หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มาตรฐาน ISO 26000 บทที่ 1 (ตอนที่ 1 ความแตกต่างของมาตรฐาน และมาตรฐานปฏิบัติ)

บทที่ 1
มาตรฐาน และมาตรฐานปฏิบัติสำหรับองค์การสมัยใหม่ (Standard and Standardization for Modern Organization)


ตอนที่ 1: การรับรู้ และเข้าใจในรายละเอียดชองความแตกต่างระหว่างมาตรฐาน และมาตรฐานปฏิบัติ


1. บทนำ (Introduction)
        ในโลกปัจจุบันรายละเอียดที่เกี่ยวข้องในเรื่องของ มาตรฐาน (Standard)” และ มาตรฐานปฏิบัติ (Standardization)” ได้เข้ามามีบทบาท และแสดงอิทธิพลเป็นอย่างสูงแทบจะหลีกเลี่ยงไปไม่ได้ โดยเฉพาะเพื่อการจัดการหรือการควบคุมกระบวนการปฏิบัติงานต่างๆ ขององค์การ ให้สามารถดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเท่าที่ปรากฏหลักฐานออกมาให้เห็นได้อย่างเด่นชัดประการหนึ่งก็คือ มีการนิยมนำมาตรฐาน หรือมาตรฐานปฏิบัติเช่นนี้ ไปใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายทั่วไปภายในองค์การแต่ละแห่ง
        แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ เมื่อตั้งคำถามว่า อะไร คือ ความหมายที่แท้จริงของมาตรฐานและมาตรฐานปฏิบัติเช่นนั้น คำตอบเกือบทั้งหมดที่ออกมาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องดูเหมือนกลับว่า อาจเป็นคำศัพท์ที่ใช้ปะปนกันอยู่ หรือก่อให้เกิดความหมายที่สับสนขึ้นมาได้ง่ายมากในแง่ของความเข้าใจในแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นสาระสำคัญที่กล่าวถึงในบทนี้ จึงค่อนข้างมุ่งเน้นรายละเอียดลงไป เพื่อขยายให้เห็นถึงความหมายที่แสดงความแตกต่างกันอย่างแท้จริง ระหว่างคำทั้งสองนี้เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงต้องการอธิบายถึงบทบาท และความสำคัญในแต่ละประเภทของมาตรฐาน การถูกพัฒนาหรือการสร้างมาตรฐานปฏิบัติแต่ละฉบับขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับองค์การแห่งหนึ่งๆ จากผลงานขององค์การระดับชาติที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ องค์การ ISO เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้อธิบายถึงรายละเอียดในประเด็นที่สำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งแสดงผลหรือความเกี่ยวข้องอยู่กับมาตรฐานปฏิบัติโดยตรง เช่น ความแตกต่างระหว่างคำว่า ประกาศนียบัตร (Certification) และ การจดทะเบียน หรือการรับรองมาตรฐาน (Accreditation) ไว้อีกด้วย สำหรับเหตุผลประการสำคัญที่ต้องกล่าวไว้เช่นนี้ ก็เพื่อเป็นการแนะนำให้ผู้อ่านได้รับทราบแนวความคิดพื้นฐาน เป็นที่เข้าใจได้อย่างชัดเจนก่อนที่จะเริ่มต้นเข้าสู่รายละเอียดของเรื่องอื่นๆ ในบทต่อไป

2. มาตรฐาน (Standards)
    2.1. คำจำกัดความของมาตรฐาน (Definition of a standard)
           ตามรายละเอียดของ ISO/IEC Guide 2:1996 Standardization and related activities – General vocabulary ได้ระบุถึงความหมายของมาตรฐานไว้อย่างชัดเจนว่า 1/
           A document, established by consensus and approved by a recognized body, that provides, for common and repeated use, rules, guidelines or characteristics for activities or their results, aimed at the achievement of the optimum degree of order in a given context.”
           ระบบเอกสาร ซึ่งถูกจัดเตรียมขึ้นมาจากผลของการลงฉันทามติเห็นพ้องต้องกันในรายละเอียด หรือเกิดขึ้นโดยผ่านการอนุมัติจากองค์การ (หน่วยงาน) ที่เป็นที่ยอมรับสถานภาพกันโดยสากลนิยม ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อต้องการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ประโยชน์สำหรับการปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างต่อเนื่องภายในองค์การ หรืออาจอาศัยใช้เป็นกฎเกณฑ์หลัก หรือเป็นแนวทางสำหรับควบคุมคุณลักษณะและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานต่างๆ รวมถึงยังมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกประการ หนึ่งที่เสริมเข้ามาร่วมด้วยก็คือ การมุ่งเน้นให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในระดับที่ดีขี้นมา หรือเป็นไปได้อย่างเหมาะสมภายใต้บริบทของการปฏิบัติงานในครั้งนั้นๆ

มาตรฐานส่วนใหญ่จะถูกจัดทำออกมาเป็น ระบบเอกสาร (Documentation System)” แทบทั้งสิ้น
2.2 องค์ประกอบ และรายละเอียดที่สำคัญของมาตรฐาน (Content of a standard)
           มาตรฐานที่พบและใช้ประโยชน์โดยทั่วไป จะแตกต่างกันออกไปตามคุณลักษณะ รายละเอียดของการปฏิบัติงาน หรือการที่ปรากฏสภาพออกมาในรูปแบบของสื่อประเภทต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์ในงานโดยตรง แต่อย่างไรก็ตามองค์ประกอบสำคัญที่ประกอบกันเข้าเป็นมาตรฐานแต่ละฉบับนั้น ย่อมมีคุณลักษณะหลายประการที่ควรพิจารณาร่วมด้วย ดังนี้
· มีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมงานวิชาชีพในสาขาต่างๆ อย่างกว้างขวาง (Cover several disciplines) ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านเทคนิค เศรษฐศาสตร์ หรือกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงขอบเขตของการปฏิบัติงานในด้านวิชาชีพพื้นฐานอื่นๆ อีกด้วย เช่น ภาษาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ฯลฯ
·  มาตรฐานจำเป็นต้องมี คุณลักษณะที่สามารถแสดงความสอดคล้องและสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดีตามลำดับ (Coherent and consistent) สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ในงานประเภทต่างๆ เหตุผลก็สืบเนื่องมาจากการพัฒนาและเกิดขึ้นมาของตัวมาตรฐานแต่ละฉบับ ล้วนเกี่ยวพันกับผลการปฏิบัติงานของ คณะกรรมการด้านเทคนิค (Technical Committee; TC) แต่ละคณะ ซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตที่ได้รับการมอบหมายให้เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างมาตรฐานฉบับดังกล่าว เพราะฉะนั้นรายละเอียดในตัวมาตรฐานส่วนใหญ่ จึงเป็นผลลัพธ์ออกมาจากการมีมติหรือความเห็นพ้องต้องกันภายในกลุ่มคณะกรรมการเหล่านี้ โดยมีวัตถุประสงค์และความต้องการหลักก็คือ การขจัดอุปสรรคหรือช่วยหาทางลดข้อขัดแย้งประการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มบุคคล หรือผู้ปฏิบัติในการนำมาตรฐานไปใช้ประโยชน์นั้นให้หมดสิ้นไป และผลประการสุดท้ายที่เกิดขึ้นติดตามมาก็คือ การช่วยส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการเป็นไปได้อย่างกว้างขวางเพิ่มขึ้นทั่วโลก
·  มาตรฐานเป็นผลลัพธ์มาจากการปฏิบัติงานร่วมกันของกลุ่มบุคคล หรือคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ (Result from participation) โดยเข้ามาทำหน้าที่เริ่มต้นตั้งแต่การพิจารณาวางแผนปฏิบัติงานยกร่างตัวมาตรฐานฉบับนั้น การกำหนดระดับความต้องการหรือรายละเอียดของข้อกำหนดทางเทคนิคบางประการ การเสนอแนะหรือปรับปรุงแก้ไข และผ่านขั้นตอนของการขอรับฉันทามติจนกระทั่งได้รายละเอียดของมาตรฐานฉบับที่สมบูรณ์แบบออกมา ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในงานต่างๆ ได้โดยทั่วไป เพราะฉะนั้นกลุ่มหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรฐาน จึงมีลักษณะที่ครอบคลุมกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ ผู้ประกอบการด้านการผลิต ลูกค้าและผู้ใช้ประโยชน์โดยตรง เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น
·  มาตรฐานล้วนเกี่ยวพันกับกระบวนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องจากบุคคลทั้งหลายที่แสดงความมีชีวิต (A living process) กล่าวคือ รายละเอียดของมาตรฐานส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นมาจากผลการดำเนินงานของบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่ประกอบไปด้วยประสบการณ์ของการทำงานที่เชี่ยวชาญติดต่อกันมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานตั้งแต่อดีต และทำการเปลี่ยนแปลงทักษะเหล่านี้ให้กลายสภาพมาเป็นข้อกำหนดหรือรูปธรรมที่สามารถตรวจสอบได้ เช่น ตัวผลิตภัณฑ์ (สินค้าหรือการบริการ) วิธีการทดสอบในรูปแบบต่างๆ เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า มาตรฐานนั้น มีคุณลักษณะที่ชัดเจนอยู่กึ่งกลางระหว่างด้านหนึ่งที่แสดงถึงความหมายเป็นศิลปะ และอีกด้านหนึ่งเป็นการปฏิบัติงานที่สามารถกำหนดผลหรือตรวจสอบได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างเด่นชัด
·  มาตรฐานจะต้องมีความทันสมัยอยู่เสมอ (Up to date) โดยเฉพาะต้องได้รับการทบทวน หรือแก้ไขปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ในครั้งหนึ่งๆ ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่า รายละเอียดของการปฏิบัติงานที่ถูกบรรจุอยู่ภายในตัวมาตรฐานฉบับนั้น มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง หรือสามารถตอบสนองเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับลักษณะของผลการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและสังคมที่ดำเนินไปอย่างก้าวหน้าอยู่ตลอดระยะเวลา
·  มาตรฐานจำเป็นต้องปรากฏลักษณะที่เด่นชัดสำหรับนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็น แหล่งอ้างอิง (Reference status) โดยเฉพาะในด้านของการปฏิบัติงานตามสัญญาทางการค้า หรือใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาในกระบวนการยุติธรรมหรือขั้นตอนทางศาลในกรณีที่มีการบิดพริ้ว โต้แย้ง หรือเมื่อมีการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้า
·  มาตรฐานจำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในระดับชาติหรือสากลนิยม (National or international recognition) ทั้งนี้เพราะมาตรฐานส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นระบบเอกสารที่มีรายละเอียดที่ระบุไว้ค่อนข้างเด่นชัด และประกอบด้วยเนื้อหาสาระที่สมบูรณ์แบบ จึงเหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค หรือระดับนานาชาติ
·  มาตรฐานต้องแสดงความเป็นประโยชน์ต่อบุคคลทุกคน (Available to everyone) เช่น การปรากฏรายละเอียดที่สามารถติดต่อ หรือเข้าไปสืบค้นหาเพิ่มเติมได้โดยง่าย รวมถึงสามารถจัดซื้อ/จัดหาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว หรือไม่มีข้อจำกัดในการนำไปใช้ประโยชน์ภายในองค์การแต่ละแห่ง
           โดยกฎเกณฑ์ทั่วๆ ไปแล้ว มาตรฐานจะไม่ใช่เรื่องของการบังคับ เพื่อให้ปฏิบัติงานตามรายละเอียดดังกล่าวขึ้นมาอย่างครบถ้วนทุกประการ แต่มีลักษณะเป็นเรื่องของความสมัครใจต่อการนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ภายในองค์การของตนเองมากกว่า แต่ในบางกรณีอาจเป็นไปได้ที่การปฏิบัติงานตามมาตรฐานจะมีลักษณะเป็นเรื่องของการบังคับ เช่น เมื่อเกี่ยวข้องกับในรายละเอียดของงานด้านความปลอดภัยสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางไฟฟ้าบางชนิด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะมีผลกระทบโดยตรงต่อสวัสดิภาพ สุขอนามัยหรือความปลอดภัยต่อสาธารณชนหรือบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากมาตรฐานแทบทั้งสิ้น

    2.3 บทบาทของมาตรฐาน (The role of standards)
           เมื่อพิจารณารายละเอียดโดยทั่วๆ ไป บทบาทของมาตรฐานย่อมแสดงความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ดังนี้ 2/
·  มาตรฐานเป็นตัวแทนอย่างหนึ่งที่แสดงถึงระดับของเทคโนโลยี หรือกระบวนการปฏิบัติงานที่เหมาะสมสำหรับองค์การแต่ละแห่ง (A level of know-how and technology) และถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่องค์การประเภทใดๆ ก็ตามจะขาดเรื่องดังกล่าวนี้ไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีมาตรฐานแล้วประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานย่อมเกิดขึ้นในลักษณะที่ต่ำมาก เช่นเดียวกับการขาดแคลนจำนวนโทรศัพท์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ไว้ใช้ประโยชน์ภายในสำนักงานแห่งนั้น ศักยภาพของการติดต่อสื่อสารก็ย่อมเกิดขึ้นในทางลบอีกเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณารายละเอียดในประเด็นเช่นนี้แล้ว มาตรฐานจะไม่ดำรงสถานภาพของความเป็นกลาง (Neutral) อย่างเด็ดขาด แต่จะเป็นปัจจัยที่มุ่งชี้บ่ง หรือส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มพูนผลของการปฏิบัติงานขึ้นไปในด้านบวกที่เป็นผลประโยชน์ที่ดีอย่างต่อเนื่องสำหรับองค์การ และในประการสุดท้ายก็ย่อมจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการบริหารหรือการจัดการภายในองค์การ
·  มาตรฐานยังถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นแหล่งหรือเอกสารอ้างอิง (A reference document) สำหรับการปฏิบัติงานบางประการ เพื่อให้มีลักษณะที่เป็นไปอย่างสอดคล้อง และตอบสนองตรงกับบริบทหรือรายละเอียดประการสำคัญอื่นๆ ที่ถูกระบุไว้อยู่ภายใต้สัญญาร่วมกันระหว่างกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือการบริการซึ่งกันและกันในระดับนานาชาติ รวมถึงการแสดงผลของความผูกมัดหรือการมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าสำหรับกลุ่มบุคคล (ส่วนใหญ่) ที่ต้องการการปฏิบัติงานตามสัญญาดังกล่าวที่กระทำร่วมกันไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ด้วยเหตุผลประการสำคัญก็คือ เพื่อเพิ่มศักยภาพของการค้าขายขึ้นมาโดยตรง
                                                     มาตรฐานเพื่อการตัดสินผลประโยชน์ทางธุรกิจ
           ·  มาตรฐานส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับนักอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบการทางธุรกิจในการแสดงลักษณะที่เป็น สิ่งอ้างอิงที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์หรือไม่อาจโต้แย้งได้ (Indisputable reference)” โดยเฉพาะเมื่อนำมาตรฐานไปใช้ประโยชน์แต่ละครั้งนั้น บางครั้งก็เพื่อมุ่งหวังก่อให้เกิดความกระจ่างที่เด่นชัดเพิ่มมากยิ่งขึ้น (Clarifying) ระหว่างบุคคลแต่ละฝ่ายที่ได้ปฏิบัติงานร่วมกัน หรือเมื่อถึงคราวจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียด (Simplifying) ของการปฏิบัติงานบางประการ ให้มีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากรูปแบบดั้งเดิมที่ได้กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ตามการปฏิบัติงานในลักษณะเช่นนี้ ยังต้องได้รับผลการอนุมัติ หรือความยินยอมพร้อมใจเห็นด้วยร่วมกันจากบุคคลทั้งสองฝ่ายดังกล่าว ให้สามารถกระทำงานเช่นนั้นได้ภายใต้เงื่อนไข/ สัญญาที่ระบุไว้ร่วมกันระหว่างคู่ประกอบการทางธุรกิจเป็นสำคัญ
           นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดในด้านของผู้ประกอบการทางธุรกิจนั้น บทบาทที่สำคัญของมาตรฐาน ก็คือ 3/
·  มาตรฐานเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยระบุชี้บ่งถึงกระบวนการผลิตที่เป็นเหตุ-เป็นผลที่ชัดเจนออกมาให้เห็น และแสดงความเหมาะสมเข้ากับองค์การแห่งนั้น (A factor for rationalization production) กล่าวคือ บทบาทของมาตรฐานย่อมส่งผลที่ดีขึ้นมาหลายประการ เช่น ก่อให้เกิด คุณลักษณะหรือรายละเอียดด้านเทคนิค (Technical Characteristics or Specification) ที่เหมาะสมเข้ากับการใช้ประโยชน์จากตัวผลิตภัณฑ์/ งานบริการครั้งนั้น ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวปรากฏเป็นผลลัพธ์ส่วนหนึ่งที่ผ่านออกมาจากกระบวนการผลิต/ งานบริการที่มีประสิทธิภาพโดยตรง เป็นต้น นอกจากนี้บทบาทของมาตรฐาน ยังช่วยสร้างระดับความพึงพอใจให้เกิดขึ้นต่อพนักงานภายในองค์การ โดยที่สามารถเข้าไปตรวจสอบหรือปรับปรุงแก้ไข เพื่อยืนยันถึงระดับความถูกต้องของวิธีการปฏิบัติงานต่างๆ ภายในหน่วยงานของตนได้เป็นอย่างดี รวมถึงช่วยเพิ่มพูนศักยภาพหรือผลิตผล (Productivity) ให้สูงขึ้นทุกขณะ และในขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานทั้งหลายในระดับใดๆ ขององค์การสามารถปฏิบัติงานเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ดี มีความมั่นใจในความปลอดภัยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ ภายในองค์การ
      



คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานต่างๆ ที่สามารถปฏิบัติงานขึ้นมาได้ภายในองค์การ


·  มาตรฐานจัดเป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง ที่แสดงถึงผลของการดำเนินการทางธุรกิจที่ชัดเจน และมีรายละเอียดที่ถูกต้อง (A factor for clarification of transactions) กล่าวคือ ผู้ประกอบการทั้งหลายในยุคปัจจุบันล้วนเผชิญหน้ากับคู่แข่งขันทางการค้าในเรื่องต่างๆ เช่น ประเภทของสินค้าและบริการที่ถูกนำเสนอออกมาขายให้ต่อสาธารณชนได้รับรู้นั้น มีอยู่แพร่หลายเป็นจำนวนมาก หรืออาจปรากฏคุณค่าออกมาในทางการนำใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไปเป็นอย่างยิ่งในแต่ละรายของผู้ผลิต เพราะฉะนั้นการมีระบบมาตรฐานที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาอย่างชัดเจนภายในองค์การของตนเอง จึงช่วยกระตุ้นให้เกิดการประเมินถึงคุณค่าในส่วนที่ดี หรือรายละเอียดประการสำคัญๆ ซึ่งองค์การจำเป็นจะต้องได้รับการคุ้มครองหรือดูแลรักษาในส่วนที่ดีเหล่านี้ไว้อย่างเพียงพอ และในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องหาช่องทางกำจัดรายละเอียดในส่วนที่ไม่จำเป็น หรือไม่ก่อให้เกิดคุณค่าสำหรับองค์การแห่งนั้น ให้หมดสิ้นไป นอกจากนี้มาตรฐานยังมีบทบาทในการช่วยชี้บ่ง ถึงความจำเป็นในส่วนที่องค์การแต่ละแห่ง จะต้องปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ จากแหล่งภายนอกเพิ่มเติมอีกด้วย เช่น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับจ้างการผลิตหรือผู้รับเหมาช่วงขององค์การ (Sub-Contractor) ไว้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและยั่งยืนต่อไปในอนาคต ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความจำเป็นของการตรวจสอบอย่างเข้มงวดกวดขัน (Intensive Inspection) หรืออาศัยการตรวจติดตามสภาพของผลการผลิตที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้รับจ้างช่วงในระยะภายหลังการส่งมอบสินค้า/ บริการเหล่านั้น ให้แก่องค์การเป็นที่เรียบร้อยหรือสมบูรณ์แล้ว เป็นต้น
·  มาตรฐานจัดเป็นปัจจัยประการสำคัญที่ใช้ประโยชน์ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาหรือการสร้างตัวผลิตภัณฑ์ทั้งหลายออกมาในรูปของนวัตกรรมแบบใหม่ (A factor for innovating and developing products) เราอาจกล่าวได้ว่า การปฏิบัติงานในทุกขั้นตอน ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการ และมีรายละอียดที่เป็นไปตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานปฏิบัติที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาภายในองค์การธุรกิจแต่ละแห่งนั้น ย่อมมีส่วนช่วยทำให้เกิดการคาดคะเน หรือทำนายเป็นการล่วงหน้าได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่จะผ่านออกมาจากผลของการปฏิบัติงานในแต่ละครั้งเหล่านั้น จะมีรูปแบบและความก้าวหน้าเกิดขึ้นอยู่ในระดับใด เพราะฉะนั้นมาตรฐานจึงแสดงบทบาทและความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลง หรือถ่ายโอนองค์ความรู้ทั้งหลายที่สะสมและมีอยู่ภายในองค์การแห่งนั้น ให้ปรากฏผลออกมาเป็นรูปธรรมหรือนวัติกรรมแบบใหม่ โดยเฉพาะจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มลักษณะที่ดีของตัวผลิตภัณฑ์หรือประสิทธิภาพของงานบริการสำหรับองค์การแห่งนั้นโดยตรง
   
มาตรฐานสามารถสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ได้
         ·  มาตรฐานจัดเป็นปัจจัย เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีแบบใหม่ (A factor for transferal technology) มาตรฐานปฏิบัติโดยทั่วไปมีส่วนช่วยกระตุ้น และส่งเสริมให้เกิดลักษณะของการถ่ายโอนรายละเอียดของเทคโนโลยีในสาขาหรือรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือว่า เป็นปัจจัยที่จำเป็นอย่างยิ่งประการหนึ่งสำหรับการปฏิบัติงานทั้งในส่วนขององค์การ หรือบุคคลแต่ละคนที่ทำงานอยู่ภายในองค์การแห่งนั้นเป็นหลัก ในสภาพปัจจุบันความสลับซับซ้อนและความหลากหลายของเทคโนโลยีประเภทต่างๆ ที่พบอยู่ภายในองค์การแต่ละแห่งที่ควรคำนึงถึง จะมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกันและแสดงความสัมพันธ์กันไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องของการใช้ประโยชน์จากวัสดุชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบหรือพัฒนาขึ้นมาแทนที่ประเภทและชนิดของวัสดุแบบเก่า ลักษณะความก้าวหน้าของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์แบบใหม่ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์เชิงบูรณาการที่เอื้ออำนวยต่อการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเพิ่มศักยภาพของกระบวนการผลิต (Computer-Integrated Manufacturing; CIM) ให้มากเพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนา หรือการแสดงความก้าวหน้าของมาตรฐานปฏิบัติสำหรับองค์การแต่ละแห่งนั้นได้เป็นอย่างดี
·  มาตรฐานจัดเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพื่อช่วยเสริมสร้างทางเลือกใหม่ หรือเปิดโอกาสเชิงกลยุทธ์สำหรับความได้เปรียบทางการค้าขององค์การ (A factor for strategic choice for organization) กล่าวคือ การยินยอมให้บุคลากรทุกส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานตามระเบียบหรือมาตรฐานปฏิบัติที่ถูกกำหนดขึ้นมาแต่ละครั้งภายในองค์การแห่งนั้น ย่อมเป็นเหตุผลที่ดีในด้านของการช่วยให้ระบุชี้บ่งถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งมวลได้อย่างถูกต้อง รวมถึงสามารถสรุปถึงวิธีการแก้ไขปัญหาได้ว่า สมควรจะปฏิบัติงานหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดประการใด จึงจะช่วยทำให้การปฏิบัติงานแต่ละครั้งนั้น ดำเนินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และเท่ากับเป็นการเปิดช่องทางหรือการสร้างโอกาสทางการค้าเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในที่สุดจะทำให้องค์การแห่งนั้น สามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้นได้เหนือมากกว่าคู่แข่งขันทางการค้าเมื่อเปรียบเทียบกันเป็นแต่ละรายๆ ไปตามลำดับ

    2.4 ประเภทของมาตรฐาน (Types of standards)
           เราสามารถแบ่งมาตรฐานออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้ 4/
·     มาตรฐานทั่วไป (Fundamental standards) ได้แก่ มาตรฐานที่กล่าวถึงรายละเอียด หรือสิ่งที่ปรากฏอยู่เป็นพื้นฐานโดยทั่วๆ ไปภายในมาตรฐานฉบับนั้น เช่น การระบุถึงคำศัพท์และการอธิบายคำนิยาม (Terminology) ดังกล่าวออกมาให้เห็นเนื้อความกันอย่างเด่นชัด การกำหนดเครื่องหมายและสัญลักษณ์ประเภทต่างๆ (Signs and symbols) ขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในงาน เป็นต้น 5/
·  มาตรฐานวิธีการทดสอบและการวิเคราะห์ (Test methods and analysis) ได้แก่ มาตรฐานที่ใช้ประโยชน์เพื่อการวัดหรือประเมินถึงคุณลักษณะทั้งหลายที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น การวัดความยาว การวิเคราะห์เพื่อหาองค์ประกอบหลักทางเคมี เป็นต้น
·  มาตรฐานผลิตภัณฑ์ (Product standard) ได้แก่ มาตรฐานที่ระบุ หรือกำหนดถึงคุณลักษณะของตัวผลิตภัณฑ์ (Product) ออกมาอย่างชัดเจน หรือบางครั้งเป็นการแสดงรายละเอียดที่มีความความจำเพาะเจาะจงสำหรับกิจกรรมของงานบริการ (Service activities standard) ครั้งนั้นๆ ซึ่งอาจระบุถึงระดับสมรรถนะขั้นต่ำสุด (Performance thresholds) ที่ได้รับจากผลการปฏิบัติงานเป็นประการสำคัญ เช่น มีระดับของความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ได้มากหรือน้อยเพียงใด เป็นต้น นอกจากนี้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ยังมีลักษณะเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวข้องในด้านอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เช่น สุขภาพอนามัยและความปลอดภัย การคุ้มครองและพิทักษ์สิ่งแวดล้อม รายละเอียดของสัญญาที่กำหนดไว้เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างคงที่ ระบบเอกสารภายในองค์การที่เกี่ยวข้องและแสดงความสอดคล้องตรงกับวิธีการปฏิบัติงานเพื่อการผลิตสินค้าหรือบริการขององค์การแต่ละแห่ง เป็นต้น
·  มาตรฐานองค์การ (Organization standards) 6/ ได้แก่ มาตรฐานที่กำหนดถึงรายละเอียดของบทบาท หน้าที่และโครงสร้างหลักของหน่วยงานต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ภายในองค์การแห่งนั้น รวมถึงการแสดงความสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างหน่วยงานกิจกรรมเหล่านั้นโดยตรง เพราะฉะนั้นมาตรฐานดังกล่าวจึงแสดงผลออกมาใน รูปแบบ (จำลอง) หรือต้นแบบของกิจกรรมประเภทต่างๆ (Activities modeling)” ที่เกี่ยวข้องกับองค์การเป็นประการสำคัญ เช่น การจัดการและการประกันคุณภาพ การบำรุงรักษาเครื่องมือ/ อุปกรณ์หลัก การวิเคราะห์คุณค่า การจัดการโครงการหรือระบบของการจัดการกระบวนการผลิต ฯลฯ

    2.5 การพัฒนาและการสร้างมาตรฐานขึ้นมาใช้ปฏิบัติ (Development of standards)
           ในทางปฏิบัติมาตรฐานฉบับต่างๆ จะถูกสร้าง พัฒนา หรือถือกำเนิดขึ้นมาด้วยการยึดถือสาเหตุและความจำเป็นที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยใน 7 ขั้นตอน ดังนี้ 7/

  
ขั้นตอนของการพัฒนามาตรฐานขึ้นมาใช้ประโยชน์สำหรับองค์การ ISO
·  การระบุถึงความจำเป็นอย่างแท้จริงสำหรับบุคคลทุกกลุ่มที่มีส่วนร่วมด้วยหรือเกี่ยวข้องกับมาตรฐานฉบับนั้น (Identification of the needs of the partners) ตามสภาพปรกติการพัฒนาขึ้นมาของมาตรฐานส่วนใหญ่ จะเริ่มต้นมาจากอาศัยผลการวิเคราะห์ในกลุ่มของบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบดูว่า จะมีความเหมาะสมในทางปฏิบัติเกิดขึ้นมากหรือน้อยเพียงใดต่อการยกร่างมาตรฐานฉบับใหม่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ในงานต่างๆ ซึ่งก็คงไม่พ้นกับการตั้งลักษณะของคำถามเพื่อตรวจสอบใน 2 ประเด็นที่ว่า ประเด็นแรกนั้น มาตรฐานที่ต้องการจะยกร่างขึ้นมาครั้งนี้ จะสามารถให้ผลประโยชน์ที่ดีเพียงใดต่อการยกระดับรายละเอียดด้านเทคนิคของตัวผลิตภัณฑ์ (สินค้า/บริการ) ให้สูงขึ้นหรือเกิดความความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ส่วนคำถามในประเด็นที่เหลือก็คือ กลุ่มหรือบุคคล (ผู้ยกร่างมาตรฐาน) มีองค์ความรู้พื้นฐานปรากฏผลอยู่ในระดับมากหรือน้อยเท่าใด และเพียงพอหรือไม่ต่อการยกร่างมาตรฐานฉบับนั้นๆ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
·  โครงการยกร่างมาตรฐาน (Collective programming) จากผลที่ได้รับและสะท้อนออกมาให้เห็นจากการตั้งคำถามที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น ย่อมสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อระบุถึงความต้องการอย่างเด่นชัดได้หรือไม่สำหรับการยกร่างมาตรฐานฉบับใหม่ขึ้นมา ในทางปฏิบัติถ้าผลลัพธ์ดังกล่าวมีผลตอบสนองเป็นไปได้อย่างดี องค์การหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านั้น ก็ย่อมสามารถตัดสินใจได้อย่างพอเพียงแล้วว่า สมควรเพียงใดที่จะทำการบรรจุรายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมดไว้ภายใต้โครงการของการปฏิบัติงานเพื่อทำการยกร่างรายละเอียดของมาตรฐานต่อไป
·  การยกร่างตัวมาตรฐานโดยอาศัยองค์การหรือกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและเกี่ยวข้องกับมาตรฐานเข้ามาปฏิบัติงานร่วมกัน (Drawing up of the draft standard by interested parties) ส่วนใหญ่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ จะประกอบไปด้วยตัวแทนหรือผู้เชี่ยวชาญที่มาจากสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น เจ้าของและผู้ประกอบการผลิตทางอุตสาหกรรม ผู้จัดจำหน่าย ผู้ใช้ประโยชน์จากมาตรฐาน ผู้บริโภค นักบริหาร ผู้ชำนาญการในห้องปฏิบัติการ ฯลฯ โดยที่บุคคลเหล่านี้จะเข้ามารวมกลุ่มกันเพื่อทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสำหรับการยกร่างมาตรฐานขึ้นมาโดยตรง
·  การเห็นพ้องต้องกันหรือการยอมรับฉันทามติ (Consensus) ส่วนใหญ่ผู้เชี่ยวชาญและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างมาตรฐาน จะมีสิทธิอันชอบธรรมในการลงมติที่จะยอมรับผลหรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับผลของการยกร่างตัวมาตรฐานฉบับนั้นๆ โดยตรง
·  การยืนยันถึงผลความสมบูรณ์และความถูกต้องของมาตรฐานฉบับที่ถูกยกร่างขึ้นมา (Validation) ตามปกติจะมีการปฏิบัติงานเพื่อการตรวจสอบรายละเอียดของมาตรฐานอย่างกว้างขวางทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ วิธีการปฏิบัติโดยทั่วไปก็คือ การเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้ตั้งคำถาม หรือแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมโดยอาศัยสื่อประเภทต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่า รายละเอียดทุกส่วนที่บรรจุอยู่ภายในตัวร่างมาตรฐานฉบับนั้น มีความเป็นไปที่สอดคล้องตรงต่อความต้องการ และตอบสนองกับผลประโยชน์โดยส่วนรวม และในขณะเดียวกันก็ไม่ก่อให้เกิดผลของการคัดค้านเป็นเสียงส่วนใหญ่ต่อการนำมาตรฐานฉบับนั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต ผลของการตรวจสอบที่ได้รับครั้งนี้ ยังถูกนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อการแก้ไขหรือปรับปรุงรายละเอียด หรือก่อให้เกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นสำหรับมาตรฐานที่จะประกาศใช้ร่วมกันต่อไปในอนาคต
·  การอนุมัติ (Approval) รายละเอียดของมาตรฐานที่ผ่านการปรับปรุงและแก้ไขจากขั้นตอนที่ผ่านมาแล้วในเบื้องต้นนั้น จะถือว่า เป็นมาตรฐานฉบับสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเหมาะสมที่จะได้รับการจัดพิมพ์และเผยแพร่ออกไปสู่แหล่งภายนอก เพื่อให้ได้รับทราบผลกันอย่างทั่วถึงต่อไป
·  การแก้ไขและปรับปรุงมาตรฐานครั้งใหม่ (Revisions) เมื่อมีการประยุกต์นำมาตรฐานฉบับดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในงาน และภารกิจต่างๆ ผ่านพ้นไปสักระยะเวลาหนึ่งที่เพียงพอสมควรแล้วนั้น ในทางปฏิบัติก็อาจจำเป็นจะต้องได้รับการตรวจประเมินผลในช่วงนั้น โดยอาศัยหน่วยงาน/ สถาบันที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างมาตรฐานฉบับนั้น จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการตรวจสอบว่า มีความเหมาะสมเกิดขึ้นมากหรือน้อยเพียงใดต่อการใช้ประโยชน์จากมาตรฐานฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัจจัยหรือสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ ภายนอกองค์การ ล้วนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากกว่าที่เป็นไปเหมือนในอดีต เพราะฉะนั้นในระยะภายหลังจากผ่านกระบวนการทบทวนเช่นนี้แล้ว รายละเอียดหรือผลของตัวมาตรฐานฉบับนั้น อาจจะยังคงรูปแบบเป็นไปในลักษณะที่เน้นถึงรายละเอียดเช่นเดิม โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง (Confirmation) หรืออาจมีมติให้มีการแก้ไข หรือปรับปรุงขึ้นมาเป็นฉบับใหม่ (Revision) ก็ได้ หรืออาจต้องถูกเพิกถอนสิทธิออกไป (Withdrawn) จากการเป็นมาตรฐานปฏิบัติสำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ก็ได้อีกเช่นเดียวกัน

    2.6 ลิขสิทธิ์ และสิทธิในการใช้ประโยชน์จากมาตรฐาน 8/ (Copyright and right use)
·     มาตรฐานประจำชาติ (National standards)
               รายละเอียดของมาตรฐานโดยทั่วไป มีลักษณะเป็นผลงานร่วม (Collective work) ที่เกิดขึ้นมาจากผลลัพธ์การดำเนินงานของบุคคลหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นมาตรฐานประจำชาติแต่ละฉบับ จึงถือกำเนิดขึ้นมาจากการกำหนดเป็นโครงการหลักของประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะมีการศึกษาหรือดำเนินการกระบวนการยกร่างมาตรฐานแต่ละฉบับขึ้นมา รวมถึงรายละเอียดของมาตรฐานดังกล่าวต้องผ่านผลรับรองจากการอนุมัติของหน่วยงานหรือสถาบันมาตรฐานประจำชาติแห่งนั้นๆ โดยตรงอีกด้วย และในที่สุดก็จะประกาศตีพิมพ์ออกมาเผยแพร่ เพื่อให้สาธารณชนทั้งหลายได้รับทราบ หรือสามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นลำดับต่อไป ในขณะเดียวกันรายละเอียดทุกประการหรือแนวทางหลักการปฏิบัติของมาตรฐานเหล่านั้น ที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจน ต่างก็ล้วนถูกคุ้มครองหรือป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ภายใต้อำนาจของกฏหมายภายในประเทศนั้นๆ โดยครอบคลุมรายละเอียดตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นในการยกร่างขึ้นมา จนกระทั่งถึงขั้นตอนเมื่อได้ตัวมาตรฐานที่มีรายละเอียดที่สมบูรณ์แบบและครบถ้วนทุกประการออกมาแล้ว
·     มาตรฐานนานาชาติ (International standards)
               จากขั้นตอนที่เริ่มต้นตั้งแต่การพิมพ์เผยแพร่มาตรฐาน หรือการประกาศใช้ประโยชน์ออกมาสู่สาธารณชนภายนอก โดยเฉพาะเมื่อมาตรฐานดังกล่าวผ่านความเห็นชอบหรือผลการรับรองมติเป็นที่เรียบร้อยจากคณะกรรมการด้านเทคนิคต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการยกร่างหรือที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า เป็น มาตรฐานฉบับ Committee Draft (CD) แล้วนั้น โดยทั่วไปรายละเอียดของมาตรฐานฉบับนี้ จะถูกคุ้มครองและป้องกันสิทธิในการคัดลอกภายใต้อำนาจลิขสิทธิ์ขององค์การมาตรฐานนานาชาติที่ทำหน้าที่เป็นผู้ยกร่างมาตรฐานฉบับนั้นๆ ขึ้นมาโดยตรง เช่น องค์การ ISO หรือองค์การ IEC เป็นต้น เพราะฉะนั้นอำนาจในการถ่ายโอนลิขสิทธิ์ที่ชอบธรรม จึงเป็นไปโดยกลไกอัตโนมัติ และเข้าสู่ สถาบันมาตรฐานประจำชาติต่างๆ (National Standards Bodies; NSB) ซึ่งส่วนหนึ่งได้ปรากฏสถานะของความเป็นประเทศภาคีสมาชิกขององค์การ ISO หรือองค์การ IEC อยู่แล้วในขณะนั้นๆ ในกรณีเช่นนี้ NSB ทั้งหลายจึงต้องแสดงความผูกมัดตนเองเข้ากับรายละเอียดของข้อกำหนดที่ระบุไว้ภายในมาตรฐานดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง และในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องประกาศมาตรการที่เหมาะสมขึ้นมาใช้ประโยชน์ร่วมด้วย เพื่อพิทักษ์คุ้มครองมาตรฐานนานาชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จัดถือว่ามีสถานะเป็น ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Properties) ที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งภายในเขตหรืออาณาบริเวณสำหรับประเทศของตน นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงตัวร่างของมาตรฐานนานาชาติ ตั้งแต่ในขั้นตอนของฉบับที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “Draft International Standards (DIS)” ไปจนถึง มาตรฐานนานาชาติฉบับสมบูรณ์ (International Standards; IS) ซึ่งถูกดำเนินการและจัดพิมพ์ขึ้นมาแต่ละครั้งนั้น ก็ยังคงดำรงลิขสิทธิ์ที่จะต้องได้รับผลประโยชน์จากการคุ้มครองของประเทศนั้นๆ อีกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจะต้องมีการประกาศใช้เครื่องหมายหรือแสดงสัญญลักษณ์ให้เห็นร่วมด้วยอย่างเด่นชัด มีการระบุถึงแหล่งของผู้จัดพิมพ์ และปีที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาตามลำดับ เป็นต้น
  
                                   องค์การ/ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำมาตรฐานระดับนานาชาติ
·  การคัดลอกหรือทำซ้ำขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งสำหรับรายละเอียดของตัวมาตรฐาน (Reproduction of standards)
               ภายใต้สภาวะหรือเงื่อนไขประการใดๆ ก็ตาม รายละเอียดของตัวมาตรฐานที่ถูกระบุหรือเขียนไว้อย่างชัดเจนภายในทั้งฉบับ หรือปรากฏรายละเอียดอยู่เป็นเพียงบางส่วนนั้น ไม่อาจยินยอมให้มีการคัดลอกหรือทำซ้ำขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่งได้ รวมถึงการทำการจดบันทึก หรือผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการกระทำในลักษณะใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อทางอิเล็กทรอนิคส์ หรือกลวิธีแบบอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงวิธีการถ่ายอัดสำเนาเอกสาร และการใช้ไมโครฟิลม์ เป็นต้น โดยทั้งนี้ปราศจากการได้รับคำอนุญาต หรือการอนุมัติที่ยืนยันผลออกมาอย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรจากสถาบันมาตรฐานประจำชาติหรือสถาบันรับรองมาตรฐานนานาชาติ เป็นประการสำคัญ
·  การใช้ประโยชน์จากมาตรฐานผ่านทางเครือข่ายสื่อสารสาธารณชน และระบบอินเตอร์เน็ต (Use of public networks, including internet)
               ในทุกพื้นที่ปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับภูมิภาค หรือระดับนานาชาติก็ตาม หน้าที่ของสถาบันมาตรฐานประจำชาติแต่ละแห่ง จะแสดงภารกิจหลักที่สำคัญในการเป็นแหล่งให้คำปรึกษา ทำการเผยแพร่ความรู้หรือรายละเอียดทุกประการที่เกี่ยวข้องกับตัวมาตรฐานเหล่านั้น ให้ขยายตัวเป็นวงกว้างออกไปตามลำดับ โดยอาศัยสื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นระบบสื่อสารจากเครือข่ายบุคคลหรือองค์การสาธารณะต่างๆ เช่น จากระบบ Internet, Intranet หรือสื่ออิเล็กทรอนิคส์ประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน เป็นต้น ทั้งนี้จุดมุ่งหมายประการสำคัญก็เพื่อทำการการส่งข่าวสารและข้อมูลเหล่านั้น ให้ถึงมือผู้ใช้ประโยชน์ปลายทาง (End user) ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงก่อให้เกิดผลของการแลกเปลี่ยนเนื้อหา หรือรายละเอียดบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานให้แพร่กระจายออกไป หรือรับทราบกันอย่างทั่วถึง แต่อย่างไรก็ตามวิธีการปฏิบัติเช่นนี้ ยังจำเป็นจะต้องได้รับการอนุมัติเห็นด้วย หรือถูกพิจารณาอย่างเหมาะสมจากสถาบันมาตรฐานประจำชาติ หรือสถาบันรับรองมาตรฐานนานาชาตินานาชาติแต่ละแห่งจะเป็นผู้กำหนดในรายละเอียดเองว่า สมควรจะเลือกใช้สื่อหรือเครือข่ายในรูปแบบใดมาใช้ปฏิบัติ เพื่อให้ตอบสนองตรงกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
XXXXXXXX