หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มาตรฐาน ISO 26000 บทที่ 3 (ตอนที่ 2 บรรทัดฐานระดับนานาชาติ สิ่งริเริ่ม และเครื่องมือ SR)

บทที่ 3
บรรทัดฐานระดับนานาชาติ สิ่งริเริ่ม และเครื่องมือ SR (International Norms, Initiatives and SR Tools)

ตอนที่ 2: บรรทัดฐานระดับนานาชาติ สิ่งริเริ่ม และเครื่องมือ SR ที่ปรากฏเป็นพื้นฐานของมาตรฐานตวามรับผิดชอบต่อสังคม (SR Standards)

3. กรอบแนวทางการปฏิบัติสำหรับเครื่องมือ SR (SR instruments framework)
       การมีความเข้าใจในความหมายอย่างเด่นชัดในเรื่อง สิ่งริเริ่ม หรืออีกนัยหนึ่ง คือ การกำหนดรายละเอียดของกรอบแนวทางปฏิบัติสำหรับการปรากฏสภาพออกมาเป็น เครื่องมือ SR” ในลักษณะต่างๆ ซึ่งอาจมีการจัดทำ ยกร่าง หรือกำหนดเป็นรายละเอียดเนื้อหา/ ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้าน SR เพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับเป็นข้อกำหนด หรือกฎเกณฑ์จากกลุ่มผู้ปฏิบัติต่างๆ ทั้งที่มีสถานภาพเป็นภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และอาจกล่าวได้ว่า บทบาทของกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ เหล่านี้ที่อยู่ร่วมกันภายในสังคมแห่งนั้น จะถือว่า เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญประการหนึ่งต่อความสำเร็จต่อการดำเนินงานจัดตั้ง SR ขึ้นมาภายในองค์การแต่ละแห่งแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้ จึงได้กล่าวให้เห็นถึงประเภทที่สำคัญของ เครื่องมือ SR” ต่างๆ ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ 9/
       1). เครื่องมือประเภทที่แสดงถึงบรรทัดฐานในเชิงรูปธรรม (Substantive norm instruments) ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดของกรอบการปฏิบัติด้าน SR ขึ้นมาจากภาครัฐบาลเป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวอยู่เป็นส่วนใหญ่ และบางครั้งอาจมีการเสริม หรือสนับสนุนช่วยเหลือการปฏิบัติงานจากหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐบาลก็เป็นไปได้อีกเช่นเดียวกัน
       2). เครื่องมือประเภทกระบวนการ (Process instruments) โดยมีการกำหนดรายละเอียดของกรอบการปฏิบัติด้าน SR ขึ้นมาจากผู้ทำหน้าที่อื่นๆ ที่อยู่นอกเหนืออกไปจากความรับผิดชอบของภาครัฐบาล เป็นต้น

    3.1 เครื่องมือประเภทที่แสดงถึงบรรทัดฐานในเชิงรูปธรรมจากภาครัฐบาล (Governmental substantive norm instruments)
         เครื่องมือ SR ประเภทแรกนี้ ถือกำเนิดขึ้นมาจากผลการปฏิบัติงานของภาครัฐบาลต่างๆ ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะกำหนดให้มีรายละเอียดของการปฏิบัติ เพื่อใช้ควบคุมหรือกำกับ บรรทัดฐานของพฤติกรรมในเชิงรูปธรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Substantive social or environmental norms of behavior)” เป็นประการสำคัญ ดังนั้นรายละเอียดของกรอบแนวทางการปฏิบัติดังกล่าว จึงอาจปรากฏขึ้นมาให้เห็นผลได้ทั้งในระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับประจำชาติ และบางครั้งอาจเรียกรวมกันทั้งหมดได้ว่า มีลักษณะของการเป็น เครื่องมือเพื่อแสดงถึงบรรทัดฐานในเชิงรูปธรรม (Substantive norm instruments)” ก็ได้ โดยเฉพาะรายละเอียดเหล่านี้ จะช่วยชี้บ่ง หรือสะท้อนให้เห็นถึงตำแหน่งทางพฤติกรรมที่มีการยอมรับกันขึ้นมา สำหรับการปฏิบัติงานในแต่ละชาติ หรือเป็นกลุ่มของชาติต่างๆ ซึ่งสามารถยืนยันผลได้อย่างชัดเจนว่า มีแนวทางของการปฏิบัติด้านพฤติกรรมทั้งหลาย ที่ดำเนินเป็นไปอย่างสอดคล้องตรงตามที่ระบุไว้ภายในรายละเอียด บรรทัดฐานของพฤติกรรมในเชิงรูปธรรม เหล่านี้แทบทั้งสิ้น และยังจำแนกเป็นรายละเอียดย่อยๆ เพิ่มเติมออกมาได้อีกร่วมด้วย 10/ ดังนี้
            3.1.1 การประชุมระดับนานาชาติ/ อนุสัญญา ปฏิญญาหรือคำประกาศ ข้อแนะนำ และรายละเอียดอื่นๆ (International conventions, declarations, guidance and others)
                   1). การประชุมระดับนานาชาติ/ อนุสัญญา (Conventions): รายละเอียดส่วนใหญ่ที่ได้รับจากการประชุมที่ดำเนินการขึ้นมาในแต่ละครั้งนั้น จะปรากฏป็นหัวข้อหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องได้แก่ เรื่องสิทธิมนุษยชน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้รายละเอียดบางหัวข้อที่มีความสัมพันธ์กับ SR อยู่โดยตรง มักได้รับผลมาจากการประชุมของ UN ซึ่งเกี่ยวข้องกับในเรื่องสิทธิด้านแรงงาน (จากหน่วยงานที่สำคัญคือ องค์การ ILO) การปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และอาจครอบคลุมรวมไปถึงเรื่องการต่อต้านการให้สินบน และคอร์รัปชั่น เป็นต้น สำหรับการลงนาม หรือการให้ สัตยาบัน (Ratification)” เพื่อแสดงผลของความรับรองในรายละเอียดของเครื่องมือเหล่านี้ ตามปรกติรัฐบาลที่ร่วมลงนาม จำเป็นต้องนำไปดำเนินการใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในด้านการออกกฎหมาย เพื่อให้มีผลของความสอดคล้องขึ้นมาสำหรับประจำชาติของตนเองเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน และ NGO อาจส่งตัวแทนเข้าร่วมสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในขั้นตอนต่างๆ ของการประชุมในแต่ละครั้งก็เป็นไปได้อีกเช่นกัน
                   2). ปฏิญญาหรือคำประกาศ (Declarations): 11/ ส่วนใหญ่จะเป็นรายละเอียดที่ได้รับขึ้นมาจากภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว ซึ่งมีลักษณะของการเข้าร่วมอย่างเป็นทางการสำหรับหน่วยงานที่มาจากภาครัฐบาลต่างๆ ด้วยกัน แต่ทั้งนี้อาจไม่มีการร่วมลงนาม หรือให้สัตยาบันเกิดขึ้นเช่นเดียวกับการประชุมในระดับนานาชาติก็ได้ สำหรับ คำประกาศในระดับสูง (High-level declarations)” ที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ จะเกี่ยวข้องกับรายละเอียดที่สำคัญดังนี้ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights)” ปฏิญญา ILO ในระดับไตรภาคีสำหรับหลักการที่เกี่ยวข้องกับบรรษัทข้ามชาติ และนโยบายด้านสังคม (ILO Tripartite Declaration of Principles Concerning Multinational Enterprises and Social Policy)” โดยมีการเห็นพ้องร่วมด้วยทั้งภาครัฐบาล ภาคแรงงาน และภาคธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรง ปฏิญญาริโอ ปี 1992 (Rio Declaration)” “วาระ 21 ประการ (Agenda 21)” และ ปฏิญญา 2002 WSSD ที่ว่าด้วยแผนงานสำหรับการดำเนินงานจัดตั้ง (WSSD Plan of Implementation) เป็นต้น นอกจากนี้เช่นเดียวกับการปฏิบัติของการประชุมในระดับนานาชาติ ยังอนุญาตให้ภาคเอกชน และผู้ปฏิบัติในส่วนของภาคประชาสังคมต่างๆ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะของการเป็นผู้สังเกตการณ์ได้อีกด้วย
  
ปฏิญญา หรือคำประกาศสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี 1948 โดย UN ซึ่งถือว่า มีสถานภาพเป็นเครื่องมือประเภทหนึ่งที่แสดงถึงบรรทัดฐานในเชิงรูปธรรมจากภาครัฐบาล

                  3). ข้อแนะนำ (Guidance): ส่วนใหญ่เป็นรายละเอียดที่มีสถานภาพอยู่ใน ระดับต่ำ (Low levels)” กว่าเครื่องมือทั้ง 2 ประเภทแรกที่กล่าวถึงไว้แล้วในเบื้องต้น และเกิดเป็นผลสืบเนื่องขึ้นมาจากการผ่านความเห็นชอบ หรือมีการอนุมัติโดยตรงแล้วจากการทำงานของหน่วยงาน/ องค์การระหว่างภาครัฐบาลต่างๆ ด้วยกัน สำหรับตัวอย่างของข้อแนะนำ/ ข้อที่ควรปฏิบัติ ซึ่งได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันว่า เป็นเครื่องมือด้าน SR ที่มีความเหมาะสมในระดับหนึ่ง ได้แก่ “OECD Guidelines for Multinational Enterprises ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมา โดยอาศัยการทำงานร่วมกันจากทั้งภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน และ NGO และยังมีการเข้ามามีส่วนร่วมจากองค์การ ILO และ UNEP อีกด้วย ดังนั้นการที่ปรากฏออกมาเป็นข้อแนะนำในเชิงเป็นไปด้วยความสมัครใจ เพื่อปฏิบัติงานตามรายละเอียดเช่นนี้ จึงครอบคลุมเนื้อหาที่สำคัญในด้าน การเป็นเครื่องกำกับพฤติกรรมทางธุรกิจ (Business conduct)” ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ห่วงโซ่อุปทาน การจัดการแรงงานและสิ่งแวดล้อม และการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น โดยที่รายละเอียดเหล่านี้ต่างถูกกำหนด หรือผ่านการยกร่างจัดเตรียมขึ้นมาจากการอาศัยการประชุมในระดับนานาชาติ หรือปรากฏเป็นคำประกาศฉบับต่างๆ ซึ่งล้วนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลต่อการนำไปใช้ปฏิบัติงานได้ต่อไปตามลำดับ
   
                   4). รายละเอียดอื่นๆ (Others): อาจกล่าวเพิ่มเติมได้ว่า ยังมีเครื่องมือประเภทอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SR ซึ่งควรให้ความสนใจร่วมด้วย ได้แก่
·     Global Compact: รายละเอียดดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นมา โดยจัดว่า เป็น สิ่งริเริ่ม ของสำนักงานเลขาธิการใหญ่ UN ในสมัยของนาย Kofi Annan ในปี 2000 ซึ่งกำหนดไว้เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติที่ต้องการใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นสิ่งช่วยกระตุ้นทำให้ภาคเอกชนและส่วนอื่นๆ ได้ยอมรับนำรายละเอียดของ หลักการสากล 10 ประการ (10 Universal Principles)” ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อมและการต่อต้านคอร์รัปชั่น เป็นต้น ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมเข้ากับองค์การของตนเองได้ต่อไป
   

              ·     บรรทัดฐานสิทธิมนุษยชน (Human Rights Norms): จากรายละเอียดที่ระบุไว้ภายในเอกสารฉบับร่างที่เรียกว่า บรรทัดฐานที่ว่าด้วยความรับผิดชอบของการปฏิบัติงานข้ามชาติ และวิสาหกิจทางธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน (Norms on the responsibilities of transnational corporations and other business enterprises with regard to human rights)” โดยทั้งนี้มีการพัฒนาขึ้นมาจากผลการทำงานของคณะกรรมาธิการ UN ที่เรียกว่า Sub-Commission on the Promotion and Protection of Human Rights 12/ นั้น จัดเป็นเครื่องมืออย่างเป็นทางการของ UN อีกประเภทหนึ่ง ที่มีความมุ่งเน้นต้องการให้ภาคเอกชนทั้งหลายที่ปฏิบัติงานอยู่ในส่วนต่างๆ ทั่วโลก ล้วนต้องให้ความใส่ใจต่อการมีบรรทัดฐานในเรื่องการดำรงรักษาไว้ ซึ่งการปฏิบัติงานที่ดี โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐานที่สำคัญอีกประการหนึ่งด้วย
                        รายละเอียดที่สรุปให้เห็นในตารางข้างล่างนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงประเภทของเครื่องมือ SR ในระดับนานาชาติที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงมากในปัจจุบัน ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาโดยภาครัฐบาล และมุ่งเน้นรายละเอียดที่สมควรต้องปฏิบัติออกมาในแต่ละด้านที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรง
เครื่องมือ
ด้านสังคม
ด้านสิ่งแวดล้อม
ด้านเศรษฐกิจ
Universal Declaration of Human Rights
X


UN Framework Convention on Climate Change and Kyoto Protocol

X

ILO Conventions & Tripartite Declaration
X


UN Convention Against Bribery
X

X
Draft Human Rights Norms
X


Global Compact
X
X

OECD MNE Guidelines
X
X
X

(X = มีการกำหนดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติอยู่ร่วมด้วย)

            3.1.2 เครื่องมือภาครัฐบาลที่ปรากฏอยู่ในระดับภูมิภาค (Regional level government instruments)
                   ในระดับภูมิภาคนั้น ปรากฏมีเครื่องมือด้าน SR ถูกกำหนดขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ในการเป็นหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานสำหรับการระบุ/ ชี้บ่งถึงความคาดหวังต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สิทธิทางสังคมและแรงงาน และครอบคลุมไปถึงรายละเอียดด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เท่าที่พบอยู่ในปัจจุบัน ประชาคมยุโรป (European Union) ดูจะทำหน้าที่ในระดับภูมิภาคของการเป็นผู้นำที่ดี หรือแสดงความเข้มแข็งเป็นอย่างมากต่อการพัฒนารายละเอียดต่างๆ ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นก่อให้เกิดความสอดคล้องร่วมด้วยทางกฎหมาย และยังสามารถนำพาไปสู่การปฏิบัติงานทั้งด้านแรงงาน กิจการสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นผลสำเร็จที่ดีได้ต่อไป ดังจะเห็นผลเพิ่มเติมได้จากการที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ดำเนินการพัฒนาและยกร่างรายละเอียดข้อแนะนำ หรือสิ่งที่ควรปฏิบัติเพิ่มเติมขึ้นมาเป็นเอกสารอยู่หลายฉบับ และเท่าที่มีสาระที่น่าสนใจอยู่ฉบับหนึ่งก็คือ ในปี 2002 จากเอกสารที่เรียกว่า การสื่อสาร CSR: การแบ่งปัน/ การสนับสนุนของภาคธุรกิจต่อการพัฒนาแบบยั่งยืน (Communication on Corporate Social Responsibility: A business contribution to Sustainable Development)” ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรง รวมถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ของ CSR ขึ้นมาในระดับชาติ นโยบายและกิจกรรมต่างๆ นั้น อาจทำการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก European Commission website (http://europa.eu.int/comm/employment_social/emplweb/csr-matrix/csr_matrix_en.cfm

             3.1.3 เครื่องมือภาครัฐบาลที่ปรากฏอยู่ในระดับชาติ (National level government instruments)
                   ในระดับชาติยังปรากฏมีความหลากหลายของการจัดทำเครื่องมือประเภทต่างๆ ขึ้นมารองรับ เพื่อทำหน้าที่กำกับหรือควบคุมพฤติกรรมของ SR โดยเฉพาะรายละเอียดของการปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SR อยู่โดยตรงเช่นนี้ จึงอาจพบเห็นออกมาได้ในหลายลักษณะและรูปแบบด้วยกัน เช่น การเป็นข้อบังคับ และการควบคุมที่ผ่านการกำหนดออกมาเป็นกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่สำคัญ การให้สิทธิผลประโยชน์หรือแรงจูงใจทางภาษี การให้เงินช่วยเหลือหรือสังเคราะห์เพิ่มเติม และอาจเป็นเครื่องมือประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทางเศรษฐกิจ เอกสารข้อแนะนำ คำประกาศที่เป็นนโยบาย การประชุมเพื่อโต้แย้งหรือวิพากษ์วิจารณ์ และสารสนเทศต่างๆ เป็นต้น โดยทั่วไปในทุกประเทศยังอาจมีรูปแบบทางกฎหมายเกิดขึ้นมาในลักษณะต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ช่วยปกป้องคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน ผู้บริโภค และความสนใจทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งองค์การต่างๆ ที่ทำการปฏิบัติงานอยู่ภายในประเทศต่างๆ เหล่านี้ ล้วนจำเป็นต้องปฏิบัติงาน เพื่อให้มีความสอดคล้องเป็นไปตรงตามรายละเอียดกฎเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ให้เป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้รายละเอียดอีกประการหนึ่งที่พบเห็นได้ก็คือ บางประเทศได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้ทางกฎหมายอีกร่วมด้วย เพื่อบังคับให้แต่ละองค์การ/ บริษัทแต่ละแห่ง ต้องมีการรายงานในรายละเอียดของผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งด้านสังคม และสิ่งแวดล้อมออกมาอย่างชัดเจน สำหรับตัวอย่างของความเกี่ยวข้องเหล่านี้ อาจพบได้ในทางปฏิบัติจากกฎหมายของประเทศอังกฤษในปี 2000 ที่เรียกว่า United Kingdom Pensions Act และในปี 2001 ก็มีการกำหนดรายละเอียดดังกล่าวอยู่ไว้ภายในกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส ที่เรียกว่า New Economic Regulations (NRE) เป็นต้น  เพราะฉะนั้นในปัจจุบันมีแนวโน้มว่า รัฐบาลแต่ละประเทศกำลังให้ความสนใจต่อการนำรายละเอียดของการปฏิบัติงานด้าน SR เข้าไปสู่กรอบการปฏิบัติทางกฎหมายเพิ่มเติมเป็นจำนวนที่มากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ก็เพื่อมุ่งหวังผลต่อองค์การต่างๆ จำเป็นจะต้องแสดงความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของแนวความคิดของการปฏิบัติด้าน SR เหล่านี้ได้มากที่สุด หรือสามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ต่อไปตามลำดับ

    3.2 เครื่องมือประเภทที่มาจากภาคเอกชน และภาคประชาสังคม (Private sector and civil society Instruments)
         ในปัจจุบันบทบาทของภาคเอกชน และ/หรือองค์การที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคมต่างๆ ที่นิยมเรียกชื่อรวมกันโดยทั่วไปว่า Private sector and/or Civil society organizations (PCOs) ค่อนข้างแสดงบทบาทที่สำคัญมากต่อการพัฒนา หรือช่วยกระตุ้นก่อให้เกิดการดำเนินงานด้าน SR ขึ้นมา และถือว่า เป็นปัจจัยหลักต่อการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อการสร้างระบบธรรมาภิบาลขึ้นมาร่วมด้วยในรอบระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะรายละเอียดของการจัดทำ สิ่งริเริ่มหรือปรากฏออกมาเป็น เครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งที่มีการพบเห็นกันอยู่ทั่วไป และอาจเปรียบเทียบได้ว่า องค์การ/ หน่วยงาน/ สถาบันของ PCOs ต่างๆ เหล่านี้ ได้ทำการจุดประกายส่องสว่างให้เกิดมุมมองด้านสังคมขึ้นมาอย่างหลากหลาย และยังเป็นการช่วยปรับแต่ง เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของการปฏิบัติงาน เพื่อการแสดงถึงความคาดหวังด้าน SR ขึ้นมาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์อีกด้วย และเท่าที่พบเห็นออกมาอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ มีจำนวนตัวอย่างอยู่มากมายเป็นร้อยๆ ประเภทของเครื่องมือ SR ที่เกิดขึ้นมาจากการพัฒนาด้วยความเป็นอิสระของหน่วยงาน/ องค์การ PCOs ต่างๆ ซึ่งอาจพบได้ทั้งในรูปแบบของการปรากฏออกมาเป็นบรรทัดฐานเชิงรูปธรรม หลักการ มาตรฐานต่างๆ จรรยาบรรณ และเครื่องมือที่ปรากฏเป็นเพียงข้อแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น
         แต่อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า การพัฒนาเครื่องมือ SR ประเภทต่างๆ จะถูกกระทำขึ้นมาด้วยความเห็นชอบอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจจากหน่วยงาน/ ภาคเอกชน หรือ PCOs เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัย/ เงื่อนไขพื้นฐานบางประการที่เป็น ตัวช่วยผลักดัน (Driver)” ทำให้มีการพัฒนาประเภทเครื่องมือเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลประการสำคัญที่ควรพิจารณานึกถึงก็คือ 13/
· การกำหนด/ ระบุรายละเอียดขอบเขตของการปฏิบัติด้าน SR ออกมาอย่างเด่นชัด (Defining SR)”: ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า การทำความเข้าใจในรายละเอียดของการปฏิบัติงานด้าน SR เหล่านั้นออกมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการถูกระบุออกมาตามรายละเอียดของเครื่องมือประเภท ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากการพัฒนาของภาครัฐบาล หรือไม่ใช่ก็ตาม ล้วนมีขอบเขตที่กว้างขวางมากเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเครื่องมือ SR ประเภทที่ถูกกำหนดรายละเอียดออกมาจากภาครัฐบาลนั้น รายละเอียดของการแสดงความรับผิดชอบส่วนใหญ่ ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ มักจะถูกเขียนออกมาด้วยภาษาที่ครอบคลุมเนื้อหาเป็นไปอย่างกว้างๆ และรายละเอียดเช่นนี้ย่อมนำไปสู่การตั้งคำถามในเรื่องการตีความหมาย หรือการนำไปจัดตั้งเพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตรงกันข้ามกับเครื่งมือ SR ประเภทที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากภาค PCOs กลับมีความพยายามอย่างแรงกล้า ที่จะสื่อการใช้ภาษาด้วยถ้อยคำที่ง่าย สามารถทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว หรือก็เพื่อมุ่งเน้นของการเติมเต็มให้มีความสะดวดต่อการนำไปใช้ปฏิบัติงานด้าน SR ต่อไปอย่างได้ผลเป็นอย่างดี
· การดำเนินการจัดตั้ง SR ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม (Implementing SR)”: โดยทั่วไปเครื่องมือ SR ประเภทที่ถูกจัดทำขึ้นมาด้วยผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากทางภาครัฐบาล อาจแสดงความไม่เหมาะสมต่อการนำไปจัดตั้ง หรือการบูรณาการเข้ากับรายละเอียดขององค์การบางประเภท หรือภาค/ ส่วนที่มีการปฏิบัติงานอย่างจำเพาะเจาะจงเกิดขึ้น ขอยกตัวอย่าง เช่น ในบางประเทศการกระตุ้นให้เกิดการยอมรับในรายละเอียด เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานด้าน SR จะเกิดขึ้นได้เป็นระดับที่ต่ำมาก ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากภาครัฐบาลด้วยตนเอง มีข้อจำกัดในเรื่องระดับความสามารถอยู่หลายประการ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนให้การจัดตั้ง SR ขึ้นมาให้เห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ SR ประเภทอื่นๆ (ที่ได้รับมาจากภาคเอกชน และ PCOs เป็นต้น) ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงาน หรือสามารถบูรณาการเข้ากับองค์การที่แสดงความจำเพาะเจาะจงเหล่านั้น ออกมาอย่างได้ผลที่ดีมากกว่าการเลือกใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ SR ประเภทที่ถูกจัดทำขึ้นมาจากภาครัฐบาลแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจไม่เหมาะสมเข้ากับการปฏิบัติงานต่อไปได้

             3.2.1 เครื่องมือแสดงบรรทัดฐานที่เป็นรูปธรรม (Substantive norm instruments)
              เครื่องมือประเภทนี้ส่วนใหญ่จะถูกสร้างหรือจัดทำขึ้นมา โดยอาศัยวิธีการปฏิบัติงานของภาคเอกชน หรือ PCOs เป็นส่วนใหญ่ ด้วยวัตถุประสงค์หลัก ก็เพื่อต้องการขยาย หรือเป็นส่วนเพิ่มเติมสำหรับการยกระดับ บรรทัดฐานด้านพฤติกรรม (Norms of behavior)” ต่างๆ ซึ่งปรากฏว่า เคยมีหรือถูกสร้างอยู่แล้วในขณะนั้นๆ ให้มีระดับที่เพิ่มสูงขึ้นได้สำหรับการปฏิบัติงานด้าน SR ภายในองค์การแห่งนั้นอยู่โดยตรง เพราะฉะนั้นรายละเอียดของเครื่องมือ SR ประเภทนี้ จึงมุ่งเน้นลงไปต่อขอบเขตของเนื้อหาที่ต้องปฏิบัติงาน ในลักษณะที่ต้องการความจำเพาะเจาะจงขึ้นมาบางประการ (เช่น การพิทักษ์ป่าไม้ การปฏิบัติต่อคนงานทอผ้า หรือสิทธิมนุษยชนบางเรื่อง เป็นต้น) โดยทั้งนี้ส่วนใหญ่จะปรากฏออกมาเป็นรายละเอียดของการเป็นข้อแนะนำสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ด้าน SR ได้ต่อไป สำหรับตัวอย่างประเภทแรก ของเครื่องมือ PCOs SR substantive norm ที่มีวัตถุประสงค์สำหรับการใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยปกป้องคุ้มครองพื้นที่ป่าไม้ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็คือ รายละเอียดที่เรียกว่า มาตรฐานของสภาพิทักษ์ป่าไม้ หรือ “Forest Stewardship Council (FSC) standard” สำหรับประเภทที่สองของเครื่องมือ PCOs SR substantive norm ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมา เพื่อช่วยทำให้องค์การสามารถบรรลุถึงรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติอย่างสอดคล้องเป็นไปตามข้อกำหนด บรรทัดฐานของภาครัฐบาล ร่วมด้วย ก็คือ หลักการที่เรียกว่า Global Sullivan Principles เป็นต้น 14/
 

             3.2.2 เครื่องมือประเภทกระบวนการ (Process instruments)
              ในลักษณะที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ เครื่องมือประเภทกระบวนการนี้ กลับไม่มีความพยายามต่อการใช้ประโยชน์ เพื่อกำหนดหรือระบุความเป็นบรรทัดฐานด้าน SR ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่มีความต้องการเป็นเพียงการให้ ข้อแนะนำ (Guidance)” หรือสิ่งที่ควรปฏิบัติในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ SR นั้น ควรดำเนินการขึ้นมาได้อย่างไร เป็นต้น ขอยกตัวอย่าง เช่น มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14000 ก็คือ เครื่องมือที่แสดงถึงกระบวนการปฏิบัติงานเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ต่อการกำหนดหรือจัดตั้งบรรทัดฐานพฤติกรรมขึ้นมาทั้งสิ้น แต่ต้องการทำหน้าที่ในการช่วยเหลือองค์การให้สามารถประเมิน หรือทำการชี้บ่งถึงรายละเอียดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในลักษณะต่างๆ ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมได้มากที่สุด ส่วนรายละเอียดของมาตรฐานข้อแนะนำ SR หรือ ISO 26000 ที่กำลังดำเนินการยกร่างอยูในขณะนี้ ก็ไม่มีวัตถุประสงค์สำหรับความตั้งใจ เพื่อกำหนดเป็นบรรทัดฐานในเชิงรูปธรรมออกมาแต่ประการใด และเช่นเดียวกับแนวทางการปฏิบัติที่เรียกว่า GRI Guidelines ก็เพื่อต้องการชี้บ่งออกมาเป็นรายงานสำหรับการวัดหรือประเมินผลการทำงานในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้าน SR เพียงประการเดียวเท่านั้น

            3.2.3 แนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเครื่องมือด้าน SR (Approaches in developing SR instruments)
           ในรายละเอียดที่พบก็คือ แนวทางของการพัฒนาเครื่องมือด้าน SR ขึ้นมาในปัจจุบัน ถูกนำหน้าในรายละเอียดของการปฏิบัติ หรือการกระทำหน้าที่โดยอาศัยภาคเอกชน หรือ PCOs อยู่เป็นส่วนใหญ่ และค่อนข้างแสดงผลที่ไม่เป็นทางการมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับภาครัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามทั้งนี้มีรายละเอียดของแนวความคิดที่เกี่ยวข้องอีกหลายประการ ที่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาผลร่วมด้วยสำหรับการพัฒนาทั้งในด้านการเป็นเครื่องมือ SR ประเภทที่เป็นบรรทัดฐานในเชิงรูปธรรม และประเภทกระบวนการ ก็คือ 15/
           1). การปรากฏสภาพที่เป็น สิ่งริเริ่มมาจากกลุ่ม Stakeholders ต่างๆ (Multi-stakeholder Initiatives): รายละเอียดของเครื่องมือ SR ดังกล่าว จะถูกพัฒนาขึ้นมาจากการอาศัยการเข้ามามีส่วนร่วม หรือความร่วมมือของ กลุ่ม Stakeholders ต่างๆ ทั้งภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน และ NGO ต่างได้เข้ามาทำหน้าที่ในการจัดทำหรือยกร่างรายละเอียดเครื่องมือ ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดระดับความน่าเชื่อถือขึ้นมาได้มากที่สุด กระบวนการที่ดำเนินการขึ้นมาโดยองค์การ ISO ก็คือ ตัวอย่างของการปฏิบัติงานตามรายละเอียดของแนวความคิดเช่นนี้ สำหรับรายละเอียดของการปฏิบัติในส่วนอื่นๆ เช่น GRI สภาพิทักษ์ทางทะเล (Marine Stewardship Council; MSC) และสภาพิทักษ์ป่าไม้ (Forest Stewardship Council; FSC) ก็จัดเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ดำเนินงานขึ้นมาด้วยการกระทำจากภาคเอกชน หรือการเข้ามามีส่วนร่วมก็มาจากในทุกภาค/ กลุ่ม Stakeholders ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรงเป็นสำคัญ
           2). การปรากฏสภาพที่เป็น สิ่งริเริ่มเฉพาะกลุ่ม/ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่โดยตรง (Sector Initiatives): รายละเอียดของเครื่องมือ SR ดังกล่าว จะถูกพัฒนาขึ้นมาในส่วนของกลุ่ม หรือภาคส่วนที่แสดงความจำเพาะเจาะจงเกี่ยวข้องกับการประกอบอุตสาหกรรมประเภทนั้นๆ (เช่น องค์การที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนมาจากภาคอุตสาหกรรมเคมี เหมืองแร่ อิเล็กทรอนิคส์ ป่าไม้ ของเล่น หรือสิ่งทอ เป็นต้น) ซึ่งอาจมีการยกร่างรายละเอียดที่ยึดถือเป็นเครื่องมือขึ้นมาของตนเอง เพื่อระบุ/ ชี้บ่งถึง วิธีการปฏิบัติที่ดี (Good practices) สำหรับการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็น SR ต่างๆ หรืออีกนัยหนึ่งเพื่ออาจแสดงสถานะของการเป็นมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมกลุ่มนั้นๆ ก็เป็นได้อีกเช่นเดียวกัน ส่วนตัวอย่างที่พบเห็นโดยทั่วไปของเครื่องมือประเภทนี้ ได้แก่ ธรรมนูญธุรกิจของหอการค้าระดับนานาชาติ (International Chamber of Commerce; ICC Business Charter) สิ่งริเริ่มสำหรับการแสดงความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมเคมี (Chemical industry's Responsible Care initiative; เริ่มดำเนินการขึ้นมาในประเทศคานาดา เมื่อปี 1985 โดยการกระทำของสมาคมผู้ผลิตสารเคมีคานาดา หรือ Canadian Chemical Producers Association และรายละเอียดของ สิ่งริเริ่ม ดังกล่าวปัจจุบัน ถูกยอมรับโดยสมาคมนานาชาติต่างๆ เป็นจำนวนมากกว่า 40 แห่ง) และสภานานาชาติของอุตสาหกรรมเหมือแร่ และโลหะที่ว่าด้วยหลักการของการพัฒนาแบบยั่งยืน (International Council on Mining and Metals Sustainable Development Principles) สำหรับรายละเอียดตัวอย่างอื่นๆ เพิ่มเติมได้แก่ การประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการผลิตปาล์มน้ำมันแบบยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil) สมาคมเหมืองแร่คานาดา ว่าด้วย หลักการและแนวทางการปฏิบัติ เพื่อมุ่งสู่การทำเหมืองแบบยั่งยืน และการวัดผลการทำงาน โดยอาศัยประเด็นหลักที่มีรายละเอียดเกี่ยวข้องอยูโดยตรง (Mining Association of Canada: Toward Sustainable Mining Guiding Principles and performance measures for key issues) และจรรยาบรรณสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์ (Electronic Industry Code of Conduct) เป็นต้น

            3). การปรากฏสภาพที่เป็น สิ่งริเริ่มเฉพาะองค์การ (Organization-specific initiatives)”: โดยรายละเอียดที่พบก็คือ องค์การส่วนใหญ่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ซึ่งอาจแสดงผลของความแตกต่างออกไปได้ตามแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในลักษณะของวิธีการปฏิบัติงาน และผลลัพธ์ที่ได้รับขึ้นมาแต่ละครั้ง จึงย่อมปรากฏความหลากหลายขึ้นมาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังกล่าวเช่นนี้ องค์การส่วนมากจึงเลือกตัดสินใจที่จะทำการพัฒนา สิ่งริเริ่มเฉพาะองค์การสำหรับการเป็นเครื่องมือด้าน SR” ประจำตนเองขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อทำหน้าที่ตอบสนองให้ตรงกับความต้องการเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ SR บางลักษณะ เช่น การกำหนด จรรยาบรรณ (Codes of conduct)” ประจำบริษัทของตนเองอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงอาจมีการแพร่ขยายรายละเอียดของการปฏิบัติทางจรรยาบรรณเหล่านี้ ให้แพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเป็น สายโซ่อุปทาน (Supply chain)” อีกด้วยเช่นนั้น จึงดูจะเป็นแนวทางที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อช่วยก่อให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ และยังเป็นผลต่อการสร้างภาพลักษณ์ หรือการมีชื่อเสียงที่ดีขึ้นมาสำหรับองค์การแห่งนั้นได้โดยตรง ส่วนตัวอย่างที่พบเห็นได้อย่างชัดเจนมากก็คือ บริษัทที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ที่ปรากฏชื่อเสียงอยู่ในระดับโลก เช่น Toshiba, Philips, Sony และ Panasonic เป็นต้น ได้ทำการพัฒนารายละเอียดของจรรยาบรรณอย่างเป็นทางการขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการควคุมการปฏิบัติงานภายในบริษัทของตนเอง หรือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายโซ่อุปทานทั้งหมด รวมถึงยังมีการกำหนดรายละเอียดของการปฏิบัติงานบางด้านที่เกี่ยวข้องกับ SR ขึ้นมาเป็นหัวข้อเรื่องสำคัญที่ควรพิจารณาสำหรับหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เสริม หรือแสดงความเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทอีกด้วย
 
รายละเอียดสิ่งริเริ่มที่ดำเนินการขึ้นมาของบริษัท ในลักษณะที่ประกาศออกมาเป็น มาตรฐานจรรยาบรรณ (Standard of Conduct)

             3.2.4 ตัวอย่างที่พบในระดับโลก ของเครื่องมือด้าน SR ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากผลการทำงานของ PCOs (Examples of leading global PCOs SR instruments)
           ในรายละเอียดเช่นเดียวกับเครื่องมือประเภท SR ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากการทำงานของภาครัฐบาล พบว่า เครื่องมือ SR ในรูปแบบที่เกิดขึ้นมาจากผลการทำงานของภาคเอกชน หรือ PCOs ต่างๆ จะประกอบไปด้วยเนื้อหา/ ประเด็นหลักที่ถือว่า เป็นหัวใจที่สำคัญในแต่ละเรื่องไว้อย่างชัดเจนมาก เช่น สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นมาให้เห็นได้จากผลการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ขององค์การแห่งนั้นอยู่โดยตรง ดังรายละเอียดในตารางข้างล่างนี้ ได้แสดงเห็นถึงตัวอย่างที่สำคัญของเครื่องมือ SR ประเภทต่างๆ ในระดับโลก ที่เป็นผลสืบเนื่องเกิดขึ้นมาจากการพัฒนา และคณะทำงานจากกลุ่ม PCOs ต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับองค์การได้ต่อไปตามลำดับ
เครื่องมือ
ด้านสังคม
ด้านสิ่งแวดล้อม
ด้านเศรษฐกิจ
AccountAbility AA1000 Series
X
Involved
X
Involved
X
Involved
Fair Labor Association Workplace Standards
X


Forest Stewardship Council Principles and Criteria
X
X
X
GRI Sustainability Reporting Guidelines
X
X
X
ISEAL Alliance Code of Good Practice for Setting Social and Environmental Standards
X
Involved
X
Involved
X
Involved
ISO 14000 Environmental management series; ISO 26000 series SR standard (proposed)
X
XX
X
Marine Stewardship Council Environmental Standard

X

Social Accountability International SA-8000 Performance Standard
X


Sullivan Principles
X



(X = มีการกำหนดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติอยู่ร่วมด้วย)
(Involved = หมายถึงว่า กลุ่ม Stakeholders ต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาท หรือแสดงความเกี่ยวข้องในการกำหนดรายละเอียดเนื้อหาที่สำคัญเหล่านี้อยู่ร่วมด้วย)

           เมื่อสรุปรายละเอียดออกมาในภาพรวม จะพบได้ว่า การดำเนินงานด้าน SR ขึ้นมาขององค์การแต่ละแห่ง อาจแสดงความเกี่ยวพันเข้ากับรายละเอียดในขอบเขตที่กว้างขวางมาก และเต็มไปด้วยความหลากหลายสำหรับเครื่องมือ SR ในระดับโลกทั้งหลาย ที่มีความเกี่ยวข้องอยู่โดยตรง ทั้งประเภทที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากผลการทำงานของภาครัฐบาล หรือภาค PCOs ก็ตาม และจะสมควรเลือกปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปตามกรอบของเครื่องมือประเภทใดได้อีกด้วย จากรายละเอียดตัวอย่างของเครื่องมือ SR ประเภทต่างๆ ที่กล่าวสรุปไว้ให้เห็นในตารางข้างล่างนี้ บางประเภทของเครื่องมือ มีลักษณะของความเกี่ยวข้องกับ บรรทัดฐานเชิงรูปธรรม (Substantive norm instruments)” เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะให้รายละเอียดที่ปรากฏออกมาเป็นเพียงของข้อแนะนำตามหลักการ SR เป็นไปอย่างกว้างๆ ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังให้สามารถตอบสนองตรงกับความต้องการขององค์การแห่งนั้นได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ในขณะที่เครื่องมือประเภทอื่นๆ กลับแสดงรายละเอียดของการเป็น ข้อแนะนำในเชิงกระบวนการ (Process guidance)” ที่มีจุดมุ่งหมายกำหนดไว้อย่างอย่างเด่นชัด ก็เพื่อต้องการให้องค์การแต่ละแห่ง ต้องยึดถือตระหนัก และยังต้องมีการนำไปสู่การจัดตั้งหรือดำเนินการปฏิบัติขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงยังต้องมีการรายงานผลความก้าวหน้าสำหรับการปฏิบัติงาน SR ต่างๆ เหล่านั้น ขึ้นมาประกอบอยู่ร่วมด้วย

เครื่องมือ SR ระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแบบยั่งยืน (Global Sustainable Development/ SR Instruments) 16/


 ประเภท
 ตัวอย่าง
 เครื่องมือแสดงถึงบรรทัดฐานเชิงรูปธรรม ในระดับภาครัฐบาลต่อรัฐบาล (Inter-Governmental Substantive Norm Instruments)
(รายละเอียดข้อแนะนำอย่างกว้างๆ สำหรับหลักการเชิงรูปธรรม และบรรทัดฐานที่เกี่ยวข้องกับผลการปฏิบัติ อะไร คือ สิ่งที่ต้องการและเป็นความคาดหวัง)
 ·     Universal Declaration of Human Rights
·     ILO Fundamental Conventions
·     ILO Tripartite Declaration
·     UN Framework Convention on Climate Change (and Kyoto Protocol)
·     Rio Declaration, Agenda 21
·     Johannesburg Declaration and Plan of Implementation
·     OECD MNE Guidelines
Global Compact
 เครื่องมือแสดงถึงบรรทัดฐานเชิงรูปธรรม ในระดับภาคเอกชน/ ภาคประชาสังคม (Private Sector/ Civil Society Substantive Norm Instruments)
(รายละเอียดข้อแนะนำสำหรับหลักการเชิงรูปธรรม และบรรทัดฐานที่เกี่ยวข้องกับผลการปฏิบัติ อะไร คือ สิ่งที่ต้องการและเป็นความคาดหวัง)
 ·     Equator Principles
·     Extractive Industries Transparency Initiative Principles and Criteria
·     Fair Labor Association Workplace Code of Conduct
·     Forest Stewardship Council Principles and Criteria
·     Marine Stewardship Council Environmental Standard
Social Accountability International SA-8000:2001 Performance Standard
 เครื่องมือแสดงถึงกระบวนการในระดับภาคเอกชน/ ภาคประชาสังคม (Private Sector/ Civil Society Process Instruments)
(รายละเอียดข้อแนะนำที่เป็นกระบวนการ เพื่อมุ่งหวังผลสำหรับการประเมิน การจัดการ การบูรณาการ การวัดผล การสื่อสาร และการประกันผลการปฏิบัติ ต้องปฏิบัติอย่างไร)
 ·     AccountAbility AA1000 Series
·     Global Reporting Initiative (GRI) Guidelines
·     ISEAL Alliance Code of Good Practice for Setting Social and Environmental Standards
·     International Organization for Standardization (ISO) Standards ISO 14000 series ; ISO 26000 Social Responsibility Guidance Standard
Responsible Care



    3.3 การเปรียบเทียบเครื่องมือ SR ประเภทต่างๆ สำหรับความเหมาะสมต่อการปฏิบัติ (Comparing instruments to provide practical guidance on their implementation)
         เครื่องมือ SR ประเภทต่างๆ ที่ถูกจัดทำขึ้นมาจากผลการปฏิบัติงานของภาครัฐบาล หรือหน่วยงานภาครัฐบาลต่อรัฐบาลด้วยกัน ย่อมมีความเหมาะสมเกิดขึ้นมากที่สุดในด้านของ การได้รับการมอบหมาย เพื่อให้เข้ามามีอำนาจหน้าที่สำหรับการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปรากฏอยู่ภายใต้กรอบรายละเอียดตามกฎหมายที่กำหนดไว้ทุกประการ หรือที่เรียกว่า Authoritative ทั้งนี้สืบเนื่องเหตุผลมาจากรายละเอียดต่างๆ ที่ถูกระบุอยู่ไว้ภายในเครื่องมือ SR ต่างๆ เหล่านั้น ล้วนได้ผ่านการพัฒนาขึ้นมาจากหน่วยงาน/ ผู้ที่ทำหน้าที่ปฏิบัติงานในภาคสาธารณะ ซึ่งปรากฏมีความชอบธรรมในการเป็นตัวแทนที่ถูกกำหนด หรือระบุรายละเอียดไว้ภายในกฎหมาย/ คำประกาศที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นผลที่ได้รับออกมา จึงช่วยส่งผลทำให้ประเภทของเครื่องมือ SR ดังกล่าว มีลักษณะที่สามารถใช้ประโยชน์อย่างเป็นทางการ (Formal Application) ขึ้นมามากกว่า แต่ในขณะที่เครื่องมือ SR ประเภทอื่นๆ ที่ได้รับขึ้นมาโดยตรงจากผลการพัฒนาของภาคเอกชน หรือ PCOs นั้น ระดับของการเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็น ความมอบหมายอำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการ (Formal authoritativeness)” เช่นนี้ ย่อมถูกพบเห็นอยู่ในวงและขอบเขตความหมายที่จำกัด หรือเป็นระดับที่ต่ำกว่าเครื่องมือ SR ในภาครัฐบาลตามลำดับ แต่ข้อดีประการหนึ่งที่ควรให้ความสนใจต่อมาก็คือ รายละเอียดที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นเครื่องมือ SR ซึ่งเกิดขึ้นจากภาคเอกชนภายนอก (ที่ไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐบาล) ย่อมแสดงรายละเอียดที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ ประกอบกับเมื่อผ่านกระบวนการในการเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมจากบุคคล หรือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นจำนวนมากอีกด้วย จึงค่อนข้างแสดงผลของ ระดับความน่าเชื่อถือ (Creditability) ขึ้นมาได้โดยตรง รวมถึงยังปรากฏรายละเอียดออกมาเป็นข้อแนะนำที่เหมาะสมต่อการใช้ปฏิบัติงานได้ต่อไปอีกด้วย
         จากรายละเอียดที่ระบุไว้แล้วในเบื้องต้น จะพบว่า เครื่องมือ SR ประเภทที่มาจากภาครัฐบาล หรือที่เรียกได้ว่า เป็น Governmental substantive norm ส่วนใหญ่จะให้รายละเอียดในลักษณะที่เป็นของเขตเป็นไปอย่างกว้างๆ โดยทั่วไป หรือเพื่อเป็นการชี้แนะว่า ในรายละเอียดของประเด็นอะไร ที่องค์การสมควรยึดถือปฏิบัติ หรือดำเนินการขึ้นมาตามลำดับ แต่ในขณะที่เครื่องมือ PCOs SR กลับต้องการให้มีการยึดถือรายละเอียดบรรทัดฐานเชิงรูปธรรมเหล่านี้ ไว้เป็นพื้นฐานสำหรับการปฏิบัติงานในเบื้องต้นก่อน และในขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มเติมรายละเอียดที่สำคัญบางประการ ให้สูงขึ้นมาจากระดับบรรทัดฐานเหล่านั้น ที่สร้างขึ้นไว้รองรับอยู่โดยตรง โดยเฉพาะการมุ่งเน้นรายละเอียดลงไปในการกำหนดให้มีการจัดตั้ง หรือดำเนินการปฏิบัติงานขึ้นมาสำหรับองค์การแห่งนั้น เพื่อให้เกิดผลต่อการปฏิบัติงานในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะถือว่า เป็นเรื่องที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากอีกด้วย เพราะฉะนั้นเครื่องมือ SR ที่แสดงผลของความเหมาะสมสำหรับการปฏิบัติงาน ตามแนวทางประการหลังเช่นนี้ จึงมีรายละเอียดที่ครอบคลุมอยู่อย่างกว้างขวางมาก ตั้งแต่การเป็นมาตรฐานที่เป็นข้อแนะนำด้าน SR มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14000 การอาศัยการรายงานผลจาก GRI Reporting guidelines มาตรฐานสำหรับคนงานหรือ SA 8000 และมาตรฐาน Responsible Care สำหรับประเภทอุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น โดยรายละเอียดของมาตรฐานเหล่านี้ จะช่วยชี้บ่ง หรือสามารถสะท้อนในการปรากฏสภาพออกมาเป็นเครื่องมือ SR ที่มีความเหมาะสมเกิดขึ้นเป็นอย่างสูงสำหรับการใช้ประโยชน์ หรือเพื่อเป็นข้อแนะนำที่ดีสำหรับแนวทางการปฏิบัติด้าน SR ขององค์การได้ต่อไป
         สำหรับรายละเอียดของการปฏิบัติงานในบางประเทศ อาจกล่าวได้ว่า บริษัทท้องถิ่นที่มีการทำงานเป็นหุ้นส่วนอยู่ร่วมกับบริษัทแม่ที่มีสถานะเป็นต่างชาตินั้น ระดับความสำเร็จส่วนใหญ่ของการปฏิบัติงานย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถทางการตลาดต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ประกอบกับเมื่อมีการร้องขอเข้ามา เพื่อต้องการให้บริษัทมีการแสดงถึงผลความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติงาน ในลักษณะที่มีความสอดคล้องเป็นไปตรงตามความคาดหวังของลูกค้า นักลงทุนหรือหุ้นส่วน พนักงาน/ ลูกจ้าง และกลุ่ม Stakeholders อื่นๆ หรือมีการเรียกร้องให้เกิดการปฏิบัติงานต้องเป็นไปตรงตามรายละเอียดที่กำหนดไว้ของการเป็นเครื่องมือ SR ในระดับโลกอีกด้วยนั้น ขอยกตัวอย่างประกอบ เพื่อต้องการให้เห็นผลออกมาได้อย่างชัดเจนก็คือ บริษัทที่ทำอุตสาหกรรมป่าไม้ อาจทำการตัดสินใจเลือกแหล่งอ้างอิงสำหรับการเป็นประเภทเครื่องมือ SR ที่มีความเหมาะสมขึ้นมาในระดับภาครัฐบาลต่อรัฐบาลด้วยกัน (เช่น Global Compact) หรืออาจใช้ประเภทของเครื่องมือที่มาจาก PCOs ในลักษณะที่เป็นความสัมพันธ์หรือแสดงเกี่ยวข้องอยู่โดยตรง (เช่น Forest Stewardship Council) ก็ได้อีกเช่นเดียวกัน ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าว จะเป็นการกระทำที่แสดงรายละเอียดอยู่สูงเหนือกว่าขอบเขตของการกำหนดรายละเอียด เพื่อการบังคับใช้ประโยชน์อยู่ในระดับชาติเพียงประการเดียวเท่านั้น และยังช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีขึ้นมาต่อการช่วยสนับสนุนผลการตอบสนองด้านการตลาด หรือการยกระดับการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นมาสำหรับองค์การแห่งนั้นได้โดยตรงอีกด้วย
         เมื่อกล่าวโดยสรุป เครื่องมือ SR ประเภทต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจากภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีแนวโน้มที่จะช่วยมุ่งเน้นต่อการเสริมสร้างวิธีการปฏิบัติงาน และระดับความน่าเชื่อถือในด้านการตลาดสำหรับองค์การแห่งนั้น เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมออกมาเป็นสำคัญ ในขณะที่เครื่องมือ SR ประเภทที่ถูกจัดทำขึ้นมาจากการทำงานของภาครัฐบาล ค่อนข้างจะแสดงผลของการบังคับใช้ประโยชน์เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปตรงตามรายละเอียดของกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องกระทำหรือมุ่งเน้นอยู่มากกว่า แต่อย่างไรก็ตามรายละเอียดของเครื่องมือ SR ที่ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยอาศัยจากการปฏิบัติของ PCOs ต่างๆ ในปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ด้วยเหตุผล เพราะมีการเปิดโอกาส และเอื้ออำนวยให้บุคคล/ กลุ่ม Stakeholders ต่างๆ รวมถึงมีการต้อนรับตัวแทนจากภาครัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วม หรือแสดงบทบาทหน้าที่ตามกระบวนการที่โปร่งใส และในที่สุดย่อมส่งเสริมต่อการพัฒนารายละเอียดของการเป็นเครื่องมือประเภท SR ขึ้นมาได้อย่างเหมาะสมสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์กับองค์การต่างๆ ได้ต่อไปตามลำดับ
 XXXXXXXXX







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น