บทที่ 1
มาตรฐาน และมาตรฐานปฏิบัติสำหรับองค์การสมัยใหม่ (Standards and Standardization for Modern Organization)
ตอนที่ 3: บทบาท และความสัมพันธ์ของ WTO และมาตรฐานระบบการจัดการ

WTO ร่วมกับหน่วยงาน/ องค์การระดับนานาชาติต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐาน หรือ TBT Agreement
3.5 องค์การค้าโลก (World Trade Organization; WTO)
จากมติและผลการประชุมของ “คณะกรรมการว่าด้วยข้อกำหนดโดยทั่วไปในเรื่องของอัตราพิกัดภาษีและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade; GATT) รอบอุรุกวัย (Uruguay Round)” ได้มีส่วนกระตุ้นก่อให้เกิด “องค์การค้าโลก (WTO)” ขึ้นมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1995 และจากผลของการสำรวจถึงวันที่ 1 มกราคม 2008 เป็นต้นมา องค์การ WTO ประกอบไปด้วยจำนวนสมาชิกอยู่รวมกัน 132 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีสถานภาพเป็นรัฐบาลกลาง (Central governments) ของแต่ละประเทศแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นผลลัพธ์ประการหนึ่งที่เกิดขึ้นติดตามมาจากผลของการปฏิบัติงานร่วมกันดังกล่าวก็คือ มี “การประกาศเป็นข้อตกลง (Agreement)” ระหว่างประเทศสมาชิกเหล่านี้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดสภาพของการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือการบริการที่เป็นไปตามกลไกของการค้าตลาดเสรี รวมถึงยังมีการกำหนดข้อตกลงออกมาอีกประการหนึ่งก็คือ เพื่อทำหน้าที่ช่วยลดหรือขจัดปัญหาและอุปสรรคด้านเทคนิคในทางการค้าร่วมกันที่เรียกว่า “Agreement on Technical Barriers to Trade (WTO TBT)” ซึ่งถือได้ว่า เป็นสัญญาข้อตกลงทางกฎหมายที่สำคัญฉบับหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ WTO Agreement ทั้งหมดที่ประกาศออกมาใช้บังคับในจำนวน 29 ฉบับ และจากผลสืบเนื่องของการตกลงเช่นนี้ จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้ประเทศสมาชิกขององค์การ WTO ทั้งหลายต่างต้องผูกมัดตนเอง และประกาศใช้เป็นพันธสัญญาร่วมกันอยู่บนพื้นฐานประการหนึ่งว่า จำเป็นจะต้องมีการนำกฎเกณฑ์ด้านเทคนิคที่สำคัญ (Technical regulations) มาตรฐานปฏิบัติประเภทต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ด้วยความสมัครใจ (Voluntary standards) หรือการยินยอมให้มีการกำหนดระเบียบปฏิบัติขึ้นมาใช้สำหรับการตรวจประเมินหรือติดตามผลการปฏิบัติงานขององค์การทั้งหมด (Conformity assessment procedures) ทั้งนี้ก็ด้วยวัตถุประสงค์หลักประการสำคัญก็คือ การช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนสินค้า หรือบริการให้เป็นไปได้ด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพที่สูง และในขณะเดียวกันจะเป็นการช่วยลดปัญหา อุปสรรค หรือขัดข้อข้องทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการค้าให้ลดน้อยลงได้อีกด้วย 21/
นอกจากนี้ถ้าสังเกตจากรายละเอียดในภาคผนวกที่ 3 ของ TBT Agreement ที่อ้างถึงไว้แล้วในเบื้องต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า “แนวทางในการปฏิบัติที่ดีสำหรับการตระเตรียม การยอมรับ และการใช้ประโยชน์โดยตรงจากมาตรฐาน (Code of Good Practice for the Preparation, Adoption and Application of Standards)” ประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว ยิ่งจะเห็นผลออกมาได้อย่างชัดเจนตรงกันประการหนึ่งว่า ตามผลของการยอมรับใช้ข้อกำหนดเช่นนั้น ทุกประเทศสมาชิกขององค์การ WTO จำเป็นจะต้องแสดงความมุ่งมั่น และเห็นพ้องต้องกันในการช่วยกระตุ้นและผลักดันให้ “สถาบันหรือหน่วยงานมาตรฐานกลางประจำชาติ” แต่ละประเทศเกิดการยอมรับ หรือมีการปฏิบัติงานที่เป็นไปและสอดคล้องตรงต่อความต้องการของ Code of Good Practice ทุกประการ โดยเฉพาะต้องมีการยอมรับร่วมกันอย่างเป็นฉันทามติว่า ทุกสถาบัน/ หน่วยงานมาตรฐานที่ทำหน้าที่ในระดับท้องถิ่น หน่วยงานมาตรฐานที่ไม่ใช่มาจากภาครัฐบาล หรือสถาบันมาตรฐานประจำภูมิภาคแต่ละแห่งนั้น จะต้องมีความยินยอมพร้อมใจรับ หรือสามารถปฏิบัติงานตามข้อตกลงเช่นนี้ได้ โดยอาศัยวิธีการที่มีลักษณะเปิดเผย โปร่งใสในรายละเอียด และเป็นไปด้วยความสมัครใจอย่างแท้จริงในการเข้าร่วมงานดังกล่าว โดยไม่มีวัตถุประสงค์ของความมุ่งหวังของการประกาศใช้มาตรฐานขึ้นมา เพื่อบังคับให้ปฏิบัติงานตามแต่เพียงประการเดียวเท่านั้น 22/
WTO ร่วมกับหน่วยงาน/ องค์การระดับนานาชาติต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐาน หรือ TBT Agreement
เพราะฉะนั้นรายละเอียดตามข้อตกลงร่วมกันของ TBT Agreement ส่วนใหญ่ที่ประกาศออกมาโดยองค์การ WTO จึงค่อนข้างตระหนัก และยอมรับในเรื่องความสำคัญของบทบาทในการแสดงความเป็นมาตรฐานนานาชาติ รวมถึงอิทธิพลของการกำหนดและจัดตั้งระบบการประเมินผลหรือตรวจติดตาม (Audit) ขึ้นมา เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามความต้องการของมาตรฐานฉบับนั้นๆ จึงดูจะเป็นแนวทางประการหนึ่งที่มีส่วนช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตสินค้าหรือการบริการให้ดีมากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันจะเป็นส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดผลของการแลกเปลี่ยนทางการค้า (สินค้า/ บริการ) ให้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก ประกอบกับเหตุผลที่ว่า ในเมื่อบทบาทและความสำคัญของการมีมาตรฐานนานาชาติ ได้กลายสภาพมาเป็นปัจจัยประการสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วในยุคปัจจุบัน ดังนั้นรายละเอียดทั้งหลายที่ระบุอยู่ภายใน Code of Good Practice จึงกล่าวไว้อย่างชัดเจนเสริมด้วยว่า เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งแล้วที่ทุกหน่วยงาน หรือองค์การมาตรฐานต่างๆ ประจำภูมิภาคแต่ละแห่ง จะต้องมีบทบาทและช่วยส่งเสริมให้มีการนำเรื่องของมาตรฐานปฏิบัติทุกส่วนไปใช้ประโยชน์ หรืออาจอาศัยรายละเอียดบางส่วนจากตัวมาตรฐานเหล่านั้น ไปใช้เพื่อมุ่งตอบสนองให้ตรงต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ หรือสังคมเป็นประการสำคัญ ในขณะเดียวกันก็มุ่งหมายเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมว่า จะต้องมีการกระตุ้นให้หน่วยงานทุกแห่งที่เกี่ยวข้องกับการกำหนด หรือประกาศใช้มาตรฐานเหล่านั้น มีบทบาทที่สำคัญในการเป็นแหล่งตระเตรียม หรือจัดสร้างมาตรฐานปฏิบัติฉบับต่างๆ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง โดยผ่านอาศัยการทำงานร่วมกันจากสถาบันหรือหน่วยงานมาตรฐานประจำชาติแต่ละแห่งเป็นสำคัญ
จากการอาศัยพื้นฐานในเรื่องของ “ความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบผลได้ (Transparency)” ประกอบร่วมด้วยนั้น ตามข้อตกลงของ Code of Good Practice ยังได้ระบุถึงความต้องการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนอีกประการหนึ่งว่า หน่วยงาน/ องค์การมาตรฐานทุกแห่ง ล้วนจำเป็นต้องมีการเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล หรือสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการสมัครเข้าเป็นสมาชิกโดยตรงกับศูนย์กลางข้อมูลที่เรียกว่า ISO/IEC Information Center ซึ่งมีสถานภาพเป็นหน่วยงานส่วนหนึ่งของสำนักเลขาธิการกลาง องค์การ ISO ที่เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หรือในทางปฏิบัติอีกประการหนึ่งก็คือ หน่วยงานมาตรฐานเหล่านี้ จำเป็นต้องสมัครเข้าเป็นสมาชิกในระดับชาติหรือระดับนานาชาติเข้ากับเครือข่ายแห่งหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งติดต่อประสานงานในเรื่องของมาตรฐานปฏิบัติที่เรียกว่า ISONET (ISO Information Network) โดยเฉพาะรายละเอียดทั่วๆ ไปที่เกี่ยวข้องการติดต่อสื่อสาร รวมถึงรายชื่อสมาชิกทุกประเภทของ ISONET จะปรากฏอยู่ภายใน ISONET Directory
ISONET เป็นแหล่งสารสนเทศที่สำคัญของการจัดทำมาตรฐานปฏิบัติต่างๆ
นอกจากนี้ตามข้อกำหนดของ Code of Good Practice ยังระบุไว้อย่างชัดเจนอีกว่า ในทุกๆ ระยะเวลารอบ 6 เดือน หน่วยงานมาตรฐานประจำชาติต่างๆ จะต้องจัดพิมพ์และทำการเผยแพร่รายละเอียดของผล หรือโครงการปฏิบัติงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานของตน และจำเป็นต้องแจ้งไปให้ศูนย์ของ ISO/ IEC Information Center ได้รับทราบไว้เพิ่มเติมอีกด้วย รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ ในการปฏิบัติงานมาตรฐาน เช่น ขั้นตอนของการจัดกระบวนการยกร่าง การยอมรับหรือประกาศใช้ประโยชน์จากมาตรฐาน เป็นต้น โดยที่รายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมดจะบรรจุอยู่ภายใต้เอกสารหรือสิ่งตีพิมพ์ที่เรียกว่า WTO TBT Standards Code Directory ซึ่งมีการระบุถึงสถานที่อยู่ของหน่วยงานมาตรฐานประจำชาติแต่ละแห่ง เพื่อการติดต่อได้อย่างสะดวกและชัดเจน รวมถึงข่าวสารข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการหรือโปรแกรมของการปฏิบัติงานมาตรฐานในแต่ละหน่วยงาน เป็นต้น และเอกสารฉบับดังกล่าวนี้จะต้องตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาเป็นจำนวน 2 ฉบับต่อปีเป็นอย่างต่ำ
3.6 มาตรฐานระบบการจัดการ (Management system standards) 23/
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการกล่าวขานถึงผลของการพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเป็นอย่างดีก็คือ “มาตรฐานระบบการจัดการโดยทั่วไป (Generic Management System Standards)” ถ้าพิจารณาถึงความหมายของคำว่า “โดยทั่วไป (Generic)” เป็นลำดับแรกจะมุ่งหมายถึงว่า มาตรฐานดังกล่าวปรากฏเป็น “ความต้องการหรือข้อกำหนดที่ถูกระบุไว้โดยองค์การ (Standard’s requirement)” ซึ่งอาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เข้ากับองค์การต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางและทั่วถึง โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะเป็นการสร้างหรือทำการผลิตตัวผลิตภัณฑ์ออกมาในลักษณะ รูปแบบ หรือประเภทใดๆ ก็ตาม (ทั้งๆที่บางครั้ง คำว่า “ผลิตภัณฑ์ (Product)” ที่สร้างขึ้นมานั้นอาจเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับงานบริการก็ได้) ส่วนรายละเอียดของคำว่า “ระบบการจัดการ (Management system)” จะมุ่งหมายถึง สิ่งที่องค์การจะต้องมีการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอนหรือการจัดการอย่างครอบคลุมทั่วถึง โดยเฉพาะรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ “กระบวนการ (Processes)” ทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในองค์การเป็นประการสำคัญ ในปัจจุบันเมื่อกล่าวถึงมาตรฐานนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการองค์การ เท่าที่รู้จักและแพร่หลายกันเป็นอย่างดีนั้น ก็คงไม่พ้นรายละเอียดไปจาก มาตรฐาน ISO 9000 (เน้นในเรื่องของการบริหารหรือการประกันระบบคุณภาพ) และ มาตรฐาน ISO 14000 (โดยมีการกำหนด และกล่าวเน้นในเรื่องของการจัดการระบบสิ่งแวดล้อม) สำหรับรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมของมาตรฐานทั้ง 2 ฉบับนี้ จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้ แต่ถ้าผู้สนใจท่านใดต้องการศึกษา หรือค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อได้โดยตรงกับ Welcome to ISO Online ที่ http:www.iso.ch/index.html
3.7 สรุปคำถาม - คำตอบ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน และมาตรฐานปฏิบัติ (Frequently Asked Question; FAQ) 24/
· ในสภาพปัจจุบันมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นสถาบันมาตรฐานประจำชาติ (NAB) อยู่กี่แห่ง ซึ่งสังกัดอยู่เป็นภาคีสมาชิกขององค์การ ISO โดยตรง
ส่วนมากประเทศต่างๆ แทบทั่วโลก ล้วนมีหน่วยงานหรือองค์การที่ทำหน้าที่เป็น NAB ซึ่งส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมและความรับผิดชอบในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน รวมถึงมีการติดต่อประสานงานร่วมกับสถาบันมาตรฐานอื่นๆ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ จากผลการสำรวจภายหลังเดือนกรกฎาคม 2008 เป็นต้นมา พบว่า จำนวน NAB ที่สังกัดเป็นสมาชิกประเภทสามัญขององค์การ ISO มีอยู่เท่ากับ 157 ประเทศ
· กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานตามมาตรฐาน ล้วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลประเภทใดบ้าง
อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มบุคคลทุกประเภท ต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับการใช้ประโยชน์จากตัวมาตรฐานแทบทั้งสิ้น
· ตัวมาตรฐานแทบทุกฉบับ สามารถชี้บ่ง/ ระบุลักษณะ หรือรูปแบบออกมาอย่างชัดเจนได้ด้วยวิธีการอย่างไร
โดยทั่วไปรายละเอียดของตัวมาตรฐานแต่ละฉบับ จะถูกกำหนดลักษณะหรือเขียนรูปแบบออกมา ซึ่งแสดงด้วย “ส่วนพยางค์ของคำนำหน้าที่เป็นตัวอักษร (Prefix)” และ “ส่วนของตัวเลขที่แสดงลำดับ” เข้ามาประกอบอยู่รวมกัน โดยเฉพาะในส่วนแรกจะเป็นกลุ่มของตัวอักษร (เช่น ISO, EN, BS) ที่ระบุถึงองค์การหรือหน่วยงานมาตรฐานที่ทำการอนุมัติ หรือประกาศให้ใช้มาตรฐานฉบับนั้นๆ ขึ้นมาโดยตรง ส่วนตัวเลขในประการหลัง จะแสดงถึงคุณลักษณะพิเศษที่จำเพาะของตัวมาตรฐาน รวมถึงในบางครั้งยังระบุถึงผลการยอมรับในลำดับของ “ความเท่าเทียมกัน (Equivalent)” สำหรับหมายเลขของมาตรฐานดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นแนวทางหลักสำหรับการปฏิบัติงานร่วมกันได้อีกด้วย เช่น เมื่ออ้างอิงถึงมาตรฐาน “UNI EN ISO 9001” จะระบุความหมายออกมาได้อย่างชัดเจนว่า สถาบันรับรองมาตรฐานแห่งชาติอิตาลี (UNI) ได้ยินยอมรับ และต้องการนำมาตรฐานนานาชาติฉบับ ISO 9001 ขององค์การ ISO เข้ามาใช้ประโยชน์เพื่อกำหนดให้เป็นมาตรฐานแห่งยุโรป (EN) สำหรับการปฏิบัติงานภายในประเทศของตน เป็นต้น
· อะไรคือ ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง “ข้อกำหนด/ กฎเกณฑ์ทางเทคนิค (Technical regulations)” และ “มาตรฐาน (Standards)”
กฎเกณฑ์ทางเทคนิคโดยทั่วไป (เช่นเดียวกับมาตรฐาน) ค่อนข้างถือว่าเป็น “รายละเอียดของการปฏิบัติงานด้านเทคนิค (Specifications)” ซึ่งแสดงถึงคุณลักษณะที่สำคัญ และ/ หรือสมรรถนะโดยส่วนรวมของผลิตภัณฑ์ การบริการ และเรื่องอื่นๆ นอกจากนี้กฏเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ในบางครั้งยังถือเป็นเรื่องบังคับให้ต้องมีการปฏิบัติงานตาม รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์นั้น อาจถูกกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้รายละเอียดของกฎหมาย ซึ่งประกาศใช้บังคับออกมาโดยผ่านหน่วยงานของรัฐบาลก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามกฏเกณฑ์ด้านเทคนิคเหล่านี้ ส่วนมากจะถูกยกร่างหรือเขียนขึ้นมา โดยอาศัยองค์การหรือหน่วยงานมาตรฐานต่างๆ เป็นผู้กำหนดโดยตรง รวมถึงมีการประกาศใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ก็ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อให้องค์การประเภทต่างๆ เหล่านั้น สามารถนำไปใช้ปฏิบัติงานตามได้โดยอาศัยความยินยอมและสมัครใจเป็นเรื่องสำคัญ
· มาตรฐานส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความสมัครใจใช่หรือไม่
โดยทั่วไปตอบได้ว่า เป็นเรื่องของ “ความสมัครใจ (Voluntary)” ยกเว้นในบางกรณีเท่านั้นที่กำหนดหรือระบุออกมาเป็นกฎหมาย และมีลักษณะของการปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถตอบสนองหรือสอดคล้องเป็นไปตามความต้องการของรายละเอียดตรงตามมาตรฐานที่ถูกระบุไว้โดยตรง เพราะฉะนั้นในประการหลังเช่นนี้ มาตรฐานจะมีลักษณะเป็นเรื่องของ “การบังคับ (Mandatory)” แทบทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามข้อกำหนดในบางประเทศจัดถือว่า เป็นเรื่องของการบังคับ เพื่อให้มีผลต่อการควบคุมการปฏิบัติงานที่เป็นไปตามความต้องการของภาครัฐบาลขึ้นมาได้อย่างแท้จริง
· อะไร คือ รายละเอียดที่สำคัญของ “มาตรฐานเพื่อความสอดคล้องต้องกันสำหรับยุโรป (Harmonized European standards)” และมาตรฐานดังกล่าวเป็นไปด้วยความสมัครใจ หรือบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม
รายละเอียดของมาตรฐานดังกล่าว ถูกกำหนดหรือยกร่างขึ้นมาจากผลการทำงานร่วมกันของ “สถาบันหรือหน่วยงานมาตรฐานแห่งยุโรป (European standard bodies)” ที่รู้จักแพร่หลายกันเป็นอย่างดีในขณะนี้ เช่น CEN และ CENELEC เป็นต้น สาเหตุก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมและตกลงยอมรับ เพื่อให้มีการผลักดันมาตรฐานปฏิบัติเช่นนี้ขึ้นมาใช้ประโยชน์จากอิทธิพลและการแสดงบทบาทหน้าที่อย่างเด่นชัดของ “คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission; EC)” เป็นประการสำคัญ ในที่สุดก็ทำการประกาศผลออกมาบังคับใช้ตามรายละเอียดที่เรียกว่า “กฎเกณฑ์หลักเพื่อกำหนดเป็นแนวทางใหม่สำหรับการปฏิบัติงาน (European Directives of the New Approach)” ภายใต้กฎเกณฑ์หลักเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะครอบคลุมรายละเอียดของมาตรฐานต่างๆ อยู่หลายฉบับ นับตั้งแต่การแสดงผลและความคุ้มครองในเรื่องของความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าและการบริการ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลต่อการนำไปใช้ประโยชน์หรือสามารถช่วยลดความเสี่ยงทั้งหลายที่อาจเกิดขึ้นมาในระยะภายหลังได้โดยตรง นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทุกประเภทที่สร้างขึ้นมาในยุโรปนั้น จำเป็นจะต้องมีหลักประกัน หรือแสดงผลออกมาให้เห็นได้ประการหนึ่งว่า มีความสอดคล้องเป็นไปตามรายละเอียดของมาตรฐานที่กำหนดไว้ทุกประการ หรือมีความสืบเนื่องเป็นไปตามความต้องการที่ถูกระบุไว้ภายใน European Directives แต่ละประเภท นอกจากนี้ผู้ที่สนใจรายละเอียดต่างๆ ยังสามารถเข้าไปค้นคว้าหรือศึกษาเพิ่มเติมได้จาก “วารสารที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาเป็นทางการของประชาคมยุโรป (Official Journal of the European Communities)” โดยมีเนื้อหาที่ปรับปรุงอย่างทันสมัยอยู่ตลอดระยะเวลา ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ที่ดีอย่างแท้จริงต่อการนำระบบมาตรฐานดังกล่าว ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในระดับชาติต่างๆ ทั่วทั้งยุโรป
ตามปกติลักษณะของมาตรฐานยุโรปแต่ละฉบับนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการแสดงความยินยอมและสมัครใจในการปฏิบัติงานที่ตรงตามมาตรฐานมากกว่าการกำหนดขึ้นมา เพื่อให้เป็นผลของการบังคับใช้ประโยชน์โดยตรง แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ เมื่อผู้ประกอบการหรือองค์การผู้ผลิตเตรียมพร้อมที่จะปฏิบัติงานได้ตรงตามความต้องการของมาตรฐานเช่นนี้แล้ว ข้อแตกต่างออกไปจากมาตรฐานอื่นๆ ประการหนึ่งที่ควรพิจารณาเพิ่มเติมก็คือ ลักษณะของตัวผลิตภัณฑ์ที่สามารถแสดงรายละเอียดทางเทคนิคทุกประการ และมีความสอดคล้องหรือเป็นไปตามข้อกำหนดของ Directives แล้วนั้น ย่อมจะได้รับเครื่องหมายรับรองที่เรียกว่า “CE Mark” และสามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยการปะติดไว้ หรือแสดงเครื่องหมายดังกล่าวติดเข้าไปกับตัวผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี (รายละเอียดเช่นนี้จะแสดงความแตกต่างออกไปจากเมื่อเปรียบเทียบกับผลของการได้รับการรับรองตรงตามมาตรฐานของระบบการจัดการประภทอื่นๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นมาโดยตรงจากองค์การ ISO จะปฏิบัติด้วยวิธีการในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ไม่ได้เป็นเด็ดขาด กล่าวคือ ไม่ยินยอมให้ติดสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของการรับรองมาตรฐานไว้บนตัวผลิตภัณฑ์)
XXXXXXXXX
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น