น ข้อตกลงในการลดข้อจำกัดด้านเทคนิคเพื่อการค้า (WTO Agreement on Technical Barriers to Trade; WTO TBT) และข้อตกลงในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขอนามัยพืช (WTO Agreement on Sanitary Phyto-Sanitary; WTO SPS) เป็นต้น
4.9 การให้บริการที่ปรึกษา และการฝึกอบรม (Consulting and training services)
องค์การ ISO และประเทศภาคีสมาชิกเป็นจำนวนมาก ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องร่วมกันในด้านของการให้งานบริการที่ปรึกษา หรือฝึกอบรมในหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับระบบมาตรฐาน เช่น การจัดสัมมนาเพื่อการประยุกต์ใช้มาตรฐานสำหรับการประกันคุณภาพขององค์การ การให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและเทคนิค สำหรับผู้ประกอบการทุกประเภทที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำมาตรฐานไปใช้เพื่อกิจการของตนเอง การจัดประชุมทางปฏิบัติการสำหรับผู้บริโภคหรือผู้ใช้ประโยชน์ (End user) ที่มีส่วนสัมพันธ์ และได้รับผลกระทบมาจากการปฏิบัติงานตามระบบคุณภาพหรือมาตรฐาน รวมถึงการจัดประชุมใหญ่ทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา หรือการสร้างมาตรฐานและข้อกำหนดขึ้นมาในรูปแบบใหม่ ซึ่งจำเป็นต่อการนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ภายในองค์การได้ต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้เพื่อเสริมผลของการปฏิบัติงานด้านมาตรฐานให้แก่ประเทศภาคีสมาชิกเป็นวิธีการโดยเฉพาะ องค์การ ISO ยังได้ดำเนินการจัดตั้งโครงการพิเศษต่างๆ ขึ้นมารองรับโดยตรง เช่น การจัดสัมมนาและฝึกอบรม การจัดพิมพ์และเผยแพร่เอกสาร หรือคู่มือสำหรับการปฏิบัติงานตามระบบมาตรฐาน และรวมถึงการบริการให้ความช่วยเหลือในลักษณะอื่นๆ อีกหลายรูปแบบ เป็นต้น โครงการพิเศษเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การหรือภาครัฐบาล รวมถึงภาคีสมาชิก ISO จากประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานมาตรฐาน ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งหวังผลในการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพ หรือจัดตั้งมาตรฐานประจำชาติขึ้นมาให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างถาวรสืบตลอดไป
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ลักษณะของความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อจัดตั้งมาตรฐานนานาชาติขึ้นมาเช่นนี้ ส่วนใหญ่ได้ยินยอม และเปิดโอกาสให้บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจได้แสดงความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานแทบทั้งสิ้น โดยผ่านการเห็นชอบ หรือการอนุมัติจากภาคีสมาชิกทุกประเภท รวมถึงจากสำนักเลขาธิการกลางขององค์การ ISO ที่เจนีวา เป็นสำคัญ
XXXXXXXXX
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น