หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

มาตรฐาน ISO 26000 บทที่ 1 (ตอนที่ 2 บทบาทของมาตรฐานปฏิบัติในระดับโลก ภูมิภาค และชาติ)

บทที่ 1
มาตรฐาน และมาตรฐานปฏิบัติสำหรับองค์การสมัยใหม่ (Standards and Standardization for Modern Organization)

ตอนที่ 2: บทบาทชองความเป็นมาตรฐานปฏิบัติในแต่ละระดับ (โลก/ ภูมิภาค/ ชาติ) ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการยื่นเพื่อขอรับการรับรองจดทะเบียน และการได้รับใบประกาศนียบัตรสำหรับองค์การ

3. รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานปฏิบัติ (Regarding standardization)
    3.1 คำจำกัดความของมาตรฐานปฏิบัติ (Definition of a standardization)
         ตามรายละเอียดที่กำหนดไว้โดย ISO/IEC Guide 2:1996 Standardization and related activities – General vocabulary ได้ระบุถึงความหมายของมาตรฐานปฏิบัติไว้ ดังนี้
          “The systematic activities of establishing and utilizing standards.”
          กิจกรรมของการปฏิบัติงานต่างๆ ที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบสำหรับกระบวนการจัดทำมาตรฐานขึ้นมา และรวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากรายละเอียดของตัวมาตรฐานฉบับนั้นๆ อยู่โดยตรง

    3.2 บทบาทของมาตรฐานปฏิบัติ (The role of standardization)
         มาตรฐานปฏิบัติฉบับต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์กันอยู่ในสภาพปัจจุบันค่อนข้างจะถือว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อบุคคลทุกวิชาชีพ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพในสาขานั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนมีความปรารถนาที่ตรงกันอย่างแรงกล้าประการหนึ่งก็คือ การแสดงความมุ่งมั่นที่ต้องการก่อให้เกิดผลของการพัฒนาที่ดีขึ้นมา หรือช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพของการดำเนินงานให้เกิดขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ภายในองค์การแต่ละแห่ง สำหรับรายละเอียดของการปฏิบัติงานในลักษณะเช่นนี้ จึงแสดงความแตกต่างออกไปจากอดีตเมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ องค์การในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ค่อนข้างจะนำรายละเอียดของมาตรฐานปฏิบัติเข้าไปสู่กระบวนการหลักในการดำเนินงานด้านเทคนิค หรือการบริหารงานในประเด็นต่างๆ เกือบทุกเรื่อง ทั้งนี้จุดมุ่งหมายประการสำคัญ ก็เพื่อต้องการยกระดับศักยภาพของ การแข่งขันทางการค้า (Business Competition) ให้สูงขึ้นเหนือกว่าคู่แข่งขันนั่นเอง โดยเฉพาะองค์การส่วนใหญ่ล้วนตระหนักว่า ถึงเวลาที่จำเป็นแล้วที่จะต้องแสดงบทบาทหรือยอมรับในเรื่องของมาตรฐานปฏิบัติเช่นนี้มากกว่าการปฏิเสธ หรือไม่ปฏิบัติตามความต้องการดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง เพราะสิ่งนั้นก็คือ การอาจปรากฏขึ้นมาของความล้มเหลวหรือความใกล้เคียงเข้ามาสำหรับความหายนะขององค์การเป็นประการสุดท้าย เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวเป็นภาพรวมโดยทั่วไป ยิ่งจะพบความจริงได้ว่า มีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้องและช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวทางของการยอมรับหรือการนำมาตรฐานปฏิบัติขึ้นมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายภายในองค์การแต่ละแห่ง ซึ่งสมควรให้ความสนใจและต้องพิจารณาในรายละเอียดอื่นๆ ประกอบร่วมด้วย ได้แก่ 9/
     · การรวมสภาพทางเศรษฐกิจเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มประเทศยุโรป (The economic integration of Europe)
         การเปิดทางเข้าสู่สภาพของการรวมตัวกันเข้าเป็นหนึ่งเดียวทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมถึงการมีโอกาสจัดตั้ง คณะกรรมาธิการประชาคมยุโรป (Commission of the European Communities) ขึ้นมากำกับบทบาทในด้านเศรษฐกิจอย่างจริงจังนั้น ล้วนเป็นตัวส่งเสริมหรือช่วยผลักดันให้มีการนำมาตรฐานปฏิบัติฉบับต่างๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ เพื่อควบคุมการแลกเปลี่ยนหรือการเคลื่อนย้ายทั้งสินค้าหรือบริการให้เป็นไปได้อย่างเสรีภายในกลุ่มประชาคมยุโรปเดียวกัน ประกอบกับจากผลของการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกขณะ ได้ส่งผลกระทบทำให้มีวิธีการจัดการสำหรับกระบวนการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ที่เป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือสอดคล้องกับระบบมาตรฐานเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งรายละเอียดของการปฏิบัติงานเช่นนี้ สอดคล้องกับคำกล่าวของคณะกรรมมาธิการประชาคมยุโรปที่ว่า กระบวนการแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างเป็นเสรีภายในกลุ่ม ล้วนจำเป็นต้องมีทิศทางเป็นไปในรูปแบบหรือแนวทางเดียวกันที่อาศัยยึดถืออยู่บนพื้นฐานของ ข้อกำหนดหรือความต้องการที่จำเป็น (Essential requirements)” สำหรับวิธีปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเข้ามาใช้ควบคุมหรือบังคับเป็นหลัก ผลของการกล่าวนำเช่นนี้ได้กระตุ้นทำให้องค์การทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับทางการค้าทุกประเภท ล้วนต้องหันมาทบทวนบทบาทของตนเองหรือความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานปฏิบัติอย่างเด่นชัดขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถตอบสนองหรือเป็นไปในแนวทางเดียวกับวัตถุประสงค์หลักของคณะกรรมมาธิการประชาคมยุโรปที่ได้กำหนดวางไว้ล่วงหน้า 10/
·  ความต้องการในเรื่องคุณภาพ 11/ (The quality requirement)
               เรื่องของคุณภาพถือกำเนิดในยุค 1950 เป็นต้นมา ซึ่งลักษณะของความต้องการดังกล่าวกำลังแสดงบทบาทที่สำคัญเพิ่มขึ้นทุกขณะ และนับวันจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาจถือได้ว่า เป็นปัจจัยประการสำคัญอย่างหนึ่งต่อการเพิ่มศักยภาพหรือยกระดับความสามารถในการแข่งขันขององค์การได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ในสภาพปัจจุบันเรายังอาจกล่าวเพิ่มเติมรายละเอียดขึ้นได้อีกประการหนึ่งว่า เป็นสิ่งที่ง่ายมากสำหรับการตรวบสอบหรือเปรียบเทียบในเรื่องราคาสำหรับตัวผลิตภัณฑ์หรือการบริการแต่ละครั้ง แต่เมื่อถามว่า จะเปรียบเทียบระดับคุณภาพของสินค้า/ บริการว่าดีเลิศเพียงใดนั้น ดูจะเป็นคำตอบที่ยุ่งยากหรือแสดงความสลับซับซ้อนในรายละเอียดที่มากกว่าการตอบคำถามในเรื่องของราคาแต่เพียงประการเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อมีการกำหนดหรือจัดตั้งมาตรฐานปฏิบัติขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยสามารถชี้บ่งหรือระบุถึงระดับคุณภาพได้อย่างชัดเจน รวมถึงขั้นตอนของการกำหนดเป็นมาตรฐานเหล่านั้นล้วนปรากฏออกมาเป็นความคิดเห็นที่พ้องต้องกันหรือยอมรับร่วมกันได้ทุกส่วนด้วยแล้ว ก็ยิ่งดูจะเป็นรูปแบบหรือเครื่องมือประการสำคัญต่อการควบคุมกระบวนการการซื้อขายสินค้าหรืองานบริการได้อย่างเสรี และยอมรับในทางปฏิบัติกันโดยทั่วไป
มาตรฐานปฏิบัติ เพื่อการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องที่กระทำขึ้นมาภายในองค์การแค่ละแห่ง

· วิวัฒนาการด้านเทคนิค และเทคโนโลยี (The technical and technological evolution)
              ปัจจัยทางบวกอีกประการหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมทำให้เกิดการแพร่หลายของมาตรฐานปฏิบัติในสาขาต่างๆ ออกไปอย่างกว้างขวางสู่วงการประเภทต่างๆ นั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของเรื่องนวัตกรรมแบบใหม่ๆ ทั้งการพัฒนาด้านเทคนิคและเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ ลักษณะของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็คงหลีกเลี่ยงไปไม่พ้นจากการอาศัยพื้นฐานในเรื่องของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น กระบวนการถ่ายทอดและส่งข้อมูลออกไปได้ในระยะไกลๆ กระบวนการค้นหาและรวบรวมข้อมูลเข้าด้วยกันเป็นแหล่งเดียว การสื่อสารแบบโทรคมนาคม/ ทางหลวงข้อมูล (Information Highway) และการจัดตั้งระบบเครือข่ายขึ้นมา เป็นต้น โดยเฉพาะภายในประเทศที่พัฒนาแล้ว กระบวนการสื่อสารและถ่ายทอดรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในด้านมาตรฐานปฏิบัติทั้งหลาย จะกระทำโดยอาศัยบทบาทของสื่ออิเล็กทรอนิคส์แทบทั้งสิ้น และเท่าที่นิยมใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายในยุคปัจจุบันก็คือ ลักษณะของการใช้สื่อที่เรียกว่า Electronic Data Interchange (EDI)

    3.3 มาตรฐานปฏิบัติระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับชาติ (International, regional and national standardization) 12/






มาตรฐานปฏิบัติ และรูปแบบที่พบทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ

           มาตรฐานปฏิบัติทั้งหลายที่ถูกยกร่างขึ้นมา และประกาศผลออกมาอย่างเป็นทางการหรือสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง ล้วนเป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับชาติแทบทั้งสิ้น และยังแสดงความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ทั้ง 3 ระดับดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกดำเนินงานโดยองค์การประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีรายละเอียดที่ควรสนใจ ดังต่อไปนี้
           3.3.1 มาตรฐานปฏิบัติระดับนานาชาติ (International standardization)
·  ISO (International Organization for Standardization) 13/
           องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1947 โดยมีลักษณะเป็นหน่วยงานนานาชาติ ที่ประกอบไปด้วยภาคีสมาชิกมาจากตัวแทนของสถาบันมาตรฐานประจำชาติต่างๆ ทั่วโลก (ประเทศละหนึ่งแห่ง) ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนประเทศที่เป็นสมาชิกอยู่รวมกันประมาณ 147 ประเทศ สำหรับพันธกิจประการสำคัญขององค์การ ISO ก็คือ การกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาหรือสร้างมาตรฐานปฏิบัติขึ้นมาใช้ประโยชน์ในงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในโลก ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการให้สอดคล้องเป็นไปตามกลไกการค้าเสรี รวมถึงก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ หรือการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเศรษฐศาสตร์ เพราะฉะนั้นผลการปฏิบัติงานส่วนใหญ่ จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องของมาตรฐานปฏิบัติทุกประเภท ยกเวันแต่เฉพาะในสาขาของมาตรฐานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์เท่านั้น ที่ถือว่า เป็นภารกิจหลักขององค์การ IEC (International Electrotechnical Commission)
                ในปัจจุบันองค์การ ISO ประกอบด้วยจำนวนผู้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานอยู่ไม่น้อยกว่า 3,041 คณะทำงาน (เช่น คณะกรรมการด้านเทคนิค คณะกรรมการย่อย กลุ่มผู้ปฏิบัติงาน และกลุ่มผู้ประสานงาน เป็นต้น) นอกจากนี้องค์การ ISO ยังทำการจัดพิมพ์และเผยแพร่มาตรฐานที่จัดได้ว่าเป็น มาตรฐานฉบับนานาชาติ (International Standards; IS) ออกมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 16,500 ฉบับหรืออนุกรม (รายละเอียดอื่นๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทที่ 2)
·  IEC (International Electrotechnical Commission) 14/

   องค์การแห่งนี้ถูกจัดตั้งขึ้นมาในปี 1906 โดยมีภารกิจหลักและความรับผิดชอบในการกำหนดรายละเอียดของมาตรฐานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับสาขาทางวิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ และเทคโนโลยีอื่นๆ เพราะฉะนั้นกิจกรรมหลักขององค์การ IEC จึงครอบคลุมรายละเอียดอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยีไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ แม่เหล็กและแม่เหล็กไฟฟ้า การเกิดเสียงทางไฟฟ้า การโทรคมนาคม การผลิตและการกระจายพลังงาน รวมถึงลักษณะงานไฟฟ้าในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คำศัพท์และสัญญลักษณ์ วิธีการวัดและผลของการวัด การออกแบบและการพัฒนาวงจรกระแสไฟฟ้า ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ปัจจุบันภาคีสมาชิกขององค์การ IEC มีอยู่รวมกันทั้งสิ้นในจำนวนที่มากกว่า 52 ประเทศ ซึ่งถือว่า เป็นตัวแทนที่มาจากสถาบันหรือหน่วยงานรับรองมาตรฐานประจำชาติประเทศละหนึ่งแห่ง ซึ่งทำหน้าที่ในด้านของการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องหรือสนใจในงานทางวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นประการสำคัญ โดยเฉพาะสถาบันรับรองมาตรฐานประจำชาติดังกล่าว จะทำหน้าที่ส่วนใหญ่ในการติดต่อสื่อสาร หรือแจ้งข่าวความเคลื่อนไหวของงานที่เกี่ยวข้องกับองค์การ IEC ออกไปเผยแพร่ให้วงการอุตสาหกรรม การประกอบธุรกิจหรือการค้าประเภทต่างๆ รวมไปถึงสาธารณชนและผู้สนใจในรายละเอียดโดยทั่วไปได้รับทราบอย่างทั่วถึงกัน
                   ในสภาพปัจจุบันองค์การ IEC ได้ดำเนินการจัดพิมพ์มาตรฐานนานาชาติขึ้นมาแล้วเป็นจำนวนที่มากกว่า 4,500 ฉบับ (อนุกรม) โดยที่หน่วยงานหลักทั้งสองคือ องค์การ ISO และ IEC ต่างมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการติดดต่อประสานงานกับตัวแทนของประเทศภาคีสมาชิกทั่วโลก รวมไปถึงการดำเนินงานในเรื่องของการถ่ายโอนมาตรฐานปฏิบัติทั้งหลายที่ประกาศใช้ออกมาจากองค์การ ISO และ IEC ให้เข้าสู่การเป็นมาตรฐานประจำชาติของประเทศแต่ละแห่ง ทั้งนี้โดยให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ และไม่มีการบังคับให้ต้องปฏิบัติงานตาม ไม่ว่าจะเป็นไปตามรายละเอียดทั้งหมดหรือจากส่วนใดส่วนหนึ่งที่ถูกบรรจุอยู่ภายในตัวมาตรฐานก็ตาม
· ITU (International Telecommunications Union) 15/
 
                 การกำเนิดขึ้นมาของ สหภาพการสื่อสารนานาชาติ (ITU)” สามารถตรวจสอบประวัติย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ปี 1865 และต่อมาได้มีวิวัฒนาการกลายสภาพมาเป็นองค์การชำนาญพิเศษแห่งหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยตรงในปี 1947 ปัจจุบันสมาชิกของสหภาพ ITU มีจำนวนอยู่รวมกันมากกว่า 400 หน่วยงาน (องค์การ) ที่แพร่กระจายตัวอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก สำหรับภารกิจหลักของ ITU จะเกี่ยวข้องกับการให้คำแนะนำรายละเอียดที่เป็นทางการสำหรับการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ของการสื่อสารและโทรคมนาคม (Telecommunication) รวมถึงการสื่อสารทางวิทยุกระจายเสียง (Radiocommunication) เป็นต้น สำหรับสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ ITU ก็เช่นเดียวกันกับองค์การ ISO หรือ IEC โดยอยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

           3.3.2 มาตรฐานปฏิบัติระดับภูมิภาค (Regional standardization)
                   1). ในยุโรป
· CEN (European Committee for Standardization) 16/
 
                         คณะกรรมการมาตรฐานปฏิบัติแห่งยุโรป (CEN) ถูกจัดตั้งขึ้นมาในปี 1961 เพื่อทำหน้าที่อย่างเด่นชัดในเรื่องของการยกร่าง หรือกำหนดมาตรฐานขึ้นมาใช้ประโยชน์ภายในกลุ่มประเทศของประชาคมยุโรปเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงสถาบัน/ หน่วยงานต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็นการเฉพาะสำหรับการรับรองมาตรฐานอีกไม่ต่ำกว่าจำนวน 18 แห่ง เพราะฉะนั้นรายละเอียดและขั้นตอนการปฏิบัติงานทั้งหลายของ CEN จึงค่อนข้างตอบสนองต่อเป้าหมายหลักของการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อการจัดตั้งเป็นสหภาพยุโรป (European Union) ขึ้นมาในที่สุด สำหรับสำนักงานใหญ่นั้นมีสถานที่ตั้งอยู่ที่บรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม
                          คณะกรรมการกลางบริหารด้านเทคนิค (Technical Board) ของ CEN จะทำหน้าที่ประการสำคัญ และรับผิดชอบในการวางแผนงาน ติดต่อประสานงานร่วมกัน หรือกำหนดลักษณะขั้นตอนของการปฏิบัติงาน ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานต่างๆ ร่วมกันอีกด้วยเช่น คณะกรรมการด้านเทคนิค คณะกรรมการย่อยด้านเทคนิค หรือกลุ่มผู้ปฎิบัติงาน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อมุ่งหวังผลสำหรับการยกร่าง หรือกำหนดรูปแบบของมาตรฐานขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไป รวมถึงวิธีการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน ยังอาศัยการมอบหมายและกระจายอำนาจออกไปในการปฏิบัติงานในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน เพื่อให้เป็นไปอย่างอิสระภายใต้ความรับผิดชอบของ เลขาธิการ (Secretariats) ประจำชุดต่างๆ ซึ่งถูกคัดเลือกขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวโดยตรงจากกลุ่มสมาชิกที่อยู่ภายในประชาคมยุโรป ปัจจุบัน CEN ประกอบไปด้วยจำนวนคณะกรรมการด้านเทคนิคอยู่มากกว่า 250 คณะทำงาน และได้จัดพิมพ์เผยแพร่เอกสารออกมาแล้วเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2,400 เรื่อง และรวมถึงการปรากฏเป็นมาตรฐานที่ประกาศใช้บังคับอยู่ภายในกลุ่มยุโรปอีกมากกว่าจำนวน 2,100 ฉบับ นอกจากนี้ยังมีผลงานที่กำลังดำเนินการศึกษา และตกค้างอยู่ในสภาพปัจจุบันเพื่อรอการพิจารณาอีกเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 900 เรื่อง
· CENELEC (European Committee for Electrotechnical Standardization) 17/
                          คณะกรรมการมาตรฐานปฏิบัติด้านวิศวกรรมไฟฟ้าแห่งยุโรป (CENELEC) ถูกจัดตั้งขึ้นมาในปี 1959 และมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่บรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม โดยภารกิจหลักที่ปฏิบัติ จะครอบคลุมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับงานในส่วนของวิศวกรรมไฟฟ้าเช่นเดียวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ CEN
·  ETSI (European Telecommunications Standards Institute) 18/
                          สถาบันมาตรฐานการสื่อสารและโทรคมนาคมแห่งยุโรป (ETSI) มีหน้าที่ในการพัฒนาและจัดตั้งขึ้นมาสำหรับ มาตรฐานยุโรปที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในสาขาการสื่อสารและโทรคมนาคม (European Telecom Standard; ETS) ทุกประเภท โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองโซเฟีย-แอนติโปลิส ประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ ETSI ประกอบไปด้วยจำนวนผู้ปฏิบัติงานที่ทำหน้าที่อย่างกว้างขวางอีกไม่น้อยกว่า 400 กลุ่ม โดยเป็นตัวแทนมาจากผู้บริหารขององค์การประเภทต่างๆ ผู้ปฏิบัติงาน สถาบันวิจัย นักอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากมาตรฐานโดยตรง ฯลฯ นอกจากนี้บุคลากรส่วนใหญ่ยังถูกคัดเลือกเข้ามาเป็นตัวแทนจากประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปอีกมากกว่า 30 ประเทศ เช่น จากกลุ่ม EU, EFTA และยุโรปตะวันออก อีกด้วย
                   2). ในกลุ่มลาตินอเมริกัน
·  COPANT (Pan American Standards Commission) 19/

                          คณะกรรมาธิการมาตรฐานประจำภูมิภาคแพน - อเมริกัน (COPANT) จัดได้ว่าเป็นสมาคมเอกชนแห่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องของการไม่มุ่งแสวงหากำไร หรือผลประโยชน์ตอบแทนทั้งสิ้น โดยเฉพาะวิธีการปฏิบัติงานจะดำเนิน และเป็นไปด้วยเอกสิทธิ์หรืออำนาจหน้าที่ของตนเอง รวมถึงไม่จำกัดช่วงระยะเวลา นอกจากนี้วัตถุประสงค์หลักประการสำคัญของ COPANT ก็คือ การสนับสนุนเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนามาตรฐานปฏิบัติด้านเทคนิคขึ้นมา ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ปฏิบัติร่วมกันสำหรับกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิก ทั้งนี้ก็เพื่อกระตุ้นหรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการเสริมสร้างผลประโยชน์ร่วมกันที่ดีในด้านของการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือการบริการ และในที่สุดจะก่อให้เกิดความร่วมมือขึ้นมาอย่างจริงจังในการประกอบกิจการค้าทุกประเภท เช่น การดำเนินงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา การปฏิบัติงานด้านวิทยาศาสตร์และสังคม เป็นต้น
                          นอกจากนี้คณะกรรมาธิการดังกล่าว ยังทำหน้าที่ประสานงานติดต่อร่วมกันในทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันรับรองมาตรฐานประจำชาติต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ภายในประเทศของกลุ่มลาตินอเมริกัน เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นบทบาทหลักของคณะกรรมาธิการ จึงเกี่ยวข้องกับการพัฒนามาตรฐานปฏิบัติขึ้นมาใช้ประโยชน์ในเกือบทุกประเภท เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์ มาตรฐานของวิธีการวัดและทดสอบ มาตรฐานของคำศัพท์และคำจำกัดความ เป็นต้น ในปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของ COPANT ตั้งอยู่ที่บัวโนสแอเรส ประเทศอาร์เยนตินาร์
·     MERCOSUR, The Common Market of the South 20/
                          ตลาดร่วมแห่งภูมิภาคใต้ หรือเป็นที่รู้จักกันดี ในชื่อเรียกที่สอดคล้องกับภาษาเสปนว่า MERCOSUR หรือเมื่อเป็นภาษาโปรตุเกศจะเรียกว่า MERCOSUL นั้น จัดว่าเป็นตลาดร่วมที่ประกอบไปด้วยสมาชิกที่สำคัญ 4 ประเทศ คือ อาร์เยนตินาร์ บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย โดยมีวัตุประสงค์หลักที่สำคัญก็คือ การช่วยส่งเสริมขนาดเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกทั้งหลายให้ดำเนินเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การยกระดับศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าด้วยการเพิ่มช่องทางของการค้าขายทางการตลาดในรูปแบบใหม่ รวมถึงการกระตุ้นก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปด้วยดีและต่อเนื่อง โดยอาศัยวิธีการปฏิบัติงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การรู้จักและเลือกใช้ทรัพยากรที่เป็นประโยชน์อย่างเหมาะสม การคุ้มครองและรักษาสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงช่องทางและกระบวนการสื่อสาร การสร้างความร่วมมือกันในการดำเนินเศรษฐกิจระดับมหภาค การไกล่เกลี่ยและประสานผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบธุรกิจที่แตกต่างแต่ละประเภท เป็นต้น ในปัจจุบันสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ที่ถาวรของตลาดร่วม MERCOSUR อยู่ที่มอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย

           3.3.3 มาตรฐานปฏิบัติระดับชาติ (National standardization)
                   โดยทั่วไปประเทศแต่ละแห่ง จะมีอำนาจและสิทธิ์อย่างสมบูรณ์ในการกำหนด หรือประกาศมาตรฐานประจำชาติของตนขึ้นมาใช้ประโยชน์ภายในประเทศของตนเอง เพราะฉะนั้นบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบดังกล่าว จึงถือเป็นเรื่องของ สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ (National Standards Body; NSB) นั้นๆ โดยตรง รวมถึงสถาบันมาตรฐานแห่งชาติดังกล่าว ยังคงดำรงสิทธิในการร่วมเข้าเป็นสมาชิกส่วนหนึ่ง หรือปรากฏเป็นตัวแทนของการปฏิบัติงานด้านมาตรฐานอยู่ภายในกลุ่มของสถาบัน หรือหน่วยงานมาตรฐานระดับภูมิภาค หรือระดับนานาชาติได้อีกด้วย

    3.4 กระบวนการในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานปฏิบัติ (The standardization processes)
           มาตรฐานปฏิบัติที่เกิดขึ้นมาในระดับชาติ (หรือประจำประเทศแต่ละแห่ง) ต่างเป็นผลิตผลของการปฏิบัติงานร่วมกันจากการดำเนินงานของ คณะกรรมการมาตรฐานประจำชาติ (National Committee) โดยจะแสดงความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย หรือคณะทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยตรง เพราะฉะนั้นคณะกรรมการมาตรฐาน หรือกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ จึงล้วนประกอบไปด้วยตัวแทนที่มีคุณภาพและประกอบด้วยองค์ความรู้ที่สูง ซึ่งจะถูกคัดเลือกขึ้นมาจากสาขาของการประกอบอาชีพในแขนงต่างๆ กัน เช่น วงการอุตสาหกรรมและการผลิต สถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัย เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้บริโภค และสถาบันวิชาชีพ เป็นต้น


คณะกรรมการ TC หรือ SC จะมีส่วนต่อการยกร่างมาตรฐานขึ้นมาทั้งในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ
           สำหรับผลงานของมาตรฐานปฏิบัติในระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาตินั้น การเกิดขึ้นของมาตรฐานปฏิบัติฉบับดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการดำเนินงานโดยอาศัย คณะกรรมการด้านเทคนิค (Technical Committee; TC)ทำหน้าที่เป็นหลัก และต้องมีบุคคลหนึ่งท่าน คือ เลขาธิการ (Secretariat) ซึ่งผ่านการถูกคัดเลือกขึ้นมาจากผลมติการประชุมของคณะกรรมการฯ ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน หรือติดต่อรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของการยกร่างตัวมาตรฐานปฏิบัติทั้งหมดโดยตรง นอกจากนี้คณะกรรมการด้านเทคนิคแต่ละคณะยังถูกควบคุมหรือการบริหารงานโดยผ่านหน่วยงานกลางประจำภูมิภาคหรือระดับนานาชาติอีกด้วย ซึ่งเรียกว่า คณะกรรมการบริหารด้านเทคนิค (Technical Management Board; TMB) เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติแล้วประเทศภาคีสมาชิกต่างๆ จึงอาจปรากฏตัวเองเข้าไปเป็นตัวแทนส่วนหนึ่งสำหรับการดำเนินงานได้ ทั้งในระดับคณะกรรมการบริหารมาตรฐานระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติ โดยเฉพาะตรงตามความสนใจหรือแตกต่างกันออกไปตามความต้องการในการเข้าร่วมปฏิบัติงานสำหรับการยกร่างมาตรฐานในฉบับนั้นๆ เป็นสำคัญ
XXXXXXXXX


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น