บทที่ 2
บทบาทขององค์การ ISO และการจัดทำมาตรฐานนานาชาติ (Role of ISO for International Standards)
ตอนที่ 1: ความเป็นมาขององค์การ ISO
1. บทนำ (Introduction)
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการนำมาตรฐานนานาชาติ 2 ฉบับ เข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลายอยู่ทั่วไปในองค์การต่างๆ ในขณะนี้ ก็คงไม่พ้นไปจากเรื่องของ “อนุกรมมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการคุณภาพ (ISO 9000 series)” และ “อนุกรมมาตรฐานเพื่อระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14000 series)” เป็นสำคัญ ดังจะเห็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจน จากผลการสำรวจของ ISO Survey of Certification-2006 (เมื่อสิ้นสุด ณ เดือนธันวาคม) กล่าวว่า ในขณะนี้มีองค์การ/ หน่วยงาน/ บริษัทต่างๆ ทั่วโลก ที่ได้ยื่นผ่านการขอจดทะเบียนรับรองมาตรฐาน ISO 9000:2000 แล้ว จำนวน 897,886 ราย (ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ใน 170 ประเทศ) และ ISO 14000:2004 เป็นจำนวน 129,199 ราย (ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ใน 140 ประเทศ) ตามลำดับ และมีแนวโน้มว่า ในปี 2010 จะมีจำนวนองค์การต่างๆ ทั่วโลก ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งสองดังกล่าว เพิ่มขึ้นมาอีกไม่ต่ำกว่า 150,000 แห่ง จากจำนวนตัวเลขที่คาดการณ์เช่นนี้ ได้ชี้บ่งให้เห็นถึงความสำคัญประการหนึ่งว่า มาตรฐานที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากองค์การ ISO นั้น ปรากฏ “บทบาทของการเป็นผู้นำ (Leader roles)” ขึ้นมาอย่างแท้จริงในเรื่องของมาตรฐานระบบการจัดการในระดับโลก 1/
ตัวอย่างผลงานขององค์การ ISO ต่อการจัดทำมาตรฐานนานาชาติฉบับต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์อยู่ในปัจจุบัน
จากตัวอย่างของความสำเร็จดังกล่าว ได้กระตุ้นทำให้วงการอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ประกอบการทางธุรกิจแทบทุกประเภท ต่างหันมาถามไถ่กันว่า องค์การ ISO คือ หน่วยงานอะไร มีบทบาทหรือภารกิจหลัก รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะกระบวนการยกร่างตัวมาตรฐานขึ้นมาแต่ละฉบับ เพื่อประกาศใช้ประโยชน์โดยตรงนั้น มีรายละเอียดเป็นเช่นใด และต้องอาศัยผลการดำเนินงานโดยคณะทำงาน หรือกลุ่มผู้ปฏิบัติงานจากใครบ้าง เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดของบทนี้จะครอบคลุมเนื้อหาดังกล่าวไว้อย่างครบถ้วน ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการชี้บ่งให้เห็นว่า ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จต่อการกำหนดมาตรฐานระดับนานาชาติฉบับต่างๆ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ และได้ก่อให้เกิดคุณค่าอย่างมหาศาลต่อกลไกการค้าเสรีของโลกที่กำลังดำเนินการอยู่ในสภาพปัจจุบัน
2. มาตรฐานนานาชาติ คือ อะไร (What are international standards)
ความหมายโดยทั่วไปของมาตรฐานก็คือ ระบบเอกสารที่แสดงรายละเอียดที่สอดคล้องและตอบสนองต่อข้อกำหนดที่จำเพาะ (Specific requirements) หรือรายละเอียดด้านเทคนิคต่างๆ (Technical specification) หรือกฎเกณฑ์หลัก (Main criteria) ประการสำคัญ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพื่ออาศัยกำหนดเป็นข้อบังคับ (Rule) แนวทางของการปฏิบัติงาน (Guidelines) หรือสิ่งที่แสดงถึงคำจำกัดความของคุณลักษณะประเภทต่างๆ (Definition of characteristics) ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า วัสดุ ตัวผลิตภัณฑ์ และงานบริการทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากผลลัพธ์ของกระบวนการผลิตจากองค์การแห่งนั้น มีคุณลักษณะที่ดี และสามารถตอบสนองได้ตรงต่อความต้องการ และวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ 2/
เมื่อยกตัวอย่างลักษณะของมาตรฐานนานาชาติที่เห็นผลได้อย่างเด่นชัดก็คือ รูปแบบและลักษณะของบัตรเครดิต บัตรโทรศัพท์ หรือ Smart cards ที่นิยมใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายโดยทั่วไปในปัจจุบัน ล้วนมีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกับการเป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นมา หรือได้รับการกำหนดรายละเอียดออกมาเป็นมาตรฐานนานาชาติ จากผลการปฏิบัติงานขององค์การ ISO แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะคุณลักษณะเด่นประการสำคัญที่พบเห็นกันก็คือ ความหนาที่เหมาะสมของบัตรดังกล่าวทุกประเภท จะมีค่าไม่เกิน 0.76 มม. ซึ่งหมายความว่า ขนาดความหนาเช่นนี้ จะถูกอาศัยใช้เป็นตัวกำหนดมาตรฐานหลักสำหรับบัตรเครดิตที่ใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายทั่วๆ ไปในโลก
นอกจากนี้ลักษณะการใช้ประโยชน์จากมาตรฐานระดับนานาชาติฉบับที่เป็นสากลนิยมโดยทั่วไป ยังก่อให้เกิดผลที่ดีขึ้นมาต่อสภาพการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย และมีความสะดวกสบายของมนุษย์ในปัจจุบัน รวมถึงช่วยเพิ่มพูนระดับความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นโดยตรงกับการใช้ประโยชน์จากตัวสินค้าและบริการว่า เป็นไปในลักษณะที่มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
3. องค์การ ISO คือ อะไร (What is ISO)
องค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ จัดเป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐบาล (Non-governmental organization) และประกอบขึ้นด้วยจำนวนประเทศภาคีสมาชิกที่ต่างมีสถานภาพจัดเป็น “สถาบันมาตรฐานประจำชาติ (National Standard Bodies; NSB)” ในแต่ละประเทศทั่วโลก (ประเทศละหนึ่งแห่งเท่านั้นที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนอยู่ภายในองค์การดังกล่าว) และในสภาพปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกอยู่ไม่น้อยกว่า 157 ประเทศทั่วโลก
สำหรับประวัติความเป็นมาของการจัดตั้งองค์การมาตรฐานนานาชาติ ที่เริ่มต้นขึ้นมาเป็นแห่งแรกในปี 1906 จะเกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าโดยตรงก็คือ องค์การ Electrotechnical Commission (IEC) ส่วนการปฏิบัติงานด้านมาตรฐานในสาขาอื่นๆ เช่น วิศวกรรมเครื่องกล ก็ถูกกำหนดและดำเนินงาน โดยอาศัยองค์การที่เรียกว่า International Federation of the National Standardizing Associations (ISA) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาในปี 1926 ในระยะเวลาต่อมาบทบาทการดำเนินงานขององค์การ ISA ได้ยุติลงอย่างสิ้นเชิงในปี 1942 ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สอง จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกสงบลง จึงได้กำหนดให้มีการประชุมใหญ่ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในจำนวน 25 ประเทศ ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตัวแทนของประเทศเหล่านี้ ต่างลงมติเห็นพ้องต้องกันในเรื่องของความต้องการให้มีองค์การนานาชาติขึ้นมาทำหน้าที่ในการกำหนดรูปแบบ หรือลักษณะของการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพื่อมุ่งหมายก่อให้เกิดความร่วมมือกันในการสร้างมาตรฐานปฏิบัติทางอุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์เป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก เพราะฉะนั้นองค์การใหม่แห่งนี้ จึงถูกเรียกชื่อว่า ISO และได้เรื่มต้นประกอบภารกิจหลักอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ 1947 เป็นต้นมา โดยเฉพาะผลงานแรกในการกำหนดเป็นมาตรฐานในปี 1951 ก็คือ มาตรฐานที่ใช้อ้างอิงสำหรับอุณหภูมิที่เกี่ยวข้องกับการวัดความยาวทางอุตสาหกรรม (Standard reference temperature for industrial length measurement) 3/
สำนักงานใหญ่ขององค์การ ISO ที่เจนีวา ที่เป็นอาคารเก่า และสถานที่แห่งใหม่สำหรับการปฏิบัติงาน
ในทางปฏิบัติองค์การ ISO ที่ถือกำเนิดขึ้นมาดังกล่าว ได้ประกาศถึงพันธกิจหลัก (Mission) ออกมาอย่างชัดเจนประการหนึ่งก็คือ การสนับสนุนให้มีการพัฒนา “มาตรฐานปฏิบัติ (Standardization)” ขึ้นมาใช้ประโยชน์ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมย่อยขึ้นมาภายในส่วนต่างๆ ทั่วโลก ทั้งนี้ก็เพื่อความต้องการสำหรับการแลกเปลี่ยนตัวสินค้าและบริการ หรือเกิดการพัฒนาสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันในด้านของทรัพย์สินทางปัญญา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจเป็นประการสำคัญ เพราะฉะนั้นผลการปฏิบัติงานที่สำคัญขององค์การ ISO จึงเกี่ยวเนื่องกับการสร้างมาตรฐานนาชาติขึ้นมาที่เรียกว่า “International Standards; IS” โดยที่ประเทศต่างๆ เหล่านั้น สามารถยินยอมหรือเห็นพ้องต้องกันในการยอมรับมาตรฐานฉบับดังกล่าว เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรงต่อไป 4/
ผลงานการจัดทำมาตรฐานระดับนานาชาติ (IS) ขององค์การ ISO โดยอาศัย TC และสมาชิก เป็นผู้ดำเนินการขึ้นมา
3.1 ชื่อเรียกขององค์การ ISO (ISO’s name)
เมื่อกล่าวถึง ISO ประชาชนโดยทั่วไปค่อนข้างจะสังเกตเห็นถึงลักษณะของความไม่สอดคล้อง หรือไม่ต่อเนื่องเข้ากันได้เป็นอย่างดีในเรื่องของคำเรียกชื่อเป็นเบื้องต้น กล่าวคือ คำว่า “องค์การมาตรฐานระหว่างประเทศ หรือ International Organization for Standardization” ซึ่งตามความเป็นจริงในคำย่อของภาษาอังกฤษแล้วควรเรียกว่า “IOS” แต่กลับมานิยมใช้คำที่สั้น และเรียกว่า “ISO” เข้ามาแทนที่ดังกล่าว และอะไรเป็นสาเหตุของการเรียกขึ้นมาเช่นนี้
ตามความเป็นจริงแล้ว “ISO” มีรากศัพท์มาจากคำที่ใช้ประโยชน์กันอยู่ทั่วไปในภาษากรีกที่เรียกว่า “isos” ซึ่งหมายถึง “ความเท่าเทียมกัน (Equal)” เพราะฉะนั้นการใช้คำนำหน้า (Prefix) ของ iso ดังกล่าว ประกอบเพิ่มเติมเข้าไปในส่วนตอนหน้าของคำหลักต่างๆ เช่นนั้น จึงก่อให้เกิดความหมายที่ดีขึ้นมาในด้านที่เกี่ยวข้องออกมาหลายประการ เช่น “isometric” (หน่วยของการวัดหรือการมีขนาดที่เท่าเทียมกัน) หรือ “isonomy (ความเสมอภาคกันในทางกฏหมายสำหรับประชาชน)” เป็นต้น
จากลักษณะของคำที่เกี่ยวเนื่องเช่นนี้ โดยเฉพาะจากความหมายที่ว่า “ความเท่าเทียมกัน” เมื่อแปลงผันเข้ามาสู่การเป็น “มาตรฐานระดับนานาชาติ (International Standards; IS)” จึงเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเลือกนำคำว่า ISO เข้ามาใช้เป็นชื่อเรียกที่เหมาะสมสำหรับองค์การมาตรฐานระหว่างประเทศแห่งนี้โดยตรง เพราะจะก่อให้เกิดความสะดวกในการเรียก หรือกล่าวถึงเป็นคำที่สั้นและง่ายต่อความเข้าใจในความหมายโดยประชาชนทั่วๆ ไป นอกจากนี้รายละเอียดเหตุผลเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งก็คือ ต้องการกำหนดคำว่า ISO ให้มีลักษณะที่จำเพาะเจาะจงลงไปสำหรับการแสดงเอกลักษณ์ของการเป็นองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหรือสร้างมาตรฐานปฏิบัติประเภทต่างๆ ขึ้นมา เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ภายในประเทศต่างๆ ได้โดยตรง ซึ่งจะเกิดผลที่ดีมากกว่าการเรียกองค์การดังกล่าว เป็นเพียงลักษณะคำพ้อง หรือคำคล้องจ้องในภาษาอื่นๆ แทนที่ เช่น ในภาษาอังกฤษเรียกว่า IOS แต่พอมาเป็นภาษาฝรั่งเศสแล้ว กลับต้องเรียกองค์การแห่งนี้ว่า OIN (จากคำว่า Organisation internationale de normalization) ซึ่งในที่สุดย่อมก่อให้เกิดความสับสนขึ้นมาได้ง่ายมาก เพราะฉะนั้นเมื่อมีการกำหนดว่า จะเรียกเป็นภาษาในประเทศใดๆ ก็ตาม การใช้คำว่า ISO เพียงประการเดียว จึงดูจะเป็นคำที่เหมาะสมมากที่สุดสำหรับการเรียกชื่อองค์การมาตรฐานนานาชาติแห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง
3.2 สาเหตุและความต้องการในเรื่องของการมีมาตรฐานปฏิบัติระดับนานาชาติ (Why is international standardization needed)
สืบเนื่องเหตุผลมาจากการมีมาตรฐานปฏิบัติเพื่อใช้งานในด้านต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต ค่อนข้างจะให้รายละเอียดของการปฏิบัติงานที่แตกต่างกันออกไปเป็นอย่างมากสำหรับภายในแต่ละประเทศหรือภูมิภาคของโลก และสิ่งนี้ได้ส่งผลก่อให้เกิด “อุปสรรคและข้อขัดข้องเทคนิคทางการค้า (Technical barriers to trade)” ขึ้นมาหลายประการโดยตรง เพราะฉะนั้นทุกประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิต หรืออุตสาหกรรมส่งออก ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า จำเป็นจะต้องมีมาตรฐานในระดับนานาชาติเกิดขึ้นแทนที่ ทั้งนี้เพื่อเกื้อหนุน และช่วยเอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการค้าขายอย่างเป็นระบบที่เท่าเทียมกันทั่วโลก เหตุผลประการสำคัญเช่นนี้ก็คือ จุดกำเนิดของการจัดตั้งองค์การ ISO ขึ้นในระยะเวลาต่อมา
ในปัจจุบันมาตรฐานนานาชาติฉบับสมบูรณ์ ที่ถูกจัดพิมพ์และเผยแพร่ออกมาโดยองค์การ ISO จะครอบคลุมรายละเอียดในหลายๆ ด้านของการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกัน ตั้งแต่ในเรื่องของกระบวนการติดต่อสื่อสาร โทรคมนาคมและสารสนเทศ อุตสาหกรรมทอผ้าและเครื่องนุ่งห่ม การบรรจุและหีบห่อผลิตภัณฑ์ การจำหน่ายสินค้าปลีก การผลิตและการใช้ประโยชน์จากพลังงาน อุตสาหกรรมต่อเรือ ธุรกิจธนาคารและการบริการสถาบันการเงิน เป็นต้น และคาดว่า มาตรฐานนานาชาติในสาขาอื่นๆ คงจะมีการจัดทำให้มีการขยายตัว และเพิ่มพูนความสำคัญออกไปในทุกๆ ส่วนของการประกอบการค้าและธุรกิจการบริการอย่างแน่นอนในอนาคต ทั้งนี้ก็สืบเนื่องด้วยเหตุผลที่สำคัญหลายประการร่วมด้วย กล่าวคือ
· ความก้าวหน้าในด้านการเปิดการค้าเสรีแพร่กระจายขึ้นมาทั่วโลก (Worldwide progress in trade liberalization)
ในปัจจุบันเศรษฐกิจที่มีลักษณะเป็นแบบ “การตลาดและการค้าเสรี (Free-market economies)” กำลังมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในทุกขณะ และมีส่วนช่วยกระตุ้นก่อให้เกิดสภาพการผลิตที่มีลักษณะหลากหลาย ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดช่องทางหรือโอกาสสำหรับการขยายตลาดของสินค้าและบริการโดยตรง ในด้านความเจริญของเทคโนโลยีที่ล้ำก้าวหน้าไปก็เช่นเดียวกัน ได้กลายสภาพมาเป็นแรงผลักดันก่อให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรม ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการระบุชี้บ่งหรือสามารถยืนยันผลของการปฏิบัติงานที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานออกมา หรือเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการอ้างอิงจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่งได้ รวมถึงยังสามารถสื่อสารในความเป็นหลักสากลดังกล่าว จากภูมิภาคหนึ่งไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปแบบเดียวกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นการกระตุ้นก่อให้เกิดมาตรฐานนานาชาติแต่ละฉบับขึ้นมา รวมถึงมีการยอมรับหรือประกาศเป็นฉันทามติ (Consensus) เพื่อให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ทุกฝ่ายสำหรับผู้ประกอบการ หรือวงการอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ นั้น จึงมีลักษณะเท่ากับเป็นการสื่อความหมายและการใช้ “ภาษาการค้า (Language of trade)” อย่างเดียวกันทั่วโลก
เขตการค้าเสรี (FTA) ที่แพร่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ประเทศ และภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
· ความตื่นตัวของสังคมและประชาชนทั่วโลก (Society and people concerned)
ในปัจจุบัน เราแทบจะกล่าวความจริงออกมาได้ประการหนึ่งว่า คงไม่มีการประกอบการธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมประเภทใดๆ ก็ตาม ที่สามารถครอบครองความได้เปรียบอยู่สูง และปราศจากคู่แข่งขันทางการค้า หรือไม่มีรายละเอียดของกฏเกณฑ์ต่างๆ เข้ามาบังคับในทางปฏิบัติอย่างแน่นอนตายตัวสำหรับการผลิตสินค้าและบริการ โดยเฉพาะในเรื่องของอิทธิพลหรือกระแสความต้องการของประชาชนหรือสังคมนั้น ได้แพร่กระจายเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยแทบทุกกรณี เช่น มีการตื่นตัวในเรื่องของการควบคุม หรือการสร้างผลิตภัณฑ์ออกมาให้มีความใกล้ชิดหรือแสดง “ความเป็นเพื่อนกับสิ่งแวดล้อม (Environment friendly products)” เพิ่มมากขึ้น หรือส่งเสริมให้มีการนำตัวผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการใช้ประโยชน์แล้วนั้น กลับมาเข้าสู่การแปรเปลี่ยน เพื่อหมุนเวียนไปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ (Recycle product) อีกครั้งหนึ่ง หรืออาจอาศัยใช้การแปรรูปตัวผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ให้มาอยู่ในลักษณะของ “หีบห่อที่สามารถย่อยสลายตัวได้ง่าย ตามสภาพธรรมชาติ (Biodegradable packaging) หรือตามวัฏจักรของตัวผลิตภัณฑ์ (Life Cycle)” เป็นต้น บทบาทและความสำคัญในเรื่องต่างๆ เช่นนี้ นับวันจะเพิ่มพูน หรือสะท้อนออกมาให้เห็นกับการปรากฏตัวของมาตรฐานนานาชาติฉบับต่างๆ ที่ประกาศขึ้นมาใช้บังคับร่วมด้วยสำหรับสถานประกอบการผลิตเกือบทุกแห่งทั่วโลก

· ระบบการสื่อสารที่แพร่กระจายและกว้างขวางออกไปทั่วโลก (Worldwide communications systems)
· ระบบการสื่อสารที่แพร่กระจายและกว้างขวางออกไปทั่วโลก (Worldwide communications systems)
การนำระบบสารสนเทศหรือคอมพิวเตอร์ เข้ามาใช้ประโยชน์ภายในองค์การ (ผู้ผลิต) จัดเป็นตัวอย่างของเทคโนโลยีแบบหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดผลของการติดต่อสื่อสารอย่างกว้างขวางขึ้นมาทั่วโลก รวมถึงเกิดการพัฒนาระบบมาตรฐานที่เป็นไปด้วยความก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้สาเหตุประการสำคัญ ก็สืบเนื่องมาจากการเกิดสภาพการแข่งขันกันอย่างสูงในเชิงการค้าระหว่างองค์การต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการผลิตสินค้าและบริการ เพราะฉะนั้นองค์การจะแสดงความอยู่รอดปลอดภัยได้ในระยะยาว จึงต้องให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงตนเอง โดยการอาศัยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในทุกรูปแบบ การสร้างนวัตกรรมขึ้นมาแบบใหม่ เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ตอบสนองต่อผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง และสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงได้ให้มากที่สุดเท่าที่จะปฏิบัติได้ภายในองค์การของตนเอง เป็นต้น
· การสร้างมาตรฐานปฏิบัติขึ้นมาในระดับโลกสำหรับวงการวิชาชีพหรือการแสดงถึงเทคโนโลยีแบบใหม่ (Global standards for emerging technologies)
ในอดีตที่ผ่านมาลักษณะของการกำหนดมาตรฐานขึ้นมาแต่ละครั้ง จะครอบคลุมรายละเอียดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการปฏิบัติงานด้านอุตสาหกรรม หรืองานการผลิตเป็นหลัก และหลงลืมมาตรฐานกำหนดรายละเอียดในด้านอื่นๆ เป็นอย่างมาก แต่จากผลสืบเนื่องด้วยความเจริญและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ได้ช่วยกระตุ้นทำให้ต้องหันเหมาพิจารณาถึงมาตรฐานในลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในรูปแบบใหม่ประกอบร่วมด้วย และเท่าที่กำลังดำเนินการยกร่างอยู่ในสภาพปัจจุบัน หรือเพื่อต้องการประกาศออกมาใช้ประโยชน์ในอนาคต ก็มีอยู่ด้วยกันหลายแขนง เช่น มาตรฐานในด้านของการจัดจำแนกชนิดวัสดุที่ถูกค้นพบขึ้นมาครั้งใหม่ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สุขอนามัยและความปลอดภัยภายในสถานที่ทำงาน วิทยาศาสตร์ชีวภาพ ชุมชนเมือง และการก่อสร้าง เป็นต้น ลักษณะของการกำหนดมาตรฐานออกมาในรูปแบบใหม่เช่นนี้ จึงค่อนข้างเป็นประโยชน์ที่กว้างขว้าง และมีผลในการบังคับใช้อย่างแท้จริงมากกว่าสภาพที่เป็นมาเหมือนในอดีต
· ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายทั่วโลก (Developing countries)
ประเทศที่กำลังพัฒนา หรือองค์การเพื่อการพัฒนาทั้งหลายที่แพร่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก กำลังหันเหมาให้ความสนใจ และมีความตระหนักเพิ่มขึ้นในเรื่องของการกำหนดจัดตั้ง และสร้างมาตรฐาน หรือระเบียบปฏิบัติต่างๆ ขึ้นมาใช้ประโยชน์สำหรับการเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาระดับเศรษฐกิจสำหรับประทศของตน ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า การสร้างรากฐานอย่างแข็งแรงเช่นนี้นอกจากจะมีความสำคัญต่อการปรับปรุงลักษณะการเพิ่มผลผลิต หรือช่วยให้สามารถทำการแข่งขันทางการตลาด โดยส่งเสริม หรือยกระดับความสามารถในการจัดส่งจำนวนสินค้าขาออกให้เพิ่มขึ้นไปในตัวแล้ว ยังมีความหมายที่ว่า ในระยะที่ยาวนั้น ยังช่วยส่งผลที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมแบบยั่งยืน และจะเป็นผลประโยชน์อย่างถาวรต่อเนื่องออกไปในอนาคตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การกำหนดมาตรฐานปฏิบัติอย่างกว้างขวางในวงการประเภทต่างๆ จัดว่า เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อสินค้าหรือการบริการดังกล่าว มีลักษณะที่สามารถตอบสนองและเป็นไปในรูปแบบเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ผลที่เกิดขึ้นยังเป็นสิ่งสืบเนื่องขึ้นมาจากความตกลง หรือการมีฉันทามติร่วมกันจากบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นผู้รับจ้างการผลิต ผู้ใช้ประโยชน์ องค์การภาครัฐบาล ฯลฯ โดยทั่วไปลักษณะของการยินยอมเช่นนี้ จะเป็นไปในเรื่องของการกำหนดรายละเอียด้านเทคนิค หรือประเภทของวัตถุดิบ ที่อนุญาติให้นำเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมด้วยในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือการปฏิบัติงานเพื่อการบริการเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในที่สุดการปฏิบัติดังกล่าวจะก่อให้เกิดการค้าขาย การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งผ่านขั้นตอนต่างๆ ร่วมด้วยดังนี้
- กระตุ้นก่อให้เกิดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และระดับความเชื่อถือในเรื่องของราคาที่เป็นไปได้อย่างเหมาะสม หรือมีความยุติธรรมเกิดขึ้น
- เกิดการปรับปรุงในเรื่องของสุขอนามัยส่วนบุคคล ความปลอดภัย และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการลดจำนวนเศษขยะหรือของเสียประเภทต่างๆ ให้ลดน้อยลงได้ตามลำดับ
- ก่อให้เกิดลักษณะความเข้ากันได้เป็นอย่างดี หรือการใช้ประโยชน์ได้ง่ายจากตัวสินค้าหรืองานบริการต่างๆ โดยตรง
- ช่วยลดจำนวนประเภท หรือความหลากหลายในตัวรูปแบบของสินค้าหรือการบริการ และในขณะเดียวกันจะช่วยลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตให้ต่ำลงมาอีกด้วย
- ช่วยเพิ่มพูนศักยภาพของช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าและการบริการ รวมถึงความง่ายสะดวกในการบำรุงรักษาตัวผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ผู้ใช้ประโยชน์จากตัวผลิตภัณฑ์และการบริการ ยังเกิดทัศนคติที่ดี และมีระดับของความเข้าใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจะเกิดความเชื่อมั่นว่า รายละเอียดส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการครั้งนั้น จะมีคุณลักษณะที่เป็นไปและสามารถตอบสนองตรงต่อข้อกำหนดของมาตรฐานฉบับนานาชาติได้อย่างแท้จริง รวมถึงการประเมินผลระบบคุณภาพขององค์การก็ยังอาจกระทำได้ โดยอาศัยการยื่นผ่านการขอจดทะเบียนรับรองมาตรฐานจากสถาบันรับรองภายนอก ซึ่งจะทำหน้าที่ในการควบคุม หรือรักษาระบบคุณภาพขององค์การไว้ให้มีประสิทธิภาพที่แท้จริงได้ตลอดไป
3.3 ผลงานและความสำเร็จขององค์การ ISO (ISO achievement)
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นข้างล่างนี้ จัดเป็นผลงานมาตรฐานขององค์การ ISO ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ในงานด้านต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ดีต่อวงการอุตสาหกรรม การค้า และผู้บริโภค ดังรายละเอียดต่อไปนี้
· มาตรฐานของการกำหนดรหัสความเร็วของฟิลม์ที่เรียกว่า ISO film speed code นิยมใช้งานกันมากสำหรับวงการและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายรูปเป็นหลัก เพราะมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว
· มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนด “รูปแบบและลักษณะของบัตรเครดิตโทรศัพท์และธนาคาร” ที่ใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกในสภาพปัจจุบัน
· มาตรฐานนานาชาติเพื่อการกำหนดลักษณะ และขนาดของตู้บรรจุผลิตภัณฑ์สำหรับการส่งสินค้าออก (Internationally standardized freight container) ซึ่งถือได้ว่า เป็นองค์ประกอบที่สำคัญเพื่อใช้ประโยชน์ในระบบการขนส่งโดยทั่วไป เช่น ทางอากาศ หรือเรือบรรทุกทางทะเล ทางรถไฟ ทางด่วนหรือถนน หรืออาจใช้เพื่อการบรรจุหรือหีบห่อผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ เป็นต้น วิธีการปฏิบัติเช่นนี้ร่วมด้วยเข้ากับการใช้ระบบเอกสารที่เป็นมาตรฐานอย่างเด่นชัด ก็สามารถยืนยัน หรือระบุถึงผลของความระมัดระวังสำหรับตัวสินค้าซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือแสดงความมีภัยขึ้นมาได้โดยง่ายต่อผู้ใช้ประโยชน์ และในที่สุดย่อมส่งผลทำให้กระบวนการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายสินค้าเหล่านี้ เป็นไปในลักษณะที่รวดเร็ว ปลอดภัย และเสียค่าต้นทุนที่ต่ำมาก
มาตรฐานของตู้บรรจุผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก
· หน่วยวัดสากลนิยม (Universal system of measurement) ที่ใช้ประโยชน์กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันก็คือ ระบบ SI (Sysime international d’units) ซึ่งกล่าวถึงหน่วยวัดที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญ 7 ประการสำหรับการปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้แก่ ความยาว (เมตร; m) น้ำหนัก (กิโลกรัม; kg) เวลา (วินาที; s) ความยาวคลื่น (อังสตรอม; A) อุณหภูมิสัมบูรณ์ (องศาเคลวิน; Ko) น้ำหนักโมเลกุล (โมล; mol ) และความเข้มของแสง (แคนเดิลล่า; cd) เป็นต้น
ในทางปฏิบัติหน่วยของการวัดพื้นฐานทั้งหลายเหล่านี้ จึงถูกกำหนดความหมาย และรายละเอียดต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน โดยปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของอนุกรมมาตรฐานนานาชาติที่ประกาศใช้โดยองค์การ ISO เพราะฉะนั้นถ้าขาดผลของการรับรองมาตรฐานเช่นนี้อย่างเป็นสากลนิยมแล้ว ก็คงมองเห็นภาพได้ว่า ลักษณะการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการวัดในหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการค้า หรือการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านใดๆ ก็ตาม คงประสบกับปัญหาของความยุ่งยากสำหรับการปรับเปลี่ยนค่าของหน่วยวัดในการนำไปใช้ประโยชน์ในแต่ละประเทศเป็นอย่างมาก สาเหตุทั้งนี้ก็เพราะไม่ได้ยึดถืออยู่บนพื้นฐานของการเป็นมาตรฐานประเภทเดียวกัน นั่นเอง
· ขนาดของกระดาษ ตามรายละเอียดของการกำหนดแบบดั้งเดิม ยึดถือมาจากมาตรฐานของประเทศเยอรมันนี (โดยสถาบันรับรองมาตรฐานประจำชาติ คือ DIN) ซึ่งประกาศใช้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 1922 แต่ในปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้หันมาใช้มาตรฐานของการกำหนดขนาดของกระดาษดังกล่าว ตามแบบฉบับของมาตรฐาน ISO 216 การปฏิบัติเช่นนี้ จึงช่วยส่งผลก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายสินค้าขึ้นมา โดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านผลิตกระดาษ และผู้ใช้/ ผู้ซื้อเป็นประการสำคัญ
มาตรฐานของกระดาษตามขนาดต่างๆ ที่กำหนดไว้โดย ISO 216
· รูปแบบและสัญลักษณ์ของเครื่องมือควบคุมชนิดต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ภายในรถยนต์ทุกคัน ไม่ว่าจะทำการผลิตออกมาจากโรงงานแห่งใดในโลก ล้วนมีการออกแบบและถูกกำหนดด้วยสัญลักษณ์ตามข้อกำหนดขององค์การ ISO อย่างเดียวกันทั้งหมด รายละเอียดของสิ่งเหล่านี้ จึงช่วยสื่อความหมายให้เกิดความเข้าใจได้ตรงกัน และง่ายต่อการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการไม่ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคขึ้นมาสำหรับการใช้ประโยชน์ภายในสภาพของพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ถึงแม้ว่า จะมีความแตกต่างในเรื่องของการใช้ภาษาที่หลากหลายออกไปตามสภาพปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และถือว่า เป็นปัจจัยหลักที่ควบคุมการติดต่อสื่อสารของผู้ใช้ประโยชน์ก็ตาม
· ความปลอดภัยของเชือกชักและตัวลูกรอก (Wire ropes) ตามปรกตินิยมนำวัสดุเหล่านี้ มาใช้ประโยชน์ในวงการอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เช่น เรือขุดเจาะน้ำมันในทะเล เรือประมงหาปลา เหมืองขุดแร่บนบก การชักจูงและลากสำหรับลิฟต์ หรือรถกระเช้า เป็นต้น ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานนานาชาติโดยองค์การ ISO จะกล่าวถึงคุณลักษณะด้านเทคนิคของวัสดุเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจนมากที่สุด เช่น ขนาดและความหนาที่เหมาะสม ความเรียบของผิว ระดับและความทนทานต่อแรงดึงหรือการใช้ประโยชน์ ฯลฯ นอกจากนี้การกำหนดลักษณะของมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของการใช้งาน รวมถึงข้อกำหนดด้านความปลอดภัยดังกล่าวสำหรับตัวผลิตภัณฑ์ ก็เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการตอบสนองที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้าในการนำไปใช้ประโยชน์ได้เหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติอยู่ในขณะนั้นๆ รวมถึงยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันอย่างจริงจัง สำหรับการสร้างตัวผลิตภัณฑ์อย่างมีคุณภาพระหว่างผู้ผลิตแต่ละรายเป็นประการสำคัญ ซึ่งในที่สุดย่อมก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ดีต่อต่อลูกค้าหรือผู้ใช้ประโยน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
· ความแตกต่างในเรื่องของรูปทรง ขนาดและความหลากหลายที่พบเห็นกันโดยทั่วไปสำหรับอุปกรณ์บางชนิดนั้น เช่น สกรูและเกลียว (Screw threads) ล้วนก่อให้เกิดความสับสนสำหรับการนำไปใช้ประโยน์ในงานได้บางครั้ง เพราะส่วนใหญ่มีลักษณะที่อาจคล้ายคลึงกัน หรืออาจก่อให้เกิดอุปสรรคขึ้นมาได้บ้างในด้านปัญหาของการบำรุงรักษา การเกิดสภาพที่สูญหายออกไปได้ง่าย เมื่อมีการถอดชิ้นส่วน หรือประกอบอุปกรณ์เหล่านี้ บางตัวเข้าด้วยกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นเพื่อมุ่งหวังในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้หมดสิ้นไป องค์การ ISO จึงได้กำหนดรายละเอียด ที่มีคุณสมบัติที่ชัดเจน สำหรับมาตรฐานประเภทนี้ ขึ้นมาโดยเฉพาะที่เรียกว่า ISO metric screw threads
XXXXXXXXX
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น