บทที่ 1
มาตรฐานและมาตรฐานปฏิบัติสำหรับองค์การสมัยใหม่ (Standard and Standardization for Modern Organization)
ตอนที่ 4: มาตรฐานปฏิบัติ และการเป็น "เครื่องมือ (Tools)" ในระดับนานาชาติ
4. ประกาศนียบัตรเพื่อการรับรองความสอดคล้องกับมาตรฐาน และการประกันคุณภาพ (Certification of conformity to standards and quality assurance)
4.1 คำจำกัดความ (Definition of certification)
ตามรายละเอียดที่ระบุไว้ภายใน ISO/ IEC Guide 2:1996 ได้ให้คำจำกัดความของ ประกาศนียบัตร ไว้อย่างชัดเจนว่า
“Certification is a procedure by which a third party gives written assurance that a product, process or service conforms to specified requirements.”
“ประกาศนียบัตรจัดเป็นระบบเอกสาร (หรือระเบียบปฏิบัติประเภทหนึ่ง) ที่ได้รับขึ้นมาจากการผ่านผลของการตรวจประเมินจากกลุ่มผู้ตรวจประเมินบุคคลที่สาม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ตัวผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือการบริการที่ดำเนินงานอยู่ภายในองค์การแห่งนั้น เป็นไปในลักษณะที่สามารถตอบสนอง หรือมีความสอดคล้องตรงต่อความต้องการที่กำหนดไว้อยู่ภายในมาตรฐานฉบับนั้นๆ เป็นประการสำคัญ”
แสดงสัญลักษณ์ขององค์การ/ หน่วยงาน ซึ่งทำหน้าที่เป็น “ผู้ตรวจติดตาม/ กลุ่มบุคคลที่สาม” ในการรับรองระบบมาตรฐานต่างๆ
เพราะฉะนั้นจากความหมายดังกล่าว ประกาศนียบัตรจึงเป็นเรื่องของระบบการตรวจสอบความสอดคล้องต้องกับมาตรฐานที่ถูกระบุไว้ และมีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากวิธีการทดสอบในรูปแบบอื่นๆ เช่น ผลการประกาศรับรองโดยผู้รับจ้างช่วงการผลิตขององค์การ หรือผลรายงานการทดสอบที่กระทำในห้องปฏิบัติการ เป็นต้น โดยทั่วไปการได้ใบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานขึ้นมาสำหรับองค์การแห่งใดแห่งหนึ่ง จึงยึดถือยู่บนพื้นฐานของการผ่านวิธีการประเมินผล การวิเคราะห์การทดสอบ การตรวจสอบ และการตรวจติดตามเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนี้กระบวนการตรวจประเมินทั้งหลายเหล่านั้น ยังต้องถูกดำเนินการอย่างเป็นระบบที่เด่นชัด มีรายละเอียดที่โปร่งใส หรือกระทำโดยบุคคลหรือสถาบันภายนอก ซึ่งถือว่าเป็น “กลุ่มบุคคลที่สาม (Third party auditor)” ซึ่งแสดงสถานภาพของความเป็นกลาง และไม่มีส่วนได้เสียกับองค์การหรือลูกค้าแต่ประการใด 25/
4.2 บทบาท และความสำคัญของประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน (The role of certification)
ประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานจัดได้ว่าเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง และก่อให้เกิดความได้เปรียบ หรือผลประโยชน์ที่ดีทางการค้า ทั้งผู้ผลิตสินค้าและบริการ ผู้ซื้อ ผู้บริโภค รวมถึงผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล่านั้น โดยเฉพาะการช่วยยกระดับของ “คุณค่าเพิ่ม (Added value)” ให้สูงขึ้นสำหรับสินค้าและการบริการแต่ละประเภทที่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานนั้นๆ ขึ้นมาโดยตรง
เมื่อพิจารณาในด้านของผู้ผลิต หรือผู้ให้การบริการเป็นหลัก ยิ่งจะเห็นความสำคัญได้ว่า การได้ประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานขึ้นมา นอกจากจะถือว่า เป็นตัวช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนให้สินค้าหรือการบริการเหล่านั้น มีช่องทางสำหรับการตลาดหรือการจัดจำหน่ายออกไปอย่างแพร่หลาย หรือเปิดกว้างออกสู่การค้าสากลโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ มาขวางกั้นแล้ว สำหรับผลประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับทางด้านลูกค้าหรือผู้บริโภคก็เช่นเดียวกัน ผลประการสำคัญก็คือ การเกิดความเชื่อมั่นว่า ผลิตภัณฑ์หรืองานบริการที่ได้ประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานดังกล่าว ค่อนข้างจะมีคุณลักษณะที่สามารถตอบสนองตรงกับความต้องการของผู้ใช้ได้ หรือในขณะเดียวกันยังเชื่อมั่นอีกว่า ทุกกระบวนการปฏิบัติงานภายในองค์การที่เกี่ยวข้องกับการผลิตตัวผลิตภัณฑ์หรืองานบริการครั้งนั้นๆ ย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพที่สามารถตอบสนองตรงต่อความต้องการได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติการกำหนดเครื่องหมายมาตรฐาน โดยอาศัยกระบวนการรับรองด้วยใบประกาศนียบัตรดังกล่าว จึงเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนสำหรับกระบวนการตรวจสอบที่ดี โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพ หรือความปลอดภัยของตัวผลิตภัณฑ์ (สินค้าหรือการบริการ) นอกจากนี้ผลของการได้ใบรับรองประกาศนียบัตร ยังทำให้ผู้ใช้ประโยชน์จากสินค้าหรือบริการเหล่านั้น สามารถคัดแยกหรือจำแนกออกมาได้อย่างง่ายดายว่า สินค้าประเภทใด มีสมบัติที่ดีตรงตามมาตรฐานครบถ้วนทุกประการ และสินค้าประเภทใดที่มีสมบัติไม่เหมาะสมต่อการนำมาใช้ประโยชน์ หรืออาจไม่ก่อให้เกิดระดับความพึงพอใจขึ้นมาได้ในส่วนของตน เป็นส่วนใหญ่
4.3 ประเภทของประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน (Types of certifications) 26/
ประกาศนียบัตรประเภทที่เรียกว่า เป็นผลเพื่อการรับรองมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ (Product certification) ส่วนใหญ่จะเป็นการระบุหรือชี้บ่งถึงคุณลักษณะที่ดีสำหรับตัวผลิตภัณฑ์ ที่สามารถตอบสนองอย่างเด่นชัดในด้านที่เกี่ยวข้องกับระดับความปลอดภัย ในเรื่องของความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์แต่ละครั้ง หรือคุณลักษณะอื่นๆ ใดก็ตามที่มีการกำหนดไว้อย่างเด่นชัดในรายละเอียดที่ตรงตามมาตรฐาน รวมถึงข้อกำหนดทางเทคนิคบางประการที่กล่าวเสริมเพิ่มเติมขึ้นมา เป็นต้น โดยทั้งนี้เนื้อหาสาระประการสำคัญก็คือ รายละเอียดและข้อกำหนดต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดของตัวผลิตภัณฑ์ ล้วนเป็นไปตามความต้องการของตลาดหรือตรงต่อความคาดหวังของลูกค้าแทบทั้งสิ้น
สำหรับการออกใบประกาศนียบัตร เพื่อขอผลการรับรองมาตรฐานสำหรับองค์การ (Organization certification) แต่ละแห่ง ส่วนใหญ่จะระบุถึงระดับความสามารถหรือสมรรถนะขององค์การ (Organization performance) เป็นหลัก เพื่อแสดงผลออกมาให้เห็นได้อย่างเด่นชัดว่า ระบบการจัดการทั้งหลายที่ดำเนินงานอยู่ภายในองค์การแต่ละแห่งนั้น มีรายละเอียดเป็นไปอย่างถูกต้องตรงตามข้อกำหนด และแสดงประสิทธิผลที่ดีออกมาได้มากหรือน้อยเพียงใด เช่น ระบบของการจัดการคุณภาพ หรือระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีลักษณะและรายละเอียดของการปฏิบัติงานที่เป็นไปในรูปแบบเช่นเดียวกับความต้องการของมาตรฐาน ISO 9000 หรือ ISO 14000 (ถูกกำหนดขึ้นมาโดยองค์การ ISO) เป็นต้น เพราะฉะนั้นผลการรับรองที่เกี่ยวเนื่องกับใบประกาศนียบัตรในประการหลังเช่นนี้ จึงค่อนข้างแสดงความแตกต่างออกไปจากใบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานสำหรับตัวผลิตภัณฑ์ที่กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น โดยสาระสำคัญหลักที่ควรพิจารณาก็คือ ไม่มีวัตถุประสงค์ต่อการรับประกันคุณภาพหรือประสิทธิภาพที่ตัวผลิตภัณฑ์ แต่จะมุ่งเน้นความสำคัญทั้งหมดลงไปที่ “ระบบการจัดการสำหรับองค์การ (Management systems)” แห่งนั้นๆ เป็นส่วนใหญ่
ใบประกาศนียบัตร เพื่อการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสำหรับองค์การ
4.4 สรุปคำถาม-คำตอบ ที่เกี่ยวข้องกับประกาศนียบัตร และการใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (FAQ) 27/
· แนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน เพื่อยื่นขอประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน จะต้องเกี่ยวข้องกับการประเมินผลโดยอาศัยบุคคลที่สาม ใช่หรือไม่
ใช่ และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเด็ดขาด
· ในกรณีเช่นใดที่การขอประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐาน ถือว่า เป็นการบังคับให้ต้องปฏิบัติตามโดยสิ้นเชิง
ประกาศนียบัตรรับรองจะถือว่า เป็นผลของการบังคับได้ก็ต่อเมื่อรายละเอียดตามมาตรฐานเหล่านั้น ถูกประกาศออกมาให้เป็นกฏหมาย เช่น คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) กำหนดรายละเอียดไว้อย่างชัดเจนประการหนึ่งว่า การได้รับเครื่องหมายรับรอง CE จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสินค้าประเภทนั้น มีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการแสดงผลของความไม่เป็นอันตราย หรือมีความเสี่ยงต่อการนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะรายละเอียดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเหล่านี้ ถูกประกาศออกมาเป็นกฏหมายใช้บังคับตามข้อกำหนดที่เรียกว่า “New Approach Directives” เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์ประเภทใดๆ ก็ตามที่มีรายละเอียดเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับดังกล่าว และผลจากการได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน CE จึงเป็นตัวชี้บ่งประการสำคัญได้ว่า สินค้าประเภทนั้น ย่อมแสดงความปลอดภัยต่อการใช้ประโยชน์ และสามารถยินยอมหรืออนุญาตให้ส่งสินค้าเข้าไปค้าขายภายในกลุ่มประชาคมยุโรปได้โดยตรง
· ในกรณีของการได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานเป็นไปตามความสมัครใจ สาเหตุประการใดเรื่องเช่นนี้ จึงแสดงความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน
เมื่อใดก็ตามที่วิธีการปฏิบัติงานตามมาตรฐานเป็นไปด้วยความสมัครใจแล้ว ก็ย่อมเชื่อถือได้ว่า เป็นเรื่องของผู้ประกอบการผลิต จะทำหน้าที่ตัดสินใจดำเนินการเองเป็นส่วนใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ชัดเจนก็คือ ถึงแม้จะมีการประกาศมาตรฐานออกมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นหลักสากลนิยมโดยทั่วๆ ไป (ไม่มีการบังคับให้ต้องปฏิบัติงานก็ตาม) แต่การกำหนดหรือเลือกใช้มาตรฐานฉบับนั้นๆ กลับเป็นไปตามความยินยอมพร้อมใจของผู้ประกอบการเองแล้ว ซึ่งแน่นอนย่อมมี “ระดับของความตระหนักหรือคาดหวังที่เกิดขึ้นสูงส่งมากกว่าสามัญสำนึกโดยทั่วๆ ไป (Beyond expectation)” เพราะฉะนั้นการปฏิบัติงานในลักษณะเช่นนี้ จึงย่อมส่งผลที่ดีขึ้นมาแน่ๆ สำหรับองค์การหรือผู้ผลิตสินค้าและบริการทั้งหลาย โดยเฉพาะการมีมาตรฐานรองรับภายในองค์การแห่งนั้น ย่อมยึดถืออยู่บนพื้นฐานของ “กลยุทธ์สำหรับการจัดการ (Strategic management)” ประการสำคัญ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดศักยภาพของการแข่งขันที่ดี หรือเหนือกว่าคู่แข่งขันทางการค้ารายอื่นๆ และในขณะเดียวกันสินค้าหรือการบริการที่ผลิตออกมาแต่ละครั้งนั้น ย่อมมีสัญญลักษณ์ของการมีคุณภาพที่สูง ซึ่งเหมาะสมสำหรับลูกค้าหรือสาธารณชนต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
5. การรับรองจดทะเบียนสำหรับผลการทดสอบภายในห้องปฏิบัติการ (Accredited testing laboratories)
ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ล้วนมีความต้องการที่คล้ายคลึงและตรงกันอยู่ประการหนึ่งในเรื่องของการร้องขอความช่วยเหลือทางวิชาการ การให้คำปรึกษาหรือแนะนำรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆ ที่สามารถช่วยเอื้ออำนวยให้ผลการปฏิบัติงานด้านเทคนิคทั้งหลาย ที่ตนเองมีประสบการณ์หรือระดับความชำนาญอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะรายละเอียดหรือในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิธีการทดสอบหรือ “การรับรองเพื่อการจดทะเบียน (Accreditation)” สำหรับมาตรฐานทดสอบทุกประเภทที่สามารถดำเนินการขึ้นมาได้ภายในห้องปฏิบัติการแต่ละแห่งนั้นๆ ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อต้องการช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา/ สร้างผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ขึ้นมาอย่างหลากหลายในแต่ละประเภท และในขณะเดียวกันจะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสทางการค้า ให้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลกในเรื่องของการผลิตสินค้าหรือบริการ ด้วยเหตุผลดังกล่าวประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ จึงเห็นพ้องต้องกันในความพยายามที่จะให้มีการพัฒนาระบบเครือข่ายขึ้นมา เพื่อเชื่อมประสานงานร่วมกันสำหรับการทำหน้าที่ด้านทดสอบหรือการตรวจสอบสำหรับห้องปฏิบัติการ โดยมุ่งหวังในเรื่องของความมั่นใจสำหรับการมีการประกันคุณภาพในด้านการบริการทดสอบเป็นไปอย่างมีมาตรฐานที่เท่าเทียมกันทั่วทุกพื้นที่ และในที่สุดจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีต่อวงการอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างมาก
โดยรายละเอียดทั่วๆ ไปนั้น กิจกรรมหลักของการรับรองจดทะเบียนดังกล่าว ที่เกิดขึ้นในระดับนานาชาติ จะเกี่ยวข้องและแสดงความสัมพันธ์อยู่โดยตรงกับบทบาท และขอบเขตของการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของหน่วยงานแห่งหนึ่งที่เรียกว่า “สหพันธ์นานาชาติสำหรับความร่วมมือในการรับรองจดทะเบียนของมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation; ILAC)” เป็นประการสำคัญ โดยเฉพาะวัตถุประสงค์หลักประการหนึ่งของการแสดงความร่วมมือเช่นนี้ ก็เพื่อกระตุ้นหรือสร้างความมั่นใจให้กับองค์การ และผู้ประกอบการทางอุตสาหกรรมทั้งหลายว่า จะสามารถเข้าไปรับการติดต่อ หรือร้องขอการบริการทดสอบสำหรับห้องปฏิบัติการต่างๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยผลของการทดสอบที่ได้รับออกมาในแต่ละครั้งนั้น จะส่งผลที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือความต้องการ และในที่สุดจะช่วยให้กระบวนการปฏิบัติงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยกับการทดสอบครั้งนั้นๆ ดำเนินเป็นไปอย่างมีมาตรฐานที่สูง และจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ดีขึ้นมาต่อผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง
สำหรับรูปแบบของการทดสอบเพื่อขอรับรองมาตรฐานต่างๆ ภายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งอาจกระทำได้ในระดับชาติหรือภายในประเทศแต่ละแห่งนั้น ก็สามารถปฏิบัติงานได้อีกเช่นเดียวกัน โดยอาศัยการใช้ประโยชน์ผ่านระบบเครือข่ายของห้องปฏิบัติการประเภทต่างๆ ที่แพร่กระจายตัวอยู่ในบริเวณพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ยังอาจอาศัยผลการปฏิบัติงานร่วมด้วยของสถาบันรับรองมาตรฐานประจำชาติแต่ละประเทศเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้ให้การบริการทดสอบก็ได้ เช่น บทบาทของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งถือว่า เป็นตัวแทนของสถาบันรับรองมาตรฐานประจำประทศไทย นอกเหนือจากบทบาทในการให้การรับรองตรงตามมาตรฐานทั่วๆ ไปที่ประกาศใช้งานอยู่ในสภาพปัจจุบันแล้ว (มาตรฐาน ISO 9000 และ ISO 14000 ฯลฯ) สมอ. ยังทำหน้าที่อีกประการหนึ่งในการรับรองจดทะเบียนหรือมอบใบวิทยฐานะสำหรับการทดสอบเครื่องมือวัด/ เครื่องตรวจ/ เครื่องทดสอบภายในห้องปฏิบัติการทั้งหลาย ที่มีลักษณะเป็นไปตามแนวทางของข้อกำหนดหรือมาตรฐานที่เรียกว่า ISO/ IEC Guide 25 อีกด้วย
5.1 สรุปคำถาม-คำตอบ ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองจดทะเบียนผลการทดสอบ ที่ตรงตามมาตรฐานห้องปฏิบัติการ (FAQ) 28/
· อะไรคือ ความหมายของ “การรับรองจดทะเบียน” ตามรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานปฏิบัติ
จาก ISO/ IEC Guide 2:1996 Standardization and related activities – General vocabulary ได้ให้ความหมายของ “Accreditation” ไว้ว่า
“Procedure by which an authoritative body gives formal recognition that a body or person is competent to carry out specific tasks.”
“เอกสาร (หรือระเบียบปฏิบัติ) ขององค์การที่มีอำนาจหน้าที่ด้านนั้นๆ ได้ทำการมอบหมายให้อย่างเป็นทางการ เพื่อระบุหรือชี้บ่งออกมาอย่างชัดเจนว่า บุคคลหรือกลุ่มผู้ปฏิบัติงานใดๆ ก็ตามล้วนประกอบไปด้วยระดับความสามารถหรือประสิทธิภาพที่ดีเพียงพอสำหรับการดำเนินงานในด้านนั้นๆ เป็นการพิเศษโดยเฉพาะ”
· เป็นเพราะเหตุผลประการใด การรับรองจดทะเบียนภายในห้องปฏิบัติการ จึงถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์การหรือผู้เกี่ยวข้อง
ตามปกติการขอผลรับรองจดทะเบียนมาตรฐานสำหรับห้องปฏิบัติการแห่งใดๆ ก็ตาม จัดถือได้ว่า เป็นกระบวนการปฏิบัติงานที่สำคัญประการหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการรับประกันว่า มาตรฐานสำหรับการปฏิบัติงานครั้งนั้นๆ สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ หรือทำให้เกิดผลขึ้นมาได้อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับองค์การหรือหน่วยงานแห่งนั้นๆ โดยตรง เพราะฉะนั้นรายละเอียดของการปฏิบัติงานเช่นนี้ จึงมีความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นขึ้นมาสำหรับกระบวนการตรวจสอบในระดับชาติ ทั้งนี้เพื่อกำหนดผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปในทิศทางหรือมาตรฐานประเภทเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏหน่วยงาน หรือสถาบันในการขอรับรองมาตรฐานที่แตกต่างกันออกไปในหลายระดับ หรือในขณะเดียวกันมีวิธีการทดสอบที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปในแต่ละห้องปฏิบัติการ เป็นต้น
· การรับรองจดทะเบียน เป็นเรื่องของการบังคับให้ต้องปฏิบัติงานตามใช่หรือไม่
คำตอบ คือ ไม่ใช่ หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่มีกฏหมายหรือรายละเอียดข้อบังคับใดๆ ถูกประกาศขึ้นมาใช้ประโยชน์ หรือระบุออกมาอย่างแน่ชัดว่า ทุกหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการรับรองมาตรฐาน ห้องปฏิบัติการทดสอบหรือเปรียบเทียบแห่งใดๆ ก็ตาม ล้วนจำเป็นต้องได้รับผลการรับรองจดทะเบียนโดยตรง แต่อย่างไรก็ตามถ้าพิจารณาในด้านของการเพิ่มศักยภาพ หรือกลยุทธ์ด้านการแข่งขันสำหรับองค์การที่เป็นผู้ผลิตสินค้าหรือบริการให้มีระดับที่สูงขึ้นนั้น ดูจะหลีกเลี่ยงในเรื่องการขอรับรองมาตรฐานสำหรับการทดสอบภายในห้องปฏิบัติการ คงเป็นไปไม่ได้อีกเช่นเดียวกันในสภาพปัจจุบัน
6. บทสรุป (Conclusion)
ในความหมายโดยทั่วไป มาตรฐานและมาตรฐานปฏิบัติ จัดว่า มีรายละเอียดหรือเป็นกิจกรรมที่มีลักษณะใกล้เคียงกันมากที่สุดประการหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อถูกกำหนดหรือถูกเขียนยกร่างออกมาเป็น “มาตรฐาน (Standards)” ที่เกิดขึ้นในระดับต่างๆ ของการใช้ประโยชน์นั้น (ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานระดับชาติ มาตรฐานระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติก็ตาม) ส่วนใหญ่เป็นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของความเห็นพ้องต้องกัน เป็นฉันทามติที่เกิดขึ้นจากการยอมรับถึงข้อตกลง ซึ่งได้จัดทำร่วมกันขึ้นมาสำหรับควบคุมรายละเอียดของตัวผลิตภัณฑ์ (สินค้าหรืองานบริการ) วิธีการปฏิบัติงาน ลำดับหรือขั้นตอนของการปฏิบัติงานครั้งนั้นๆ รวมถึงมีการแสดงหน้าที่ความรับผิดชอบหรือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ มีการประเมินสมรรถนะและผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นภายในองค์การอย่างเด่นชัด เป็นต้น ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลัก ก็เพื่อต้องการก่อให้เกิดความสอดคล้องต้องกัน มีความง่ายต่อการนำไปใช้ปฏิบัติในทุกสถานที่ รวมถึงทุกๆ คนหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับผลประโยชน์ที่ดี มีความสะดวกสบายหรือเกิดความยุติธรรมขึ้นโดยทั่วหน้ากันสำหรับกระบวนการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือการบริการเป็นหลัก
ส่วนความหมายของ “มาตรฐานปฏิบัติ (Standardization)” ไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะการจัดทำ หรือผ่านกระบวนการยกร่างให้ปรากฏผลออกมาเป็นเพียงตัวมาตรฐานฉบับต่างๆ เพื่อประกาศใช้เพียงประการเดียวเท่านั้น แต่กลับระบุให้หมายความรวมไปถึงการมุ่งเน้นใช้ประโยชน์ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมจากตัวมาตรฐาน (ฉบับเหล่านั้น) อีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการรับประกัน หรือเป็นเรื่องของ “การยื่นเพื่อจดทะเบียนรับรองใบประกาศนียบัตร (Certification)” ว่า ในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงานต่างๆ ที่ดำเนินอยู่ภายในองค์การ จะเป็นไปอย่างถูกต้องราบรื่น และก่อให้เกิดประสิทธิผลที่ดีขึ้นมา เพราะฉะนั้นการใช้ประโยชน์จากมาตรฐานปฏิบัติ (ระบบเอกสาร) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์การแต่ละแห่ง ต้องสร้างความชัดเจนในเรื่องของขอบเขต บทบาท และอำนาจหน้าที่ของผู้รับผิดชอบขึ้นมา กำหนดวิธีการทำงาน (ปฏิบัติ) ที่ถูกต้องเป็นขั้นตอนเรียงกันไปตามลำดับ พร้อมทั้งต้องมีการจดบันทึกผลต่างๆ ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรร่วมด้วย ทั้งนี้เพื่อแสดงว่า บุคคลใดๆ ก็ตามเมื่อมาอ่านระบบเอกสาร หรือรับทราบแล้ว จะสามารถปฏิบัติงานครั้งนั้นๆ ได้ในลักษณะเดียวกันถ้าทำตามคำแนะนำที่กล่าวไว้แล้วภายในระบบเอกสารชุดนั้น และรายละเอียดของสิ่งเหล่านี้ก็คือ หลักการที่สำคัญของ “การสร้างมาตรฐานปฏิบัติ” ขึ้นมาสำหรับองค์การแต่ละแห่งนั่นเอง
XXXXXXXXX
ข้อมูลอ้างอิง (References)
1. ISO/IEC Guide 2. 1996. Standardization and related activities – General vocabulary. Available (Online) at: www.iso.org/iso-catalogue/
II. บทบาทของมาตรฐาน (The role of standards)
2. UNIDO (United Nations Industrial Development Organization). 2006. Role of standards: A guide for small and medium-sized enterprise. Working paper. Vienna . Available (Online) at: www.unido.org/fileadmin/media/documnts/
3. Elmahdy, Hakim., and Decker, Jennifer. 2000. Role of standards in an innovative economy. National Research Council Canada . Available (Online) at: irap-pari.nrc-cnrc.gc/success/ innoneeds.pdf
III. ประเภทของมาตรฐาน (Types of standards)
4. NSSF (National Standardization Strategic Framework). 2006. Types of standard: How and where they’re used. Available (Online) at: www.nssf.info/Standards/Types/
5. SLBS (St. Lucia Bureau of Standards). 2001. Types of standards. Available (Online) at: www.slbs.org.ls/stadrds_types.html
6. China-UK Standards Portal. 2008. Types of standards. Available (Online) at: www.standardsgateway.org/UK/Overview/
IV. การพัฒนาและการสร้างมาตรฐานขึ้นมาใช้ปฏิบัติ (Development of standards)
7. ISO. 2008. Standards development. Available (Online) at: www.iso.org/iso/standrds- devlopment.htm
8. CSA (Canadian Standards Association). 2008. Standards Development. Available (Online) at: www.csa.ca/standards/
V. บทบาทของมาตรฐานปฏิบัติ (The role of standardization)
9. Nawrocki, Axel., and Luftbild, Hansa AG. 2005. The impact of International standardization. Directions Magazine. Available (Online) at: www.directionsmag.com/
10. Verlag, Benth. 2000. Economic benefits of standardization. Summary of results. DIN (German Institute for Standardization). Available (Online) at: www.din.de/
11. Bartell, Frank. 2008. Quality improvement with ISO. H&HN (Hospitals & Health Networks). Available (Online) at: www.hhnmag-app/jsp/
VI. มาตรฐานปฏิบัติระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับชาติ (International, regional and national standardization)
12. SIST (Slovanian Institute for Standardization). 2005. International Standardization. Available (Online) at: www.sist.si/
· มาตรฐานปฏิบัติระดับนานาชาติ (International standardization)
13. ISO (International Organization for Standardization). 2008. Available (Online) at: www.iso.org/
14. IEC (International Electrotechnical Commission). 2008. Available (Online) at: www.iec.ch/
15. ITU (International Telecommunication Union ). 2008. Available (Online) at: www.itu.int/
· มาตรฐานปฏิบัติระดับภูมิภาค (Regional standardization)
16. CEN (European Committee for Standardization). 2008. Standards and drafts. Available (Online) at: www.cen.eu/cenorm/standards_drafts/index.asp
17. CENELEC (European Committee for Electrotechnical Standardization. Standards. Available (Online) at: www.cenelec.eu/Cenelec/
18. ETSI (European Telecommunication Standards). 2008. Standards. Available (Online) at: www.etsi.org/Website/Standards/Standard.aspx
19. COPANT (Pan American Standards Commission). 2005. Standardization. Available (Online) at: www.copant.org/English/
20. MTC (MERCOSUR Trade center). 2008. Our organization. Available (Online) at: www.mercosurtc.com/MTC_webframe_about.htm
VII. มาตรฐานปฏิบัติ และองค์การค้าโลก (Standardization and WTO)
21. Charnovitz, Steve. 2005. International standards and the WTO. George Washington University - Law School . Legal Studies Research Paper No. 133. Available (Online) at: ssrn.com/abstract=694346
22. Honeck, Dale. 2000. The WTO and international standards in services. Available (Online) at: www.iso.org/iso/
VIII. มาตรฐานระบบการจัดการ (Management System Standards)
23. ISO. 2008. Management standards. Available (Online) at: www.iso.org/iso/management_ standards.htm
24. Smith, Trevor. 2006. Chair, ISO/TC 176. International Organization for Standardization Committee: Quality Management and Quality Assurance. Management System Standards: Challenge and opportunities for the future. Available (Online) at: www.inlac.org.co/portal/ images/stories
IX. ใบประกาศนียบัตร และการรับรองมาตรฐาน (Standard certification and accreditation)
25. FAO Corporate Document Repository. 2007. 3. The concept of standards, certification and labelling. Available (Online) at: www.fao.org/docrep/
26. ISO. 2008. Management standards – Certification. Available (Online) at: www.iso.org/iso/ iso_catalogue/management_standards/certification.htm.
27. BSI. 2008. Certification, registration and accreditation. Available (Online) at: www.bsi_global.com/About_BSI/News_Room/FAQ
28. Muse, Roger. 2008. What’s in a name: Accreditation vs. Certification. Available (Online) at: www.qualitymag.com/Articles/
XXXXXXXXX
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น